ความกตัญญูยังจำเป็นอยู่หรือไม่? เรื่องของความกตัญญู ครอบครัว และรัฐสวัสดิการ


(ความกตัญญูในภาษาจีน 孝 ประกอบมาจากตัวอักษรสองตัว คือคำว่า คนชรา และคำว่า เด็ก สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนสองรุ่น แตกต่างจากแนวคิดเรื่องความกตัญญูแบบพุทธที่เป็นการตอบแทนบุญคุณ)


บทความชิ้นนี้เรียบเรียงขึ้นจากคำร่างประกอบการเสวนาหัวข้อ ‘ความกตัญญูและบทบาทของครอบครัวในสังคมทุนนิยม’ โดยกลุ่ม ‘ไส้ตะเกียงเสวนา’ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ร้านหนังสือ Book: Republic ในการสนทนาครั้งนี้ ผู้เขียนได้อภิปรายถึงความหมายของความกตัญญูและบทบาทของครอบครัวในฐานะพื้นที่ของการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ตามแนวคิดของขงจื่อ ซึ่งต่อไปนี้ผู้เขียนจะเรียกว่า ‘แนวคิดหรู’ (儒家)[1] นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้เสนอแนวคิดรัฐสวัสดิการที่วางอยู่บนฐานของความกตัญญูและครอบครัวแบบดังกล่าวอีกด้วย[2]

  1. ความหมายของความกตัญญู

ก่อนที่ผู้เขียนจะอภิปรายต่อไปว่าความกตัญญูคืออะไร ผู้เขียนอยากชวนให้ผู้อ่านได้ลองเปิดใจให้กว้างและเก็บนิยามของความกตัญญูแบบไทยๆ เอาไว้ในลิ้นชักเสียก่อน เพราะในบทความชิ้นนี้ เราจะมาช่วยกันรื้อฟื้นความหมายของ ‘ความกตัญญู’ ในแบบที่ถูกต้องและควรจะเป็น มากกว่าในแบบที่เป็นอยู่

ความกตัญญู คืออะไร? ผู้อ่านบางท่านอาจเห็นว่าความกตัญญูหมายถึงการเคารพเชื่อฟังและตอบแทนผู้มีพระคุณ หรือที่ในศาสนาพุทธเรียกว่า บุพการีชน คำว่าบุพการีชนแปลตรงตัวว่า ผู้ที่ได้ให้การอุปการะมาก่อน ส่วนคำว่า ‘กตัญญู’ มาจากคำว่า กต (รู้คุณ) + ญู (ผู้) จึงแปลว่า ผู้ซึ่งรู้คุณซึ่งคนอื่นได้ทำไว้ให้แล้ว ดังนั้นใครก็ตามที่มีบุญคุณอุปการะเรามา ไม่ว่าจะในชาติก่อนหรือในชาตินี้ เราต่างต้องมีหน้าที่เคารพเชื่อฟังและตอบแทนผู้มีพระคุณเหล่านั้น บางคนอาจไปไกลถึงขั้นบอกว่าบุพการีชนนั้นรวมถึงครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่ง ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องกตัญญูต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์!

สำหรับผู้เขียนแล้ว นิยามของความกตัญญูแบบนี้ไม่ใช่ความกตัญญูที่ถูกต้อง และที่ผู้เขียนคิดเห็นอย่างนี้ก็เพราะว่า

(1) หัวใจของความกตัญญูไม่ใช่การเคารพเชื่อฟังหรือการตอบแทนผู้มีพระคุณ และ

(2) ความกตัญญูเป็นสิ่งที่สงวนไว้สำหรับผู้ที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามา ความกตัญญูไม่ใช่เรื่องของชาติ ศาสนาหรือพระมหากษัตริย์

ถ้าหัวใจของความกตัญญูไม่ใช่การเคารพเชื่อฟังและการตอบแทนคุณผู้มีพระคุณแล้ว ‘ความกตัญญู’ คืออะไรกันล่ะหรือ?

