จาก “เอกสารปรีดี” สู่ปรากฎการณ์ “จดหมายปรีดี”: ความไร้วุฒิภาวะของปัญญาชนฝ่าย “ประชาธิปไตย” ไทย

ข้อเขียนนี้เป็นบทสะท้อน (reflection) ต่อปรากฎการณ์ “จดหมายปรีดี” ซึ่งเป็นกระแสอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2023 และน่าจะถึงจุดสูงสุดในวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มไฟเย็น, จรัล ดิษฐาอภิชัย, เล็ก จรรยา ที่ลี้ภัยอยู่ในยุโรป ได้ทำการ Live สด อ่านและแปลเอกสารอย่างละเอียดทีละหน้า ในช่วงนี้เองใน Twitter มีการโพสต์ #จดหมายปรีดี ราว 4-500,000 โพสต์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเปิดเอกสารผิดชุด จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะไปเปิดเอกสารกันอีกในวันที่ 5 มกราคม และกระแส “จดหมายปรีดี” ก็จะกลับมาอีก

ความจริงเรื่อง “เอกสารปรีดี” ที่อาจารย์สมศักดิ์โพสต์ในปี 2018 นั้น ผมเป็นคนส่งให้อาจารย์เอง ในช่วงนั้นมีทีมงานที่ทำภาพยนตร์เกี่ยวกับปรีดีและจอมพล ป. เรื่อง “Frienemies” มาขอให้ผมช่วยค้นเอกสารที่หอจดหมายเหตุเกี่ยวกับปรีดีสมัยมาเรียนที่ฝรั่งเศส ระหว่างที่ผมค้นเอกสารก็ได้ไปเจอ Dossier de Pridi เข้า ซึ่งไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร อาจจะหมายถึงเอกสารของปรีดี หรือเอกสารเกี่ยวกับปรีดีก็ได้ แต่หลังจากการค้นคว้าในครั้งนั้น ผมก็ไม่ได้คิดจะติดตามเรื่องนี้อีก เพราะในแง่วิชาการ ส่วนตัวผมค้นคว้าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงไม่ได้สนใจเอกสารชุดนี้หรือเรื่องปรีดีเป็นพิเศษ

จนกระทั่งในปี 2019 เมื่อผมได้มีโอกาสไปค้นเอกสารอื่นๆ อีกครั้ง ผมก็ได้ถือโอกาสสอบถามกับเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุโดยตรง ว่าตกลงแล้ว Dossier de Pridi คืออะไรแน่ จึงได้รับคำตอบว่าไม่ใช่เอกสารส่วนบุคคล ไม่ใช่เอกสารที่ปรีดีฝากไว้ แต่เป็นเอกสารการทูตปกติ ผมทราบดังนั้นแล้ว ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร และคิดว่าเมื่อเปิดให้ใช้ ก็ค่อยไปดูว่ามันเกี่ยวกับอะไร

ปรากฎว่าหลังจากนั้นก็มีกระแสเรื่องปรีดีฝากเอกสารไว้ที่หอจดหมายเหตุมาเป็นระยะ ช่วงปี 2019-2020 เมื่อสถานการณ์การเมืองไทยกำลังคุกรุ่น หลายคนก็พูดทีเล่นทีจริงว่าจะตายไม่ได้ ต้องอยู่ถึงปี 2024 เพื่อได้ดูเอกสารปรีดี ทุกคนลืมไปแล้วว่าอาจจะเป็น “เอกสารเกี่ยวกับปรีดี” ก็ได้ ไม่ใช่ “ของ” ปรีดี หลังจากนั้นการตีความเรื่อง Dossier de Pridi ก็เป็นไปในทิศทางที่ว่ามี “จดหมาย” ของปรีดีที่ฝากไว้ที่หอจดหมายเหตุหมดเลย ไม่มีใครสนใจว่าเป็นเอกสาร “เกี่ยวกับ” ปรีดีอีกเลย

ผมเห็นกระแสแรงแบบนี้แล้ว ก็ไม่กล้าไปเปิดเผยความจริง เดี๋ยวจะเป็นการทำลายความหวังของผู้คนจำนวนมาก ลองดูตัวอย่างโพสต์สามโพสต์นี้ (ขออนุญาตปิดชื่อ) แม้โพสต์เหล่านี้จะเป็นโพสต์ใหม่เร็วๆ นี้ แต่ขอยกเป็นตัวอย่างของอีกหลายๆ โพสต์ที่มีมาเรื่อยๆ และสะท้อน “ความหวัง” ของคนไทยที่มีมาตั้งแต่ราว 2019 แล้ว

ผมซึ่งได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ปี 2019 แล้วว่าไม่ใช่ “จดหมายปรีดี” ต่อมาในปี 2021 เมื่อได้กลับไปอีกครั้ง ก็ได้รับการยืนยันอีกรอบว่าไม่ใช่ “จดหมายปรีดี” แน่นอน ในปีนี้เองที่ผมได้ค้นเอกสารชุด 147QO/158 ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับการลี้ภัยของปรีดี (“เอกสารปรีดี 2017”) ผมก็ยิ่งมั่นใจว่า “จดหมายปรีดี” ไม่มีจริง และที่จะเปิดปี 2024 คือ 147QO/215 นั้น คือชุดที่ต่อเนื่องจากที่ผมค้นมาแล้วต่างหาก

ผมมีข้อมูลทั้งหมดนี้ แต่ก็ไม่ได้เผยแพร่ออกไป เพราะทั้งไม่อยากทำลาย “ความหวัง” ของคนอย่างที่กล่าวมา และทั้งรู้สึกว่าถ้าจะเขียนอธิบายเอกสารเหล่านี้ จะต้องเขียนเป็นบทความที่ดีซึ่งผมไม่มีเวลา

อย่างไรก็ดี ด้วยความรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนทำให้ “เอกสารปรีดี” เป็นที่สนใจขึ้นมา (และต่อมาเกินการควบคุมจนกลายเป็นปรากฎการณ์ “จดหมายปรีดี”) ผมเลยคิดว่าจำเป็นจะต้องแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการเขียนบทความออกมาซักชิ้น ผมเก็บเรื่องนี้ไว้อยู่ตลอด และตั้งใจจะปล่อยบทความออกมาก่อนจะถึงปี 2024 เพื่อให้คนมี “ความหวัง” กับ “จดหมาย” ถึงนาทีสุดท้าย

ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ ผมตั้งใจจะเขียนบทความสั้นๆ ราว 10-20 หน้า อธิบายเกี่ยวกับ “เอกสารปรีดี 2017” แต่ปรากฎว่าระหว่างที่เขียนไป พบว่าการบรรยายตัวเอกสารอย่างเดียวน่าจะไม่มีประโยชน์ หากผู้อ่านไม่เข้าใจว่าหอจดหมายเหตุคืออะไร เก็บเอกสารอะไร และไม่เข้าใจบริบทของการลี้ภัยของปรีดีในจีน นอกจากนี้ก็จำเป็นจะต้องอธิบายว่าแล้วเอกสารที่ว่ามานี้มีประโยชน์อะไรในทางวิชาการบ้าง สุดท้ายก็เลยกลายเป็นบทความขนาดยาว 51 หน้า เรื่อง “ว่าด้วย ‘เอกสารปรีดี’ ที่ชานกรุงปารีส: การลี้ภัยของปรีดีจากจีนสู่ฝรั่งเศส” (อ่านในเว็บไซต์ภาควิชาประวัติศาสตร์ หรือดาวน์โหลด) ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อ 28 ธันวาคม 2566 (แก้ไขเพิ่มเติม 31 ธันวาคม)

ความหวังของผมในการเผยแพร่บทความนี้ คือการลดความกะตือรือร้นของผู้คนเกี่ยวกับ “จดหมายปรีดี” แล้วชวนมามองประเด็นทางวิชาการที่ “เอกสารปรีดี” จะชวนให้เราคิด บทความที่ผมตั้งใจเขียนทุกวันโดยใช้เวลาเกือบ 1 เดือน เป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบของผมต่อการที่ทำให้ “เอกสารปรีดี” เป็นที่รับรู้ขึ้นมา (ผ่านอาจารย์สมศักดิ์) ในเมื่อคนจำนวนมากมีความรับรู้เกี่ยวกับเอกสารแบบผิดๆ ก็ควรจะเป็นหน้าที่ผมที่จะไปค้นคว้ามาแล้วอธิบายว่าตกลงแล้วเอกสารมันคืออะไรกันแน่

อย่างไรก็ตาม แม้การเผยแพร่บทความนี้จะมีผู้อ่านพอสมควร แต่ด้วยความที่ผมอาจจะเผยแพร่ “นาทีสุดท้าย” ซึ่งช้าเกินไป ทำให้ทานกระแส “จดหมายปรีดี” เอาไว้ไม่อยู่


เป็นการยากที่จะสืบว่ากระแส “จดหมายปรีดี” มาจากไหน แต่แหล่งกระจาย “ข่าวลือ” แหล่งสำคัญคือบทความของ Way Magazine ในปี 2021 ทุกวันนี้ผู้คนก็ยังอ้างอิงบทความชิ้นนี้อยู่ ซึ่งผู้เขียนคาดเดาเอาเองทั้งหมดโดยไม่มีข้อมูลใดๆ รองรับ

ผมอยากจะมองว่ากระแส “จดหมายปรีดี” มันไม่ใช่เรื่อง “ความหวัง” แต่เพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นรูปแบบการต่อสู้ทางการเมือง หรือ activism แบบหนึ่งของฝ่ายที่อาจจะเรียกได้ว่า “ประชาธิปไตย” พูดอีกอย่างก็คือ ความจริงแล้วคน “หวัง” ก็เพราะเชื่อว่าเนื้อหา “การเมือง” ในจดหมาย จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับประเทศไทย ดังนั้นแล้ว คนที่สมาทานเรื่อง “จดหมายปรีดี” จึงมีภารกิจต้องเผยแพร่เรื่อง “จดหมายปรีดี” ออกไปให้กว้างขึ้น ให้เป็นกระแส จะต้อง “เชื่อ” และ “หวัง” เพราะปฏิบัติการนี้ในตัวมันเองก็ถือว่าเป็น activism อย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนทนอยู่ได้กับสภาวะการเมืองที่ย่ำแย่ มีอนาคตอันใกล้ที่เฝ้ารอถวิลหา และในขณะเดียวกันก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามหวาดกลัวกับผลกระทบของ “จดหมาย”

ความจริงแล้วกระแสนี้อาจจะส่งผลให้พวกอนุรักษ์นิยมหวาดกลัวปี 2024 อยู่บ้าง แต่อย่างมากก็ทำได้แค่นั้น เพราะ activism นี้ ไม่ได้อิงอยู่กับข้อมูลข้อเท็จจริง เป็นเพียงการต่อสู้ด้วย “ข่าวลือ” แบบหนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่า “ข่าวลือ” ส่งผลกระทบทางการเมืองได้ และอาจจะเป็นรูปแบบสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกก่อนสมัยใหม่ แต่ผมคิดว่า activism แบบข่าวลือนี้ ไม่ควรมีที่ทางในการเมืองสมัยใหม่ อย่างน้อยก็ไม่ควรจะมากเท่าที่เป็นอยู่นี้

อย่างไรเสีย ในปี 2024 “ความจริง” ก็จะเผยออกมา และกลุ่มที่หัวเราะเป็นกลุ่มสุดท้ายแล้วดังกว่า อาจจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมเอง เมื่อพบว่า “จดหมายปรีดี” ไม่มี เป็นการปั่น fake news กันเองของฝ่าย “ประชาธิปไตย”

สุดท้ายฝ่าย “ประชาธิปไตย” ปั่นเรื่อง “จดหมายปรีดี” ขึ้นมาเพื่อเป็น “อาวุธ” แต่หารู้ไม่ว่าอาวุธนั้นเป็น “ระเบิดเวลา” ที่อาจจะย้อนมาทำร้ายตน

