1955 ปีที่เวียดนาม (ใต้) ลงมติถอดถอนกษัตริย์

ปี 1955 อาจผ่านไปเพียงไม่นาน แต่จะมีสักกี่คนที่จดจำเหตุการณ์ที่นำไปสู่จุดสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์เวียดนามอย่างถาวรเมื่อในเดือนตุลาคมปีดังกล่าวได้ วันที่ 23 ตุลาคมคือวันลงคะแนนเสียงประชามติ เพื่อเลือกระหว่างการปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด กับการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ โดยผลปรากฏว่าคะแนนเสียงข้างมากสนับสนุนให้เวียดนามใต้มีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ปี 1955 จึงเป็นปีที่เวียดนามใต้กลายสภาพจากประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุข สู่ประเทศที่มีการปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐโดยสมบูรณ์

บทความชิ้นนี้ฉายภาพให้เห็นบทบาทและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน นับตั้งแต่การเข้ามาของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนถึงการลงประชามติโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในปี 1955 ตลอดช่วงเวลากว่าร้อยปีนี้ แรงกดดันจากภายนอกทำให้อำนาจของสถาบันกษัตริย์เวียดนามถูกจำกัด จนทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องหันไปเอาใจและเชื่อฟังเจ้าอาณานิคมเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ การกระทำเช่นนี้แม้ว่าจะทำให้สถาบันกษัตริย์ยังคงอยู่รอด แต่กลับสร้างความห่างเหินระหว่างกษัตริย์กับคนในชาติ ที่เชื่อว่ากษัตริย์เวียดนามเห็นประโยชน์ของตัวเองสูงกว่าทุกข์ร้อนของคนในชาติ วิกฤติแห่งศรัทธาที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงอาณานิคมนี้ส่งผลต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

         

Continue reading “1955 ปีที่เวียดนาม (ใต้) ลงมติถอดถอนกษัตริย์”

ซามูไร ศักดินา และพญาอินทรี: กำเนิดและพัฒนาการของอุดมการณ์ชาตินิยมกับระบอบประชาธิปไตยที่มีจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ในญี่ปุ่น

วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1946 จักรพรรดิโชวะหรือจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ (Emperor Showa 1901-1989) ทรงมีพระราชดำรัส “ประกาศความเป็นมนุษย์” (Ningen Sengen) เพื่อปฏิเสธสถานะ “องค์อวตารของเทพ” (Arahitogami) ของพระองค์ ตามคำชี้นำของผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายพันธมิตรหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกาศความเป็นมนุษย์ฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างชาติญี่ปุ่นหลังสงครามให้อยู่ใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีจักรพรรดิเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติที่ปราศจากพระราชอำนาจ

ก่อนหน้านั้น แม้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของญี่ปุ่นเริ่มก่อตัวขึ้นหลังการปฏิรูปเมจิ ค.ศ. 1868 และเบ่งบานขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1910-1920 ซึ่งเรียกว่ายุค ประชาธิปไตยไทโช (Taisho Democracy) ทว่าระบอบประชาธิปไตยของญี่ปุ่นช่วงก่อนสงครามก็สิ้นสุดลงหลังจากการยึดอำนาจของกลุ่มทหาร ซึ่งนำญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคการปกครองแบบฟาสซิสต์ โดยมีจักรพรรดิเป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างอุดมคติชาตินิยม

กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของญี่ปุ่นที่มีจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของชาติหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 2 นั้นหาได้ประสบความสำเร็จจากการต่อสู้จากภาคประชาชนโดยตรง หากแต่เป็นผลลัพธ์จากการเข้ามาของพญาอินทรี ซึ่งสยายปีกแผ่อำนาจเข้าครอบงำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในช่วงทศวรรษ 1950-1970

แม้ระบอบประชาธิปไตยที่มีจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดายจากการชี้นำของสหรัฐดังที่กล่าวมา แต่เมื่อดูในรายละเอียดของกระบวนการออกแบบและความเปลี่ยนแปลงหลังจากญี่ปุ่นได้รับอธิปไตยกลับคืนมาใน ค.ศ. 1952 แล้วพบว่า แม้ญี่ปุ่นยุคหลังสงครามจะเปลี่ยนไปสู่ประเทศประชาธิปไตย แต่ความเป็นประชาธิปไตยของญี่ปุ่นก็มิได้มีรูปแบบที่ตรงไปตรงมาดังเช่นประชาธิปไตยแบบสากลในประเทศะวันตกและเต็มไปด้วยความซับซ้อนจากบริบททางประวัติศาสตร์ ส่วนสถาบันจักรพรรดิที่ถูกลดสถานะลงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติก็ยังคงถูกใช้สร้างความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายทางการเมืองโดยรัฐบาลฝ่ายขวาที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาอย่างยาวนาน