ผู้เขียนขอยกคำตอบที่ขงจื่อมีต่อเมิ่งอู่ (孟武) ในหลุนอวี่เล่มที่ 2 บทที่ 6 เมิ่งอู่ถามขงจื่อว่า “อะไรคือ ‘ความกตัญญู’ (孝)?” ขงจื่อตอบกลับว่า ความกตัญญูคือ “พ่อแม่ได้แต่เป็นห่วงและเจ็บปวดเมื่อลูกของพวกเขาป่วยไข้”(父母唯其疾之憂)

เมื่อเห็นคำตอบเช่นนี้ ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะรู้สึกว่าขงจื่อไม่ได้ตอบคำถามของเมิ่งอู่ แต่หากเราลองช่วยกันพิจารณาให้ดี คำตอบของขงจื่อนี้สามารถสรุปรวบยอดความหมายของ ‘ความกตัญญู’เอาไว้ได้ทั้งหมด

สำหรับขงจื่อ หัวใจของความกตัญญูไม่ได้อยู่ที่การเคารพเชื่อฟัง ไม่ได้อยู่ที่การตอบแทนบุญคุณ แต่ความกตัญญูเริ่มขึ้นมาจากความรู้สึกรักผูกพันที่พ่อแม่มีให้กับเรา เมื่อเราอยากทำความเข้าใจว่าความกตัญญูคืออะไร ขงจื่อบอกว่าไม่ยากเลย ให้ลองนึกถึงตอนที่เราเจ็บป่วย ความเจ็บปวดของพ่อแม่ตอนที่เห็นเราเจ็บป่วย การดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำตอนที่เราป่วยนั่นแหละ เป็นทั้งรากฐานและหัวใจของความกตัญญู

ความกตัญญูไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่จะเรียกร้องเอาจากลูก หรือเป็นหน้าที่ของลูกที่มีต่อพ่อแม่ ความกตัญญูคือความรักและความห่วงหาอาทรที่แบ่งปันร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก หากว่าเราสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดของพ่อแม่ตอนที่เราป่วยได้ เราย่อมรู้สึกเจ็บปวดตอนที่เห็นพ่อแม่ของเราเจ็บป่วยด้วยเหมือนกัน เมื่อเราสามารถรับรู้และแบ่งปันความรู้สึกเจ็บปวดนี้กับพ่อแม่ของเราได้ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือผลพวงของความกตัญญู เมื่อเราเห็นพ่อแม่ของเราลำบาก เราคงไม่อยากให้พวกเขาลำบาก เวลาที่เราเห็นพ่อแม่ของเราเจ็บป่วย เราคงไม่อยากให้พวกเขาต้องเจ็บป่วย การกระทำของเราที่ตอบสนองต่อความรู้สึกเหล่านั้น เพื่อให้พ่อแม่ไม่ต้องลำบาก เพื่อให้พวกเขาหายจากความเจ็บป่วย นั่นแหละคือความกตัญญู

พอเราเข้าใจความหมายของความกตัญญูเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นว่าความกตัญญูไม่ได้จำกัดแค่พ่อแม่ บางคนอาจจะเป็นลูกกำพร้าที่โตมากับปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา หรือพ่อแม่บุญธรรม แต่ถ้าหากว่าพวกเขาเหล่านั้นได้ให้ความรักความผูกพันกับเรา เป็นห่วงและรู้สึกเจ็บปวดเมื่อเราป่วยไข้ นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของความกตัญญู เราอาจลองคิดดูว่าชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์สามารถรู้สึกเป็นห่วงและเจ็บปวดตอนที่เราป่วยไข้หรือไม่ คำตอบก็คือไม่ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมความกตัญญูจึงเป็นสิ่งที่สงวนไว้สำหรับผู้ที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามา ความกตัญญูไม่ใช่เรื่องของชาติ ศาสนา หรือพระมหากษัตริย์[3]

ทั้งหมดที่ผู้เขียนกล่าวมานี่คือหัวใจและความหมายของความกตัญญู และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมในคำสอนของขงจื่อและเมิ่งจื่อ สิ่งที่นิยามความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกจึงไม่ใช่ความกตัญญูโดยตัวมันเอง และไม่ใช่การเคารพเชื่อฟังอีกด้วย แต่เป็น ‘ความรักผูกพัน’ (親, affection)[4]

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางท่านอาจรู้สึกว่า อันที่จริงแล้ว ความกตัญญู ยังมีมิติอื่นๆ อีกไม่ใช่หรือ และก็เป็นขงจื่อเองไม่ใช่หรือที่บอกว่าให้เราเคารพเชื่อฟังพ่อแม่?

คำถามนี้มีส่วนที่ถูกต้องอยู่ นั่นคือ ความกตัญญูยังมีมิติของความเคารพ (敬) อยู่ด้วย ความรู้สึกรักผูกพันของเราที่มีต่อพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเรามา แตกต่างจากความรู้สึกรักผูกพันที่เรามีต่อเพื่อนฝูง ต่อสามีภรรยา นั่นคือมันมีมิติของความเคารพรัก จื่อโหยว (子游) ลูกศิษย์คนหนึ่งของขงจื่อ ถามเขาว่าความกตัญญูคืออะไร ขงจื่อตอบว่า ในปัจจุบันนี้ ความกตัญญูหมายถึงการดูแลเลี้ยงดู แต่สุนัขหรือม้าก็สามารถดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ของมันได้เหมือนกัน ถ้าไม่มีความเคารพอยู่ด้วยแล้ว เราจะแยกแยะการดูแลเลี้ยงดูนั้น (ออกจากสิ่งที่สุนัขหรือม้าก็ทำ) ได้อย่างไรกัน[5]

แต่ความเคารพนั้นคืออะไรล่ะ คือการเชื่อฟังคำสั่งอย่างเชื่องๆ หรือไม่?