เพราะฉะนั้น ผมเลยทำการ “เฉลย” ไปเลยว่า “จดหมายปรีดี” ไม่มีจริง มีแต่ “เอกสารปรีดี” ที่หอจดหมายเหตุการทูต กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เอกสารเหล่านี้อาจจะไม่ได้ส่งผลทางการเมืองอย่างใหญ่โตอะไร แต่ก็ทำให้เราเข้าใจการเมืองในยุคสงครามเย็นได้อย่างลึกซึ้งขึ้น และโดยอ้อมอาจจะช่วยให้เรา “คิด” เรื่องการเมืองในปัจจุบันได้อย่างลึกซึ้งขึ้นก็ได้

ปรากฎว่าหลังจากเผยแพร่บทความแล้ว มีกระแสตอบรับจากกลุ่มคนสองประเภทที่น่าประหลาดใจ คือ

  1. กลุ่มที่เล่นมุกตลกไปเรื่อย ๆ เช่น มุกเกี่ยวกับ Farose (รายการ “ไกลบ้าน”) มุกสูตรอาหารปรีดี และตอนหลังก็เล่นมุก “จดหมายผิดซอง”
  2. กลุ่มปัญญาชน: สื่อมวลชน แอคติวิสต์และนักวิชาการที่ไร้วุฒิภาวะ กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ตามกระแส “จดหมายปรีดี” และเป็นส่วนหนึ่งของการ “ปั่น” กระแสเรื่องนี้ยิ่งขึ้นไป

ผมไม่มีความคาดหวังอะไรกับคนกลุ่มแรก เพราะคนเหล่านี้คงไม่มีความสามารถหรือความสนใจจะอ่านอะไรจริงๆ จังๆ คงจะแค่อยากเล่นตลกไปวันๆ

ในขณะที่คนกลุ่มที่สองนั้น ผมทั้งแปลกใจ ทั้งผิดหวังใน “วุฒิภาวะ” ของคนเหล่านี้ เพราะโดย “วิชาชีพ” แล้วคนกลุ่มนี้ควรจะมีความสามารถในการค้นคว้า วิพากษ์วิจารณ์ ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย” แล้ว ก็ควรจะต้องต่อสู้ด้วย “ความจริง” ไม่ใช้โดยวิธีการปั่นกระแส สร้าง Fake news แบบที่ฝ่ายตรงกันข้ามทำ

ปรากฎการณ์ “จดหมายปรีดี” นี้ ทำให้ผมสงสัยในเพื่อนร่วมวิชาชีพ เพื่อนนักกิจกรรม เพื่อนสื่อมวลชน เป็นอย่างมาก หากมองให้ลึกลงไปแล้วปัญหาเรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาเชิงหลักการ กล่าวคือ ปกติโดยวิชาชีพแล้ว เราไม่ควรจะเชื่อเรื่องอะไรก็ตามเพียงเพราะคนจำนวนมากพูดตามกัน หรือแม้แต่ดูจะส่งผลดีทางการเมืองต่อ “ฝ่ายเรา” เราควรจะสงสัยก่อนว่า “รู้ได้อย่างไร” “จริงไหม” “ใครเป็นคนพูด” “มีที่มาจากไหน” “ความน่าเชื่อถือมีแค่ไหน” ฯลฯ เรื่องนี้สำหรับ “ปัญญาชน” แล้ว ควรจะเป็นเรื่องพื้นฐานมาก

ซ้ำร้าย คือเมื่อผมโพสต์บทความไปแล้ว “ปัญญาชน” บางคน ซึ่งแชร์บทความผมไป ก็ยังทำเสมือนไม่มีบทความผมในโลก แต่ยัง “เชื่อ” เรื่อง “จดหมายปรีดี” ซึ่งไม่มีจริงอยู่เหมือนเดิม แถมยังช่วยปั่นกระแสนี้ยิ่งขึ้นไปด้วย

“ปัญญาชน” บางคน อาจจะไม่สนใจ ไม่ชอบผม หรือไม่เห็นบทความผมจริงๆ ก็ได้ แต่นั่นก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะการแสดงความคิดเห็นสาธารณะต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นกระแส โดยที่ไม่ต้องคิดหรือตรวจสอบค้นคว้าอะไรก่อนเลย ก็สะท้อนความไร้วุฒิภาวะของปัญญาชนคนนั้นเอง


ขอยกตัวอย่าง เช่น ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ความจริงธำรงศักดิ์ก็เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทย สนใจเรื่อง 2475 สนใจเรื่องปรีดีมาโดยตลอด วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์กับฟ้าเดียวกัน ก็ทำเรื่องถนอม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันกับบทความเรื่อง “เอกสารปรีดี” ของผม นอกจากนี้ ระยะหลังธำรงศักดิ์ก็เข้าร่วมอย่างแข็งขันกับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” เช่น จัด Walk tour หรือร่วมบรรยายใน common school

แต่ปรากฎว่าจนถึงวันที่ 2 มกราคม ตอน 14.05 น. ธำรงศักดิ์ก็ยังโพสต์ข้อความด้านล่างนี้

ต่อมาเวลา 18.36 น. ธำรงศักดิ์ก็ได้โพสต์ต่อดังนี้

เห็นได้ว่าที่ธำรงศักดิ์เขียนมานั้น “มั่ว” ทั้งหมด ธำรงศักดิ์บอกว่า “ผมคิดว่ามันคือแฟ้มเอกสารต่างๆ ที่ปรีดีน่าจะได้นำติดตัวตอนหลี้ภัยการเมืองไปแล้วมอบให้ทางฝรั่งเศสก่อนเสียชีวิต ซึ่งเป็นเอกสารส่วนตัว แต่เนื่องจากมีตำแหน่งบทบาทสำคัญของไทยและสมัยสงครามโลก ทางฝรั่งเศสจึงรับไว้ ” แต่ที่เขียนมานี้ ไม่มีข้อมูลรองรับ ไม่มีการค้นคว้า และไม่สนใจที่จะค้นคว้าหาคำตอบว่า “ความจริง” มันคืออะไรทั้งสิ้น ถ้าพยายามซักนิดเดียวในยุค social นี้ ธำรงศักดิ์ก็อาจจะเจอบทความผมที่เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคมแล้วก็ได้