ด้วยเหตุนี้เอง การยกเอาประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งจักรพรรดิอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นการมองแต่เปลือกนอกที่ปรากฏในสื่อกระแสหลักอย่างฉาบฉวย จนละเลยถึงบริบทเฉพาะของสถาบันจักรพรรดิที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจากอิทธิพลของสหรัฐในเอเชียแปซิฟิก  

บทความนี้จะนำแนะพัฒนาการของอุดมการณ์ชาตินิยมญี่ปุ่น การกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยยุคหลังสงครามภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ และศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน 1. จักรพรรดิญี่ปุ่นรากฐานของอุดมการณ์ชาตินิยม  2. ระบอบประชาธิปไตยและจักรพรรดิเชิงสัญลักษณ์ใต้ปีกพญาอินทรี 3. ขบวนการเคลื่อนไหวและอุดมการณ์ชาตินิยมญี่ปุ่นหลังสงคราม

Continue reading “ซามูไร ศักดินา และพญาอินทรี: กำเนิดและพัฒนาการของอุดมการณ์ชาตินิยมกับระบอบประชาธิปไตยที่มีจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ในญี่ปุ่น”

สถาบันกษัตริย์ลาวในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชอาณาจักรมาเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1975 อันเป็นการปิดฉากระบอบกษัตริย์ที่สืบทอดมายาวนานกว่าเจ็ดร้อยปีนับแต่เจ้าฟ้างุ้ม (ค.ศ.1353-1372) ได้สถาปนาอาณาจักรล้านช้างขึ้น

อย่างไรก็ดี จากหลักฐานที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการล่มสลายของระบอบกษัตริย์ลาวมิได้เป็นสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์การเมืองลาวในขณะนั้นคาดการณ์ไว้เนื่องจากในช่วงที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มเข้ายึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1975 นั้น พวกเขายืนยันอย่างหนักแน่นต่อชนชั้นนำฝ่ายขวาที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ต่อไป อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การยึดอำนาจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นได้สร้างความประหลาดใจให้แก่นานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์ไทยซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับสถาบันกษัตริย์ลาว

ดังนั้น บทความนี้จึงพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากระบบกษัตริย์สู่สาธารณรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในลาว ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงบริบททางการเมืองในยุคสงครามเย็นที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในประเทศอื่น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

Continue reading “สถาบันกษัตริย์ลาวในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์”

กษัตริย์นักประชาธิปไตย (?) : สถาบันกษัตริย์สเปนในช่วงเปลี่ยนผ่าน

“…สถาบันกษัตริย์ สัญลักษณ์แห่งความสถาพรและเอกภาพของชาติ มิอาจยอมรับการกระทำหรือทัศนคติใด ๆ ของบุคคลที่ใช้กำลังเข้าขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญที่ชาวสเปนได้ออกเสียงรับรองผ่านการทำประชามติ [1]

ในหลายประเทศ การได้มาซึ่งประชาธิปไตยมักจะมาจากการต่อสู้และเรียกร้อง-ของชนชั้นกลางถึงล่างต่อชนชั้นนำทางการเมือง โดยเฉพาะต่อสถาบันกษัตริย์ หรือกล่าวโดยสั้นว่า กษัตริย์ถูกมองเป็นคู่ขัดแย้งของการเดินทางสู่ประชาธิปไตย แต่คำกล่าวด้านบนนี้อาจทำให้หลายคนต้องหยุดคิดและพยายามจินตนาการถึงสิ่งที่เหมือนจะขัดต่อความรู้สึกว่า “สถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและปกปักรักษาประชาธิปไตย” ทว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศสเปน และได้กลายเป็นต้นแบบของการสร้างประชาธิปไตยให้กับหลายกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกในเวลาต่อมา

การสร้างประชาธิปไตยโดยชนชั้นนำและสถาบันกษัตริย์ในสเปนนั้นได้รับความสนใจจากแวดวงวิชาการที่ศึกษาชนชั้นนำและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบัน นี่จึงเป็นที่มาของงานเขียนชิ้นเล็กๆ นี้ที่พยายามลากเส้นความสัมพันธ์และสร้างคำอธิบายเพื่อตอบและตั้งคำถามชวนคิดเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์สเปนในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน โดยงานชิ้นนี้จะชวนกลับไปยังสเปนในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 เพื่อตอบคำถามว่า “ทำไมสเปนถึงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงทั้งๆ ที่เพิ่งออกจากระบอบเผด็จการได้ไม่นาน ?”  และ “สถาบันกษัตริย์สเปนมีตำแหน่งแห่งหนใดในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ ?”