ผู้เขียนขอตอบคำถามนี้ด้วยการหยิบยกที่เฉิงจื่อ (曾子) ลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของขงจื่อถามเขาว่า ‘การเชื่อฟังคำสั่งของพ่อแม่อย่างเชื่องๆ นั้น ถือว่าเป็นความกตัญญูได้หรือไม่’ ขงจื่อตอบกลับทันทีว่า นี่เป็นคำพูดไร้สาระอะไรกัน! เขาพูดย้ำอย่างนี้ถึงสองครั้ง นี่เป็นคำพูดไร้สาระอะไรกัน! ก่อนจะตอบว่า ถ้าพ่อแม่กำลังทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ลูกมีหน้าที่โต้แย้งทัดทานพ่อแม่ เช่นเดียวกันกับขุนนางที่มีหน้าที่โต้แย้งทัดทานพระมหากษัตริย์ที่ปกครองอย่างไม่ถูกต้อง[6] บทสนทนานี้มีบันทึกอยู่ในตำราว่าด้วยความกตัญญู (孝經)

ขงจื่อไม่ได้เรียกร้องให้เราเคารพเชื่อฟังพ่อแม่อย่างเชื่อๆ แต่เรากตัญญูต่อพ่อแม่ของเราด้วยการเคารพเชื่อฟังในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม[7] และหากเรารู้ว่าสิ่งที่พ่อแม่กำลังทำอยู่นั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม หน้าที่ของลูกที่มีความกตัญญูก็จะต้องหาทางป้องกันไม่ให้พวกเขาทำสิ่งเหล่านั้น หรือโต้แย้งทัดทานเพื่อให้พวกเขาตกผลึกกับตนเองได้ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง

กล่าวโดยสรุป ความกตัญญูมีหัวใจคือความรักผูกพัน เราแบ่งปันความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อเราเห็นพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเรามาเจ็บปวด เรามีความสุขเมื่อเราเห็นพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเรามามีความสุข เมื่อรู้จักแบ่งปันความรู้สึกซึ่งกันและกันจึงเกิดการดูแลเอาใจใส่ ในขณะเดียวกันความรักผูกพันก็นำไปสู่ความเคารพรัก คือเชื่อฟังในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมและรู้จักทัดทานในสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม

ถ้าหากมีผู้ถามว่า ความกตัญญูเช่นนี้ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ผู้เขียนตอบได้โดยไม่ลังเลเลยว่า ความกตัญญูยังจำเป็นอยู่ และความกตัญญูแบบนี้แหละที่ควรจะเป็นรากฐานครอบครัวและสังคม

ผมขอทิ้งท้ายบทความส่วนแรกนี้ด้วยข้อความจาก ‘หลู่ว์ซื่อชุนชิว’ (呂氏春秋) ที่เขียนขึ้นในปลายสมัยรัฐศึก

…พ่อแม่ผูกพันกับลูกเหมือนที่ลูกผูกพันกับพ่อแม่ พวกเขาเหมือนสองส่วนในร่างกายเดียว พวกเขามีลมหายใจต่างกันแต่มีปราณเดียวกัน ลูกเหมือนกับดอกไม้หรือผลไม้ พ่อแม่เหมือนกับรากและแก่นกลางของต้นไม้ใหญ่ แม้ว่าพวกเขาจะต้องอาศัยอยู่คนละแห่งหน แต่ความรู้สึกของพวกเขาเชื่อมโยงถึงกัน ความปรารถนาของพวกเขาส่งต่อถึงกัน พวกเขาช่วยเหลือกันในยามเจ็บป่วยและทุกข์ยาก พวกเขารับรู้ได้ถึงความห่วงใยและกระวนกระวายใจของอีกฝ่าย เมื่อมีชีวิตอยู่พวกเขามีความยินดีต่อกันและกัน เมื่อตายลงพวกเขาอาลัยถึงกันละกัน นี่แหละคือความหมายของคำเปรียบเปรยที่ว่า พ่อแม่ลูกใกล้ชิดกันเหมือนดั่งเลือดเนื้อและกระดูก…[8]