ผมยิ่งอ่าน ยิ่งหงุดหงิด และยิ่งท้อแท้ใจ ว่าคนระดับ ดร. เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร คนที่เขียนหนังสือมานักต่อนัก ทำวิจัย ค้นคว้า สุดท้ายจะพูดอะไร เขียนอะไร ก็เขียนแบบไม่ต้องคิด แถมยังเป็นเรื่องที่อยู่ใน Field ของตัวเอง ซึ่งยิ่งทำให้ควรจะต้องคิดกับมันเข้าไปใหญ่ หรือค้นคว้าก่อนซักนิด

ผมไม่ได้จะบอกว่าบทความผมสำคัญ ดีเยี่ยม ทุกคนต้องอ่าน แต่ประเด็นคือ โดยเฉพาะสำหรับนักวิชาการ สื่อมวลชน นักกิจกรรม เวลาจะแสดงความเห็นอะไรสู่สาธารณะ ยิ่งถ้าเป็นประเด็นที่เป็นกระแส คนสนใจ ยิ่งต้องค้นคว้ามาก่อน หากไม่แน่ใจ ข้อมูลไม่พอ ก็ไม่ต้องแสดงความเห็นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญหรือมีส่วนร่วมในทุกกระแสก็ได้ บางทีเงียบไปยังดีกว่าการคาดเดามั่วๆ และตามกระแสไปเรื่อย ๆ เพราะอย่างหลังนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นอะไรนอกจากความไม่มีวุฒิภาวะของตนเอง

นอกจากธำรงศักดิ์แล้ว ความจริงก็มีลักษณะนี้อีกหลายคน บางคนเป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย เขียนเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองที่คนอ่านนักต่อนัก แต่ก็ยังโพสต์เรื่อง “จดหมายปรีดี” อยู่

ธำรงศักดิ์เป็นตัวอย่างที่ผมคิดว่าแย่ที่สุดที่เห็นได้ชัดในหมู่นักวิชาการ แต่ตัวอย่างนี้ก็มีให้เห็นอยู่ในกลุ่มอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น กลุ่มนักกิจกรรมอย่างทะลุฟ้า (โพสต์วันที่ 1 มกราคม 0:54 น.)

นอกจากนี้ กลุ่มที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง คือสื่อมวลชน น่าแปลกใจอย่างมากที่สื่อแทบทุกสำนักที่ “เล่น” เรื่องนี้ เขียนไปในแนวทางกันเดียวกันหมด คือระบุว่ามี “จดหมายปรีดี” ที่ฝรั่งเศส และจะมีการ “เปิดจดหมาย” โดยไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมมากนัก

เรื่องนี้สะท้อนความด้อยคุณภาพของวงการสื่อได้อย่างชัดเจน เพราะอะไรเป็นกระแสก็เอามาเผยแพร่ทั้งหมด โดยไม่ต้องตรวจสอบหรือคิดว่าจริงไหม งานสื่อแบบนี้คืองานที่มักง่าย อะไรที่คนชอบ คนตามเยอะ ก็ช่วยเผยแพร่ตามนั้นไปเลยเพราะเป็นการได้ view ง่าย ๆ และไม่ต้องทำการบ้าน

ยกตัวอย่างเช่น The Reporters (โพสต์วันที่ 2 ม.ค. 20:24 น.) ยังคงพาดหัวว่า “จดหมาย ‘ปรีดี พนมยงค์’ ” และเนื้อหาก็ “มั่ว” ไปหมด เช่นบอกว่า “เก็บมา 60 ปี” (ผิด จริงๆ 50 กว่าปี) ความจริงตอน The Reporters เขียนข่าวนี้ กลุ่มที่เปิดเอกสารก็เผยแพร่ไปแล้วว่าเปิดผิดกล่อง ความจริงเอกสารที่เขาเปิดนั้น คือเอกสารที่ผมเขียนถึงไปแล้ว โพสต์นี้สะท้อนความไม่ใส่ใจ การไม่ทำการบ้าน ความมักง่าย ของ The Reporters เป็นอย่างดี

นอกจาก The Reporters แล้ว ก็มีสื่ออย่าง Voice TV ที่ขยันถอดความและสรุปความเอกสาร (ผิดชุด) ที่เผยแพร่ไปวันนี้ เผยแพร่ไปในเว็บไซต์ของตน หาก Voice TV ค้นคว้าซักหน่อยก็จะพบว่าที่อุตส่าห์เขียนมานั้น มันซ้ำกับที่ผมเขียนทั้งหมด และไม่ละเอียดครบถ้วนเท่าที่ผมเขียนด้วย

อีกตัวอย่างคือ The Standard ที่ทำวิดีโอสั้น ๆ อธิบายว่า “จดหมายปรีดี” คืออะไร วีดิโอนี้เริ่มต้นมาเหมือนจะดี เพราะเริ่มจากโพสต์ของอ. สมศักดิ์ แต่สุดท้ายก็ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดมั่วซั่ว เช่น บอกว่ามีแต่ “เอกสารปรีดี” เท่านั้นที่ต้องรอปี 2024 เอกสารอื่นใช้ได้หมด อันนี้ผิดข้อเท็จจริง เพราะมีเอกสารเต็มไปหมดที่เปิดใช้ปี 2024 เพราะการกำหนดอายุเอกสารเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของเอกสารทางการทูตที่เกี่ยวกับเรื่องบุคคลหรือความมั่นคงของรัฐ

แม้แต่สำนักข่าวยักษ์ใหญ่อย่าง BBC Thai ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ผมถือว่าเป็นสื่อที่พึ่งพาได้ ก็ด้อยประสิทธิภาพอย่างไม่น่าเชื่อ ในวันที่ 2 มกราคม 18:17 น. BBC Thai โพสต์อย่างมั่นใจว่า “จดหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับนายปรีดี…ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเก็บรักษาไว้” ข้อความนี้ผิดตั้งแต่คำว่า “จดหมาย” และ “รัฐบาลฝรั่งเศสเก็บรักษาไว้” ทั้งสองอย่างนี้ไม่มีจริง มีแต่ “เอกสารปรีดี” ซึ่งเป็นเอกสารการทูตปกติ ที่หอจดหมายเหตุการทูต กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เก็บไว้