Continue reading “กษัตริย์นักประชาธิปไตย (?) : สถาบันกษัตริย์สเปนในช่วงเปลี่ยนผ่าน”

จากผู้ครองเมืองสู่กษัตริย์แห่งเนเธอแลนด์: เส้นทาง รูปแบบทางวัฒนธรรม และการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ในเนเธอแลนด์ (1464-1848)

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในขณะที่สถานการณ์โควิดทำให้ประชาชนต้องใช้ชีวิตส่วนมากอยู่ที่บ้าน กษัตริย์วิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอแลนด์ (Willem-Alexander) พร้อมครอบครัว กลับมีแผนที่จะเดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศกรีซ  คลื่นความเห็นของประชาชนดัตช์ที่สะท้อนผ่านสื่อและวิพากษ์วิจารณ์การท่องเที่ยวส่วนตัวของกษัตริย์และครอบครัวในยามที่ประชาชนต้องสู้กับไวรัส ทำให้กษัตริย์วิลเลิมต้องยกเลิกการเดินทางและกล่าวผ่านกรมประชาสัมพันธ์ (Rijksvoorlichtingsdienst) ว่า “เราได้ทราบความคิดเห็นของผู้คนในสื่อแล้ว มันรุนแรงและสร้างความกังวลให้กับเรา … เราไม่ต้องการสร้างความเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ ให้กับประชาชนทั้งสิ้น เพื่อรับมือกับไวรัส จำเป็นอย่างยิ่งที่มาตรการต้องได้รับการปฏิบัติตาม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเดินทางของเราไม่มีประโยชน์เลยต่อมาตรการเหล่านี้” ต่อมากษัตริย์วิลเลิม พร้อมกับราชินี โดยสำนักพระราชวัง (Koninklijk Huis)[1] ยืนยันว่าได้ยกเลิกการเดินทางไปยังกรีซแล้ว เพราะการเดินทางครั้งนี้ของกษัตริย์ได้ “ทำร้ายความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อเรา”

เหตุการณ์ข้างต้นทำให้เราเห็นว่า สถาบันกษัตริย์เนเธอแลนด์กับประชาชนยึดโยงกันอย่างเหนียวแน่น และมีรากฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มายาวนาน ถึงแม้ว่าสถาบันกษัตริย์เนเธอแลนด์จะก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งถือว่ามีอายุน้อยกว่าหลายประเทศในยุโรป แต่เชื้อมูลทางวัฒนธรรมที่มีส่วนในการก่อร่างสร้างสถาบันกษัตริย์เนเธอแลนด์นั้นย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 15 จนถึงปลายศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมดัตช์ได้ปลดแอกตนเองออกมาจากสเปน

Continue reading “จากผู้ครองเมืองสู่กษัตริย์แห่งเนเธอแลนด์: เส้นทาง รูปแบบทางวัฒนธรรม และการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ในเนเธอแลนด์ (1464-1848)”

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความ (ไม่) เข้าใจสถาบันกษัตริย์อังกฤษในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย

ดูเหมือนว่าความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรนั้นมักถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนจุดยืนทางการเมืองของนักเคลื่อนไหวคนสำคัญหลายคน เช่น หมอวรงค์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มไทยรักษาชาติ ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวโจนาธาน เฮด ในรายการ BBC Newsnight ว่าประชาชนชาวอังกฤษไม่สามารถด่าทอประมุขของรัฐหรือควีนอลิซาเบธที่สองได้ แต่ผู้สื่อข่าวได้แย้งในรายการทันทีว่านั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง[1] ยิ่งไปกว่านั้น การวิจารณ์กษัตริย์ในประเทศสหราชอณาจักรนั้นมีมาอย่างช้านาน ไม่ได้เพิ่งมามีในศตวรรษนี้