  • บทบาทของครอบครัว

ครอบครัวคืออะไร? บทบาทของครอบครัวคืออะไร? ผู้เขียนเห็นว่าคำตอบต่อคำถามเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างกัน ตราบใดที่ครอบครัวยังเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อสองพันปีกว่าปีก่อน ในปัจจุบัน หรือว่าในอนาคต ครอบครัวคือพื้นที่ให้เราได้หัดเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ เราเรียนรู้ที่ทางของเราในครอบครัว ก่อนที่จะออกไปสู่สังคมที่กว้างใหญ่ขึ้นเพื่อเรียนรู้ที่ทางของเราในโลก

เราเรียนรู้ที่จะรักคนอื่นครั้งแรกเมื่อไหร่? คำตอบก็คือในครอบครัว เราเรียนรู้ที่จะไม่ถูกใจสิ่งที่คนอื่นทำกับเราครั้งแรกเมื่อไหร่?คำตอบก็คือในครอบครัว เราเรียนรู้ที่จะรับมือกับหลายสิ่งที่เราจะเจอเมื่อเราโตขึ้นได้จากที่ไหน? คำตอบก็คือในครอบครัว

ครอบครัวจึงมีบทบาทเป็นพื้นที่ฝึกฝนความเป็นมนุษย์ของเรา ถ้าเราล้มเหลวที่จะเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ในครอบครัวของเราเอง เราจะสามารถรักษาความเป็นมนุษย์ของเราในสังคมได้หรือ? พ่อแม่ที่ไม่ใช้ความพยายามเรียนรู้ที่จะให้ความรักกับลูก ไล่ลูกออกจากบ้านแค่เพราะทะเลาะกัน จะสามารถเป็นมนุษย์ที่ดีได้หรือ? ลูกที่ไม่ใช้ความพยายามเรียนรู้ที่จะให้ความรักกับพ่อแม่ ไม่สนใจสภาพความเป็นอยู่ของพ่อแม่เพียงแค่เพราะทะเลาะกัน แต่พออยู่นอกบ้าน เขาป่าวประกาศไปทั่วว่าเขารักคนอื่นในโลกเหมือนพี่น้อง เขาสามารถทำได้จริงหรือ? บางคนไม่ได้สนใจใยดีพ่อแม่หรือลูกของตัวเอง แต่ประกาศไปทั่วว่าพระมหากษัตริย์เป็นพ่อแม่ของเขา ความรักนั้นเป็นของจริงหรือ?

หากจะพูดกันในเรื่องความขัดแย้ง ครอบครัวก็ไม่ต่างจากสังคมภายนอก เป็นเรื่องปกติที่คนในครอบครัวอาจจะทะเลาะเบาะแว้งกัน บางครั้งเราอาจจะมีความคิดทางการเมืองไม่ตรงกันกับพ่อแม่ หรือบางครั้งเราเลือกทำสิ่งที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย พ่อแม่ก็อาจจะคิดไม่เหมือนเรา และเลือกทำในสิ่งที่เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง การเยียวยาความขัดแย้งเหล่านี้ใช้เวลาและใช้ความอดทน แต่ครอบครัวต่างจากสังคมข้างนอกตรงที่ถึงแม้เราจะทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน ไม่เข้าใจกัน แต่โดยพื้นฐานที่สุดแล้ว เรายังมีหรือเคยมีความรักความผูกพันต่อกัน สิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถคาดหวังได้โดยอัตโนมัติจากคนแปลกหน้า

ที่ผู้เขียนกล่าวมานี้ บางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะบางครั้งครอบครัวอาจจะไม่ใช่หรือพื้นที่ปลอดภัยหรือว่าเซฟโซน บางท่านอาจจินตนาการไม่ออกว่า เราจะสามารถเรียนรู้ที่จะให้ความรักซึ่งกันและกันได้อย่างไรในสภาพครอบครัวอย่างนั้น แต่ถึงอย่างนั้น เราควรพิจารณาว่าในครอบครัวที่พ่อแม่ลูกถึงขั้นทะเลาะกัน ไม่มองหน้ากัน ไม่เผาผีกัน พวกเขาไม่เคยรักและผูกพันกันมาก่อนหรือ? พวกเขาเกิดมาก็ทะเลาะกัน ไม่มองหน้ากัน ไม่เผาผีกันตั้งแต่แรกเลยหรือ?