ตัวอย่างสุดท้าย กระทั่งเปิดเอกสารเสร็จแล้ว สื่อบางสำนักก็ยังโฆษณาให้ติดตาม “เปิดจดหมาย” ต่ออีก มติชนออนไลน์ พาดหัวในวันที่ 2 ม.ค. เวลา 22:53 น. ว่า “เปิดจดหมายปรีดี จากฝรั่งเศส ต้องลุ้นต่อ แฟ้มที่รอคอย ยังเป็นเอกสารลับ มีคิวเผยแพร่ 5 มกราคมนี้” เนื้อหาแทบทั้งหมดที่ลงข่าวนั้นเอามาจาก Social media อย่าง Twitter ของผู้ไปเปิดเอกสาร โดยไม่ได้ทำการค้นคว้า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามที่สื่อมวลชนควรจะทำแต่อย่างใด

สรุปตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมา ซึ่งที่จริงมีมากกว่านี้ และคงจะมีมากกว่านี้อีก สะท้อนความ “ไร้วุฒิภาวะ” ของปัญญาชน สื่อมวลชน นักกิจกรรม โดยเฉพาะฝ่าย “ประชาธิปไตย” ของไทยจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ

หากตามข่าววันสองวันมานี้ คนไทยจะมีทางเลือกใดนอกจาก “เชื่อ” กันไปหมดว่ามี “จดหมายปรีดี” ที่ปารีส ที่ปรีดีฝากไว้ ให้เปิดปี 2024 จริงๆ เพราะสุดท้ายกลุ่ม “ปัญญาชน” ก็ไม่ทำงาน ไม่มีใครช่วยกันอธิบายความเป็นมาของ “เอกสาร” หรือแก้ไขข้อเท็จจริงให้ถูกต้องแต่อย่างใด

ถ้าเช่นนี้ กลุ่มคนที่ควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบจะเป็นใครนอกจากกลุ่มที่เผยแพร่ “Fake news” เหล่านี้ โดยเฉพาะสื่อมวลชน? แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีท่าทีจะแก้ข่าวอะไร มีแต่จะเผยแพร่ Fake news กันต่อไป


ผมยังหาคำอธิบายที่น่าพอใจไม่ได้ ว่าเพราะอะไรกลุ่มคนเหล่านี้ถึงเป็นแบบนี้ ปัจจัยหนึ่งน่าจะเป็นเพราะวัฒนธรรมของ Social media บางประการ ที่เมื่ออะไรเป็นกระแสคนก็ต้องกระโจนเข้าหาอย่างรวดเร็วเพราะกลัวจะตก Trend

“เวลา” ของ Social media คือ “เวลา” ที่รวดเร็ว ต้องโพสต์ให้ทันการณ์ ต้อง like ให้ทันการณ์ ไม่อย่างนั้นคนก็จะไป Trend อื่นกันแล้ว

สิ่งนี้ควรจะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับงานปัญญาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน นักกิจกรรม ที่จำเป็นจะต้องมี “เวลา” ที่ช้าลงด้วยให้ขบคิด วิเคราะห์ ประเมิน สรุป

อันที่จริงแล้ว กลุ่มนักกิจกรรมที่ไป “เปิดจดหมายปรีดี” วันนี้ ก็สะท้อนความไร้วุฒิภาวะนี้เป็นอย่างดี หลายคนบอกว่าได้อ่านบทความผมแล้ว แต่เมื่อไปถึงก็ไป live อ่านเอกสารอย่างละเอียดทีละหน้า สร้างความระทึก ตื่นเต้น ลุ้นให้กับคนดู ได้รับยอด view และมีผู้ติดตามจำนวนมาก เพียงเพื่อพบว่าสุดท้ายเอกสารที่ใช้เวลาอ่านและแปลทั้งหมดหลายชั่วโมงนั้น เป็นเอกสารชุดเก่าที่ผมได้เขียนอธิบายอย่างละเอียดเอาไว้แล้ว

เรื่องนี้เป็นเรื่องตลกร้าย ยิ่งคนตื่นเต้นกับ “จดหมายปรีดี” ในรูปแบบที่มีการ live เปิดกล่อง ทำให้ดูเป็นปริศนาลึกลับ ยิ่งสะท้อนว่าคนไม่ต้องการจะรู้ “เนื้อหา” จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร แต่สนใจรูปแบบที่เน้นความบันเทิงมากกว่า ในประเด็นนี้สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้แสดงความคิดเห็นไว้ดังนี้

นอกจากเรื่องการพยายามอยู่ใน Trend และเน้นความบันเทิงแล้ว อาจจะมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปัญญาชนต่างพากัน “เชื่อ” เรื่อง “จดหมายปรีดี”

สาเหตุก็เพราะการเมืองแบบแบ่งขั้วของไทยชวนให้คนปกป้องกลุ่มที่คิดว่าเป็นพวกเดียวกับตน ในขณะที่โจมตีกลุ่มที่คิดว่าเป็นฝั่งตรงข้าม โดยไม่ต้องวิเคราะห์หรือคิดอะไรให้มาก พูดง่าย ๆ คือการเมืองแบบ “นายแบก/นางแบก”

Social Media กลายเป็นช่องทางที่เอื้อต่อการเมืองแบบดังกล่าวนี้ การที่ช่วยกัน “ปั่น” เรื่อง “จดหมายปรีดี” เป็นเสมือนกับได้เข้าร่วมสมรภูมิรบ ปัญญาชนฝ่าย “ประชาธิปไตย” ก็ต้องช่วยกัน “แบก” อะไรที่เชื่อกันว่าเป็นประโยชน์หรือเป็น Agenda ของฝ่ายประชาธิปไตย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผมไปโพสต์ตั้งคำถามเกี่ยวกับจดหมายปรีดี ในโพสต์ของธำรงศักดิ์ว่า “ไม่ใช่จดหมายครับ จดหมายไม่มีจริงครับ ปั่นกันมั่วไปหมดแล้วครับ ความจริงคุณธำรงศักดิ์เป็นนักวิชาการ ก็ควรจะตรวจสอบให้ดีก่อนจะเขียนอะไรแบบนี้ออกมานะครับ” พร้อมกับแนบลิ้งค์บทความ ทันใดนั้นก็มีคนมา “แบก” จดหมายปรีดีทันที เพราะมีคนมาตอบว่า “อ้าว แล้วตัวเองรู้ได้ไงว่า”ไม่มี” ช่วยแจงเหตุผลหน่อย ว่าคนอื่นทั่ว ตัวเองมั่วด้วยหรือเปล่าล่ะ