นายวรงค์ เดชกิจวิกรมให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวของช่องบีบีซี (BBC News) ในหัวข้อ ‘ Why are young activists in Thailand protesting against the Monarchy?’ หรือ ทำไมนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ในไทยถึงประท้วงต่อต้านบทบาทของสถาบันกษัตริย์?
Continue reading “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความ (ไม่) เข้าใจสถาบันกษัตริย์อังกฤษในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย”

Land of compromise: สถาบันซาร์รัสเซียกับความพยายามเปลี่ยน(ไม่)ผ่านสู่ประชาธิปไตย

เมื่อภาพการปราบปรามประชาชนผู้รักสงบในการประท้วงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั้งกับรัฐบาล รัฐธรรมนูญ และสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นในเย็นวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๐๒๐ ผู้ศึกษาเรื่องรัสเซียในไทยจำนวนมากต่างนำภาพดังกล่าวไปเปรียบกับเหตุการณ์ “อาทิตย์เลือด” เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๑๙๐๕ ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จักรวรรดิรัสเซียในทันที ในคราวนั้นรัฐบาลซาร์ได้ยิงปราบปรามผู้ประท้วงที่เป็นพระและแรงงานที่เดินเข้าไปอย่างสงบเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อซาร์หรือจักรพรรดิรัสเซียให้ความเป็นธรรมกับแรงงานที่ถูกปลดอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงปฏิรูปเงื่อนไขการทำงานและการเมือง เหตุการณ์อาทิตย์เลือดดังกล่าวได้นำไปสู่คลื่นการปฏิวัติในรัสเซียและดินแดนอาณานิคมที่เรียกว่า“ปฏิวัติ ๑๙๐๕” หรือ “การปฏิวัติรัสเซียครั้งแรก”

ผลของเหตุการณ์นั้นทำให้กษัตริย์รัสเซียปกครองประเทศตามรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญเกิดขึ้น หากแต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยรักษาสถาบันซาร์รัสเซียอยู่มั่นคงสถาพรเมื่อมีการปฏิวัติล้มระบอบกษัตริย์ในที่สุดในการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (ตามปฏิทินจูเลียนซึ่งตรงกับเดือนมีนาคม ๑๙๑๗ ตามปฏิทินปัจจุบัน) และต่อด้วยการปฏิวัติสังคมนิยมเดือนตุลาคมเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน

บทความนี้มุ่งสำรวจตำแหน่งแห่งหนของสถาบันซาร์รัสเซียท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์การเมืองยุโรปและสถานการณ์การเมืองโลก ความพยายามต่อรองของกลุ่มอำนาจเมื่อความเปลี่ยนแปลงในปี ๑๙๐๕ เลี่ยงไม่ได้ และลำดับเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความล้มเหลวของความพยายามรักษาระบอบซาร์ไว้ เมื่อการปกครองในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม ๑๙๑๗ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจบริบทที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น

Continue reading “Land of compromise: สถาบันซาร์รัสเซียกับความพยายามเปลี่ยน(ไม่)ผ่านสู่ประชาธิปไตย”

ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์?

ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์? เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน ความศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์กำลังถูกสั่นคลอน ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติการณ์ส่วนตัวของสมาชิกพระราชวงศ์แต่เพียงเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลผลิตของสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้สถาบันกษัตริย์เข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองตลอดมา สถานะทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ล้นเกินของสถาบันกษัตริย์ ทำให้บทบาททางการเมืองนี้ไม่เคยถูกตั้งคำถามอย่างเป็นวงกว้าง ประชาชนที่มีความกล้าหาญตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ กลับได้รับการคุกคามทั้งทางกฎหมายและวิธีนอกกฎหมาย สถาบันกษัตริย์กลายเป็นพลังที่ส่งอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเมืองไทยอย่างกว้างขวาง แต่ประชาชนคนไทยจำนวนไม่น้อยกลับยอมหลับตาข้างหนึ่งและหลอกตนเองว่าการไม่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ในวันนี้จะทำให้ฝันร้ายผ่านพ้นไปได้ แต่การหนีปัญหาย่อมไม่ใช่ทางออกของปัญหา และปัญหาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ใช่ฝันร้าย แต่คือความเป็นจริง ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนชาวไทยจะต้องร่วมกันอภิปรายถึงปัญหาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา และต่อไปนี้คือเหตุผลว่าทำไมการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วน

Continue reading “ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์?”