ครอบครัวทำให้เราเรียนรู้ว่าถึงแม้เราจะคิดเห็นไม่เหมือนกับคนอื่น แต่เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน แม้โดยพื้นฐานแล้วทุกคนในครอบครัวมีความรับผิดชอบพอๆ กันในการเรียนรู้ที่จะปรับตัวทำความเข้าใจคนอื่น แต่ตามความคิดแบบหรู ถ้าเราคิดว่าเรารู้ว่าอะไรผิดอะไรชอบมากกว่าคนอื่นในครอบครัวของเรา เรายิ่งมีหน้าที่อันยิ่งใหญ่กว่าในการเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขา

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะเราย่อมไม่สามารถคาดหวังให้คนที่ไม่รู้จักว่าอะไรผิดอะไรชอบสามารถสำนึกสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง – คนเราจะสามารถสะท้อนความผิดพลาดของตนเองได้อย่างไร ถ้าไม่มีคนทำหน้าที่เป็นกระจกให้?

ข้อคิดเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนอยากยกตัวอย่างเป็นนิทานเกี่ยวบุคคลในอุดมคติคนหนึ่งของขงจื่อ คือ พระเจ้าซุ่น

ซุ่นเป็นตัวอย่างของคนที่เรียกได้ว่า ‘ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน’ อย่างแท้จริง ชีวิตของเขาไม่ต่างจากซินเดอเรลล่า เพราะหลังจากแม่เขาตาย พ่อซึ่งแก่ชราและตาบอดก็แต่งงานใหม่แทบจะทันที หลังจากนั้นพ่อของเขาก็มีลูกชายอีกคนกับแม่เลี้ยง ทั้งน้องและแม่เลี้ยงต่างก็อิจฉาริษยาซุ่นที่ได้ดิบได้ดี เพราะผู้คนต่างเลื่อมใสยกให้เขาเป็นผู้นำเนื่องจากสามารถยุติข้อพิพาทของคนในชนเผ่าได้อยู่เสมอ ต่อมาเมื่อพระเจ้าเหยาตั้งให้ซุ่นเป็นที่ปรึกษา น้องและแม่เลี้ยงยิ่งทวีความอิจฉาริษา พวกเขาวางแผนลอบสังหารซุ่นครั้งแล้วครั้งเล่า มีครั้งหนึ่งพวกเขาขุดหลุมหลอกให้ซุ่นลงไปเพื่อจะฝังเขาทั้งเป็น แต่มีคนเอาเรื่องมาบอกซุ่นก่อน แทนที่เขาจะหนีไป ซุ่นกลับแอบลงหลุมแล้วขุดทางหนีเอาไว้ก่อน เมื่อถึงวันก่อเหตุ เขาก็ยอมลงไปในหลุมแล้วเอาชีวิตรอดออกมาได้ แม้จะโดนปฏิบัติเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ซุ่นก็ยังปฏิบัติต่อน้องอย่างที่พี่คนนึงควรปฏิบัติต่อน้อง และปฏิบัติต่อแม่เลี้ยงอย่างที่ลูกคนนึงปฏิบัติต่อแม่ เขาทำสิ่งเหล่านี้จนนานวันเข้าทั้งน้องและแม่เลี้ยงต่างก็สำนึกผิดในความเลวร้ายของพวกเขา เพราะการกระทำของซุ่นช่วยกระตุ้นเตือนและเปลี่ยนแปลงจิตใตของพวกเขาให้รู้จักว่าอะไรคือสิ่งที่ผิดและอะไรคือสิ่งที่ชอบ

นิทานเรื่องนี้อาจจะฟังดูเหลือเชื่อ แต่หัวใจของนิทานเรื่องนี้คือแนวคิดที่ว่า คนที่รู้ผิดชอบชั่วดี มีหน้าที่ทางคุณธรรมมากกว่าในการเปลี่ยนแปลงคนที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ทำหน้าที่เป็นกระจกให้พวกเขาสะท้อนความผิดพลาดของตนเอง

หากเป้าหมายของขงจื่อและแนวคิดหรูคือการสร้าง ‘ชุมชนมนุษยธรรม’ ครอบครัวก็เป็นหน่วยย่อยที่สุดของชุมชนที่มีมนุษยธรรม ครอบครัวไม่ใช่เพียงแค่ที่ซึ่งคนต่างมาอยู่อาศัยกันในบ้านเดียวกัน ครอบครัวเป็นพื้นที่ฝึกฝนและเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ เราสามารถนำเอาสิ่งที่เราเรียนรู้ในครอบครัวไปใช้กับโลกภายนอก เราเรียนรู้ที่จะดูแลใส่ใจคนที่อ่อนแอในครอบครัวของเรา เพื่อที่เราจะได้รู้จักดูแลเอาใจใส่คนอ่อนแอคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวของเราด้วย หรือแม้แต่ในครอบครัวที่อาจจะไม่ค่อยดีนัก เราสามารถนำเอาสิ่งที่เราเรียนรู้ในครอบครัวไปใช้กับโลกภายนอกได้เช่นกัน เราเรียนรู้ที่จะปรับความเข้าใจ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างจากเรา เพื่อที่เราจะได้รู้จักปรับความเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างจากเราในสังคมภายนอก ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ เพราะมันย่อมง่ายกว่าที่เราจะเอาใจใส่ดูแลคนที่เรารักอยู่แล้ว หรือปรับความเข้าใจกับคนที่เราผูกพันอยู่แล้ว ก่อนที่เราจะหัดทำสิ่งเหล่านี้กับคนที่เราไม่รู้จัก