บุคคลดังกล่าวนี้ถ้าจัดให้อยู่ในขั้วการเมืองทุกวันนี้ก็ต้องเรียกได้ว่าเป็น “สามกีบ” เพราะเห็นไปไล่ด่า “สลิ่ม” อยู่ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าถึงจะเป็น “สามกีบ” ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถอ่านหนังสือได้เกิน 3 บรรทัด เพราะขนาดแปะลิ้งค์บทความให้อ่านแล้วก็ยังไม่สนใจแต่อย่างใด ดูแล้วถ้าฝ่ายตัวเองเชื่อว่าถูก ก็ต้องถูก ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น

จากที่ประมวลมาทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าหากสังคมไทยจะเป็น “ประชาธิปไตย” ได้ซักวัน อาจจะต้องเรียกร้องให้ “ปัญญาชน” ทำหน้าที่ “ปัญญาชน” จริงๆ รู้จักคิดวิเคราะห์และเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ใช่คอยแต่ “แบก” โดยที่ไม่ต้องใช้สมอง และไม่ใช่แค่เป็นส่วนหนึ่งของ algorithm ของ social media ไปเรื่อย ๆ หากินกับยอด view ยอด like ราวกับเป็นเป้าหมายของชีวิต


ตั้งแต่เขียนบทความ บรรดา “ปัญญาชนสาธารณะ” นั้นดูจะมีไม่กี่คนที่ “เก็ท” และช่วยกันเผยแพร่ข้อความที่ผมต้องการจะสื่อ กล่าวคือ “จดหมายปรีดี” ไม่มีจริง มีแต่ “เอกสารปรีดี” ซึ่งเป็นเอกสารการทูตเกี่ยวกับการลี้ภัยของปรีดี

ปิยบุตร แสงกนกกุลคือหนึ่งในนั้น ตั้งแต่ผมโพสต์บทความในวันที่ 28 ธันวาคม ปิยบุตรเป็นคนแรกๆ ที่แชร์บทความดังโพสต์ข้างล่างนี้

ต่อมาเมื่อมีกลุ่มไป live อ่านเอกสารในวันที่ 2 มกราคม ปิยบุตรก็ได้โพสต์ข้อความในเรื่องนี้ต่อ

การช่วยกันสื่อสารเรื่องนี้สำคัญเพราะอะไร? เพราะการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะจากฝ่าย “ประชาธิปไตย” ไม่ควรจะต่อสู้ด้วย Fake news

การปั่นกระแส “จดหมายปรีดี” เพื่อหวังว่าจะส่งผลสะเทือนทางการเมืองนั้น สุดท้ายแล้วก็จะกลับเข้าตัวเอง ฝ่ายตรงข้ามจะหัวเราะเยาะเอาว่าเราอับจนหนทางถึงขั้นต้องสู้ด้วยวิธีการแบบนี้

การปั่นมุกตลกหรือ “มีม” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องไม่จริงจัง แต่สุดท้ายก็เป็นปฏิบัติการภายใต้ความเชื่อที่ว่ามี “จดหมายปรีดี” อยู่ และเป็นการตอกย้ำความเชื่อนั้นต่อไป

ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร? ผมคิดว่ามี 2 ทาง คือ

  1. ยอมรับว่าไม่มี “จดหมายปรีดี” จริงๆ แล้วหยุดปั่นกระแส Fake news ซึ่งไม่มีประโยชน์กับใครแถมยังบั่นทอนสติปัญญาได้แล้ว
  2. เรื่อง “จดหมายปรีดี” ทั้งหมด เป็นการเบี่ยงประเด็นออกจากเนื้อหาจริงๆ ของ “เอกสารปรีดี” ดังนั้น หากยังสนใจ “เอกสารปรีดี” ก็ควรจะติดตาม ถกเถียง ค้นคว้าเพิ่มเติม เกี่ยวกับการลี้ภัยของปรีดีในจีนและการเดินทางมาลี้ภัยที่ฝรั่งเศส

ทางออกที่ 2 นี้เป็นทางออกที่ผมอยากจะเห็นนักวิชาการทั้งหลายทำ เริ่มด้วยการก้าวให้พ้นกระแส Fake news เรื่อง “จดหมายปรีดี” แล้วมาสนทนา สานต่อ ถกเถียงในเรื่อง “เอกสารปรีดี” อาจจะเริ่มจากบทความที่ผมเขียนก็ได้

ทางออกที่ 2 นี้ สื่อมวลชนก็ควรจะต้องช่วยกันเผยแพร่คำอธิบายที่ถูกต้องว่า “เอกสารปรีดี” คืออะไร โดยค้นคว้าและให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

แต่ดูท่ากระแสที่สังคมไทยตามกันเป็นหลัก ณ ขณะนี้ จะยังคงเป็น “จดหมายปรีดี” อยู่ จนถึงจุดนี้ผมถือว่าบทความที่ผมตั้งใจเขียนอย่างละเอียด ถ้าไม่ล้มเหลว ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

Author: Din Buadaeng

A History Student

11 thoughts on “จาก “เอกสารปรีดี” สู่ปรากฎการณ์ “จดหมายปรีดี”: ความไร้วุฒิภาวะของปัญญาชนฝ่าย “ประชาธิปไตย” ไทย”

  1. “…ผมมีข้อมูลทั้งหมดนี้ แต่ก็ไม่ได้เผยแพร่ออกไป เพราะทั้งไม่อยากทำลาย “ความหวัง” ของคนอย่างที่กล่าวมา และทั้งรู้สึกว่าถ้าจะฟเขียนอธิบายเอกสารเหล่านี้ จะต้องเขียนเป็นบทความที่ดีซึ่งผมไม่มีเวลา