มีคนเคยถามเมิ่งจื่อว่า มนุษยธรรมคืออะไร คำตอบของเมิ่งจื่อก็คือ มนุษยธรรมคือการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์[9] และหากเราถามต่อไปว่า “การเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์คืออะไร” คำตอบของเมิ่งจื่อก็คือการรู้จักขยายความอ่อนไหวต่อความทุกยากทรมานของคนอื่น จากสิ่งที่เราทนไม่ได้ ไปสู่สิ่งที่เคยทนได้[10] เช่น เราอาจจะทนไม่ได้ที่เห็นคนรักของเขาเจ็บปวดโดยไม่ต้องมีใครมาบอก หากเราสามารถความอ่อนไหวนี้ไปสู่คนอื่นๆ ที่เราอาจจะเคยทนทานได้ ไปสู่คนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก นี่คือจุดเริ่มต้นของมนุษยธรรม

ผู้เขียนเห็นว่าความกตัญญูและบทบาทของครอบครัวดังที่ได้กล่าวมานี้คือรากฐานของการสร้างรัฐสวัสดิการที่ยั่งยืน ครอบครัวไม่ใช่อุปสรรคในการมีรัฐสวัสดิการ แต่เป็นส่วนช่วยหนุนเสริมรัฐสวัสดิการให้มีมิติที่มากไปกว่าการแลกเปลี่ยนสินค้า
ขงจื่อเคยบอกว่า “ความกตัญญูเป็นรากฐานของมนุษยธรรม[11] หากครอบครัวเป็นพื้นที่ให้เราได้เรียนรู้มนุษยธรรม ความรักผูกพันที่เรามีต่อคนในครอบครัวจะไม่เป็นรากฐานของความรักเอื้ออาทรที่เรามีต่อคนอื่นในสังคมได้อย่างไร? ในขณะเดียวกันถ้าหากเรารักผูกพันแต่คนในครอบครัวของเรา แต่ไม่รู้จักขยายความรักนั้นไปสู่ความรักเอื้ออาทรต่อคนอื่นในสังคม ความรักผูกพันนั้นจะเรียกว่ามนุษยธรรมได้อย่างไรกัน?

  • ความกตัญญู ครอบครัว และรัฐสวัสดิการ

ในหนังสือว่าด้วยธรรมเนียมและพิธีกรรม หรือ หลี่จี้ (禮記) มีตอนหนึ่งที่ขงจื่อได้กล่าวถึงสังคมอุดมคติของเขาเอาไว้ว่า

…เมื่อเต๋าอันยิ่งใหญ่(大道)ยังดำรงอยู่นั้น ดินแดนใต้ฟากฟ้านี้เป็นของส่วนรวม คนเลือกผู้ที่มีความสามารถและมีคุณธรรมมาปกครองบ้านเมือง ประชาชนอยู่ร่วมกันฉันท์มิตร พวกเขาไม่เพียงดูแลแค่ญาติหรือลูกของตน แต่ยังดูแลดูญาติและลูกของผู้อื่นด้วย คนชราได้พักผ่อน คนยังมีกำลังได้ทำงาน เด็กได้เจริญเติบโต ผู้คนในสังคมดูแลคนที่เป็นม่าย เด็กๆ ที่กำพร้าพ่อแม่ คนชราที่ไม่มีลูกหลาน และคนพิการ ผู้ชายมีหน้าที่การงาน ผู้หญิงมีครอบครัว ผู้คนไม่รู้สึกชอบใจหากมีใครทิ้งเงินทองลงกับพื้น แต่พวกเขาก็ไม่รู้สึกอยากจะเก็บมาเป็นของตัวเอง ผู้คนทำสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตนเอง…[12]

ขงจื่อยังอธิบายต่อไปว่า ในอดีตอันไกลโพ้นสังคมเคยเป็นเช่นนี้ แต่ต่อมาเมื่อเกิดสถาบันครอบครัวและเกิดระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล คนเริ่มรู้สึกเห็นแก่ตัวมากขึ้น และหันมาดูแลเอาใจใส่เฉพาะคนในครอบครัวของตัวเอง เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าทั้งขงจื่อและคาร์ล มาร์กซ์แม้จะมีชีวิตอยู่ห่างกันเป็นพันๆ ปี แต่พวกเขาเห็นปัญหาเดียวกันและมีสังคมในอุดมคติที่ไม่แตกต่างกันสักเท่าใดนัก ความต่างระหว่างขงจื่อกับคาร์ล มาร์กซ์ก็คือ มาร์กซ์เห็นว่าเราควรจะทำลายระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลลงและสถาบันครอบครัวลงไปทั้งหมด แล้วสังคมแบบคอมมูนจะสามารถทำหน้าที่แทนครอบครัวได้และยังดีกว่าอีกด้วย แต่ขงจื่อกลับเห็นว่าสถาบันครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาด้วยบริบททางประวัติศาสตร์ของมัน และมันจะไม่หายไปไหน เราสามารถใช้สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในการบรรลุสังคมอุดมคติที่คนรู้จักดูแลแม่คนอื่นเหมือนแม่ของตัวเอง และลูกของคนอื่นเหมือนลูกของตนเองได้ ด้วยการนำสิ่งที่เราเรียนรู้จากในครอบครัวของเรานั้น ขยายออกไปสู่สังคมและโลกภายนอก

ด้วยเหตุนี้ ความรักผูกพันจึงเป็นรากฐานของความกตัญญู จากนั้นความรักผูกพันและความกตัญญูของที่มีอยู่ในครอบครัวจึงเป็นแบบอย่างให้กับความเอื้ออาทรที่เรามีให้กับคนอื่นในสังคม เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราย่อมเห็นว่าการดูแลคนที่อ่อนแอกว่าในสังคมเป็นส่วนต่อขยายของความกตัญญูไปโดยอัตโนมัติ

จาง จ้าย (張載) ซึ่งเป็นปัญญาชนหรูในสมัยราชวงศ์ซ่ง แสดงให้เห็นผ่านงานเขียนของเขาที่ชื่อ ‘จารึกตะวันตก’ (西铭) ว่าความกตัญญูในแบบที่บริสุทธิ์ที่สุดนั้นไม่ใช่เพียงแค่การดูแลพ่อแม่ของตัวเองอีกต่อไป ความกตัญญูคือการเห็นสวรรค์และแผ่นดินเป็นพ่อแม่ และปฏิบัติต่อคนและสรรพสิ่งในจักรวาลราวกับพวกเขาเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

จางจ้ายกล่าวว่า ‘…สวรรค์คือพ่อและแผ่นดินคือแม่ รวมถึงบรรดาสิ่งมีชีวิตเล็กน้อยที่ดำรงอยู่ในนั้น จักรวาลเป็นร่างกายของข้า ผู้คนทั้งหลายในโลกและสรรพสิ่งต่างเป็นเพื่อนร่วมทางของข้า ผู้ปกครองคือลูกชายคนโตของพ่อและแม่ ข้ามีความเคารพกับคนที่แก่ชรา ดูแลพวกเขาอย่างที่คนชราในครอบครัวของตนเองควรได้รับ ดูแลแม้กระทั่งคนที่ไม่มีพี่น้อง ไม่มีลูก ไม่มีภรรยา ไม่มีสามี และแม้กระทั่งคนที่ไม่มีใครให้เป็นที่พักพิงสิ่งเหล่านี้คือความหมายของความกตัญญูในแบบที่บริสุทธิ์ที่สุด…”[13]

ในความคิดของจางไจ้ ผู้ปกครองคือลูกชายคนโตของพ่อและแม่ เมื่อเป็นลูกชายคนโตก็มีหน้าที่ในการดูแลความเป็นอยู่ของน้องๆ ซึ่งก็คือประชาชนและสรรพสิ่งต่างๆ เมื่อทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แล้ว จึงจะเรียกได้ว่าเขามีความกตัญญูต่อพ่อและแม่ ไม่ใช่เพียงเท่านั้น พวกเราก็เช่นกัน ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมที่ถือเอาคนอื่นๆ เป็นสมาชิกของครอบครัวที่มีสวรรค์เป็นพ่อและแผ่นดินเป็นแม่ เราก็ต้องมีส่วนช่วยดูแลพี่น้องของเราเหมือนกัน