    อย่างไรก็ดี ด้วยความรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนทำให้ “เอกสารปรีดี” เป็นที่สนใจขึ้นมา (และต่อมาเกินการควบคุมจนกลายเป็นปรากฎการณ์ “จดหมายปรีดี”) ผมเลยคิดว่าจำเป็นจะต้องแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการเขียนบทความออกมาซักชิ้น ผมเก็บเรื่องนี้ไว้อยู่ตลอด และตั้งใจจะปล่อยบทความออกมาก่อนจะถึงปี 2024 เพื่อให้คนมี “ความหวัง” กับ “จดหมาย” ถึงนาทีสุดท้าย”

    เคยได้ยินไหมคำพูดแบบนี้
    “บอกช้าเกินไปไหมเทอ”
    “ไม่บอกเท่ากับหลอกลวง”

    เที่ยวโทษคนโน้นคนนี้ แต่ตัวเองเป็นต้นเรื่อง เห็นกระแสมาหลายปี กลับตั้งใจปล่อยบทความตอนนาทีสุดท้ายเนี่ยนะ

    Like

    1. ไม่ทราบได้อ่านที่ผมเขียนไหม ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจ ขอให้ไปอ่านใหม่

      ปัญหาที่ผมมีกับเรื่องนี้ คือเรื่อง “จดหมายปรีดี” ที่ปั่นกันจนมันผิดข้อเท็จจริง ไม่ทราบว่าผมเป็น “ต้นเรื่อง” เรื่องนี้ได้ยังไง? หากไปดูโพสต์ของสมศักดิ์ ซึ่งผมส่งข้อมูลให้นั้น เขาก็ตั้งข้อสมมุตฐานไว้สองอย่างให้คนได้ “คิด” ผมก็ไม่นึกว่า “ปัญญาชน” จะ “คิดน้อย” กันขนาดนี้ คนที่ต้องรับผิดชอบไม่ใช่ผมแน่นอน

      “ต้นเรื่อง” ของ “จดหมายปรีดี” คือใคร? ผมก็คิดว่าอาจจะเป็นบทความของ Way แต่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่สำคัญเท่าที่ว่าตอนนี้ใครเป็นคนกระจายข่าว “จดหมายปรีดี” ออกไป มันควรจะต้องช่วยกันหยุดกระแสนี้แล้ว

      ส่วนเรื่องที่ผมบอกว่าปล่อยให้คนมี “ความหวัง” จนนาทีสุดท้ายนั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะอย่างที่ผมเขียนไป คือถ้าจะเขียนอธิบายเรื่อง “เอกสารปรีดี” ก็ต้องเขียนเป็นบทความขนาดยาว ผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนี้เป็นพิเศษและที่ผ่านมาผมไม่มีเวลา

      สรุปถ้าจะถามหาความรับผิดชอบจากผม ซึ่งไม่ใช่ “ต้นเรื่อง” ของปัญหาแน่ๆ ควรจะไปถามหาความรับผิดชอบจากพวกปัญญาชนที่ไม่ใช้ปัญญากันเท่าไหร่ดีกว่าไหม?

      Liked by 1 person

      1. การออกมาชี้แจงว่า “เอกสารปรีดี” เป็นเอกสารทางการทูตของทางการฝรั่งเศส หาใช่จดหมายหรือบันทึกส่วนตัวของนายปรีดี พนมยงค์ แต่อย่างใด คงไม่ถึงกับต้องใช้เวลามาก หรือ ต้องเขียนเป็นบทความขนาดยาวหรือไม่

        การเก็บงำข้อเท็จจริง ปล่อยให้กระบวนการปั่น “ความหวัง” ดำเนินไปจนนาทีสุดท้าย นั่นไม่ใช่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่เป็นส่วนสำคัญเลย

        สมกับชื่อบทความ ไร้วุฒิภาวะกันทั้งนั้น

        Liked by 1 person

      2. ข้อความของคุณก็เช่นเดียวกับโพสต์ด้านบนที่หาว่าผมเป็นคน “หลอกลวง” “โทษคนโน้นคนนี้” ทั้งๆ ที่ผมเป็น “ต้นเรื่อง” คุณก็มาเสริมว่าผม “เก็บงำข้อเท็จจริง” และ “เป็นส่วนสำคัญของปัญหา” ความเห็นผมคือคุณให้ credit ผมมากเกินไป ถึงยังไงก็ขอบคุณมาก แต่ผมไม่ได้สำคัญขนาดนั้นและไม่สามารถเป็นจุดเปลี่ยนอะไรขนาดนั้น ถึงผมออกมาเขียนสั้น ๆ แต่แรก ก็คงไม่ช่วยลดทอนกระแสนี้ได้มากนักเพราะสำหรับผมรากฐานปัญหามันใหญ่กว่านั้น เช่น เป็นเรื่องวุฒิภาวะของปัญญาชนโดยรวม, เป็นเรื่องปัญหาทางการเมืองที่หาทางออกไม่ได้จึงต้องแสวงหา “ความหวัง”, เป็นเรื่องวัฒนธรรม social media เป็นต้น นอกจากนี้ กระแสนี้สัมพันธ์กับช่วงเวลา ผมมั่นใจว่ายังไงช่วงที่เอกสารใกล้จะให้เข้าใช้ กระแสมันก็ต้องมา สิ่งที่ผมเรียกร้องก็คือในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ อย่างน้อยที่สุดปัญญาชนต้องไม่เชื่อกระแสนี้ง่าย ๆ และช่วยกันอธิบายว่าข้อเท็จจริงคืออะไร (โดยเฉพาะหลังผมเขียนบทความออกมาแล้ว)

        Like

  2. ก่อนอื่นขอโทษสำหรับภาษาที่อาจจะไม่สวยงามมาก และมีปนอังกฤษมา ภาษาไทยไม่ค่อยแข็งแรงครับ

    อ่านจบแล้วครับ ชอบมากครับ นานๆทีจะได้เห็นคนที่มีความเป็นนักวิชาการ และ thought process ในระดับนี้ และแชร์ความเห็นเดียวของผมกับหลายๆอย่างของนักวิชาการเก๊เมืองไทย ผมได้กลับไปอ่านบทความของคุณหลายๆอย่าง และชอบการวิจารณ์นักวิชาการบางคน หรือความผิดปกติบางอย่าง ของฝั่งที่สนับสนุนประชาธิปไตย (ต่อต้านและย้อนแย้งต่อ assumptions/core beliefs ของสิ่งที่ตัวเองเชื่อ) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

    ส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหากับการที่คุณออกมาพูดเรื่องนี้ช้า เพราะผมมีความเชื่ออยู่แล้วว่าตัว Dossier de Pridi นั้นไม่ได้มีความสำคัญ หรือ เกี่ยวข้องใดๆในเชิงที่คนไทยหลายๆคนได้คาดหวัง ส่วนตัวแค่คิดว่าเป็นชิ้นส่วนนึงของประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราได้เข้าใจถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นมากขึ้นเฉยๆ e.g. Cold Wars, Diplomacy และเหนือสิ่งอื่นใด คนทุกคนที่สนใจเรื่องวิชาการ ควรจะทำการวิเคราะห์และคัดข้อมูลเองอยู่แล้ว เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องที่คุณจะมาอ่านสรุป หรือฟังคำพูดของใครบางคนแล้วเชื่อในสิ่งนั้นๆเลย และ burden of proof ควรเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์โดยคนอ่านอยู่แล้ว

    สุดท้ายนี้ไม่อยากให้รู้สึกแย่ หรือใส่ใจกับคอมเมนท์ออนไลน์ส่วนใหญ่มากครับ คนส่วนใหญ่ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ได้อ่านบทความของคุณจนจบ ไม่ได้มีความตั้งใจจะศึกษาประเด็นการเมืองในระดับที่มันสูงขนาดนี้ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่แค่อยากได้เหตุผลในการโกรธมากกว่า

    จะกลับมาตามอ่าน blog นี้ รวมถึงของนักเขียนคนอื่นเรื่อยๆครับ ดีใจมากที่ได้อ่านวันนี้

    Liked by 1 person

  3. จะว่าไปแล้ว ความเข้าใจผิดนี้น่าจะมี “อิทธิพล” ส่วนสำคัญมาจากโพสต์ของสมศักดิ์ (2018) ที่คุณอ้างไป ที่วิเคราะห์ “ให้น้ำหนัก” ว่าเป็นเอกสาร “ของ” ปรีดี หรือ “ปรีดีฝากเอกสารไว้ที่หอจดหมายเหตุ” ด้วย

    เรื่องนี้คงโทษสมศักดิ์ไม่ได้ เพราะมันก็คือการวิเคราะห์ระหว่างเขากับคุณ (“มิตรสหายท่านหนึ่ง”) แต่คงปฏิเสธว่ากระแสนี้มาจากข้อวิเคราะห์นี้ของสมศักดิ์ (และคุณ) ไม่ได้แน่นอน

    Like

    1. ในโพสต์ต้นทางที่คุณยกมา ถึงแม้จะวิเคราะห์ให้น้ำหนักไปทางเอกสาร “ของ” ปรีดี แต่ไม่ได้ฟันธงว่ามันคืออะไร พร้อมกับเสนอว่ามีความเป็นไปได้อีกอย่างอย่างชัดเจน ดังที่ผมเขียนไปแล้วว่าผมยอมรับการที่ทำให้ “เอกสารปรีดี” เป็นที่รับรู้ขึ้นมา แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่ากระแส “จดหมายปรีดี” มันเป็นกระแสที่แยกตัวออกมาต่างหาก เพราะคนที่เชื่อเรื่อง “จดหมายปรีดี” เขาไม่คิดเลยว่ามันมีอีกแบบด้วย (คือเป็นเอกสารการทูตทั่วไป) หลายคนไม่รู้หรือไม่สนใจด้วยซ้ำว่าเอกสารที่ว่าจัดเก็บอยู่ที่ไหน ระยะหลังนี้ข่าวลือกระจายไปจนหาที่มาไม่ได้แล้วว่ามาจากไหน ข้อเขียนผมพยายามชี้ว่าปรากฎการณ์ “จดหมายปรีดี” แบบนี้มันสะท้อนสภาวะบางอย่างของสังคมไทยที่มีปัญหา คือการที่ปัญญาชนพอใจที่จะเชื่อข่าวลือว่ามี “จดหมายปรีดี” ไปตามๆ กัน กล่าวให้ถึงที่สุด ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้กลับมาดู “ต้นทาง” คือโพสต์ของสมศักดิ์นี้หรอก ผมยังคิดว่าถ้าคนกลับมาดูโพสต์นี้มากกว่านี้ กระแสอาจจะไม่แรงเท่านี้ก็ได้

      Like

  4. ขอบคุณมากค่ะสำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ หลายข้อสังเกตถึงบางท่านที่เรียกตัวเองว่าฝั่งประชาธิปไตยทำให้รู้สึกว่าไม่ได้คิดทบทวนประเด็นเหล่านี้อย่างโดดเดี่ยว ขอบคุณที่ลำดับเหตุการณ์ โต้ตอบ วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาได้สงบและสนุกมากค่ะ

    Liked by 1 person

  5. ขอขอบคุณที่เขียนบทความดีๆ ออกมาครับ อ่านละได้ความรู้ดีครับ ชอบที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบฝักฝ่ายที่มีอุดมการณ์คล้ายกันครับ ผมได้อ่านบทความ ทั้ง 51 หน้าแล้วครับ อ่านเพลินดีนะครับ ผมไม่ค่อยสนใจประวัติความเป็นมาของปรีดี นอกจากช่วงที่อยู่ในอำนาจ แต่บทความนี้ได้ช่วยให้ผมเข้าใจเรื่องราว และภูมิหลังการไปลี้ภัยของปรีดีมากขึ้นครับ จนตอนนี้อยากจะลองไปตามงานต่างๆที่ศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ไทย เช่น วิทยานิพนธ์ของ สมศักดิ์ หรือ งานของกนกวรรณ (แต่ดูเหมือนจะหาโหลดไม่ได้ครับ) อย่างไรก็ตามบทความนี้ก็ได้เพิ่มคำถามให้ผมว่า ปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ และถ้าเป็นเป็นช่วงไหน การมีบทบาทกับปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์ เท่ากับการเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่

    Liked by 1 person

Leave a comment