แนวคิดรัฐสวัสดิการในโลกตะวันตกถือกำเนิดขึ้นมาในห้วงเวลาที่รัฐสมัยใหม่ทำลายบทบาทของศาสนจักรในด้านสังคมสงเคราะห์ลงไป หรือสถานะของศาสนจักรในสังคมแบบเก่าเสื่อมถอยและไม่สามารถให้การดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป รัฐจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่แทนศาสนจักร ไม่ว่าจะการศึกษา การพยาบาล หรือการสังคมสงเคราะห์ต่างๆ ประวัติศาสตร์นี้ต่างจากแนวคิดแบบขงจื่อเรื่องสวัสดิการที่ไม่มีการแบ่งแยกกันระหว่างเอกชน ครอบครัว หรือสังคม แนวคิดเรื่องสวัสดิการสังคมแบบขงจื่อทำให้รัฐโบราณในเอเชียตะวันออก เช่น จีนหรือเกาหลี มีหน้าที่ด้านการให้สวัสดิการหรือสังคมสงเคราะห์ควบคู่ไปกับบทบาทของเอกชนและครอบครัวมาเป็นเวลานานแล้ว สมาคมแซ่ มูลนิธิเทียนฟ้า หรือแม้แต่องค์กรอย่างป่อเต้กตึ๊งก็เกิดขึ้นจากแนวคิดเช่นนี้เอง

หน้าที่ของรัฐในการให้สวัสดิการจึงไม่ใช่เรื่องแปลกปลอมของสังคมเอเชียตะวันออก ผมขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจว่าในประเทศไทยปัจจุบัน ผู้หญิงมีสิทธิ์ลาคลอดได้ ๙๘ วัน​ แต่ทาสหลวงผู้หญิงในสมัยพระเจ้าเซจงของเกาหลีสามารถลาหลังคลอดได้​ ๑๐๐​ วัน[14]​ และในอีก​ ๔​ ปีต่อมาจะมีพระราชโองการอีกฉบับให้ลาก่อนคลอดได้​อีก​ ๑ เดือน​ รวมทั้งหมด​ ๑๓๐ วัน และหลังจากนั้นอีก​ ๔ ปี​ จะมีพระบรมราชโองการ​อีกฉบับให้ทาสชายที่เป็นสามีลาไปดูแลภรรยา​ได้​ ๓๐ วัน ไม่ใช่เรื่องน่าทึ่งหรอกหรือที่รัฐในสังคมศักดินาที่มีระบบทาสเข้มข้นอย่างเกาหลี ทาสยังมีวันลามากกว่าแรงงานผู้หญิงในโลกทุนนิยม?

แม้จะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน แต่รัฐสวัสดิการตะวันตกก็มีพัฒนาการในทางที่เอกชนมีส่วนร่วมอยู่โดยเสมอ เราต้องไม่ลืมว่านอกจากรัฐแล้ว สหภาพแรงงานก็คือองค์กรเอกชนที่มีส่วนในการเรียกร้องและยกระดับสวัสดิการแรงงาน การพูดถึงรัฐสวัสดิการโดยละเลยบทบาทของเอกชน ไม่ว่าจะสหภาพแรงงาน หรือแม้แต่งานด้านสังคมสงเคราะห์ของมูลนิธิต่างๆ จึงเป็นเรื่องประหลาด ราวกับว่าแยกไม่ออกว่าอะไรคือรัฐสวัสดิการ หรืออะไรคือรัฐคอมมิวนิสต์ที่รัฐเข้ามาทำหน้าที่ด้านสวัสดิการทุกอย่างโดยเบ็ดเสร็จ

ผมอยากชี้ให้เห็นด้วยว่า ในประเทศตะวันตกที่ระบบรัฐสวัสดิการความเข้มแข็ง เช่น ประเทศในภาคพื้นยุโรป เราจะเห็นว่าประเทศเหล่านี้มีแนวคิดบางอย่างที่ใช้ในเชื่อมโยงคนในสังคมเขาด้วยกัน การสร้างระบบสวัสดิการที่วางอยู่บนฐานของการแลกเปลี่ยนสินค้า การทำให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคมเป็นเพียงแค่ลิงค์ในตาราง Excel ไม่สามารถรักษารัฐสวัสดิการให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ในฝรั่งเศสมีสิ่งที่เรียกว่า ความสมัครสมานฉันท์ หรือ โซลิดาริตี้ solidarity ซึ่งทำให้คนฝรั่งเศสรู้สึกว่าทุกคนในสังคมกำลังแบ่งเบาความทุกข์ยากของคนอื่น คนที่รวยกว่าช่วยแบ่งเบาภาระของคนที่อ่อนแอกว่า คนรุ่นปัจจุบันที่แข็งแรงกว่าช่วยแบ่งเบาภาระของคนชราที่ในอดีตเคยทำงานมาก่อน สิ่งเหล่านี้สร้างความเชื่อใจในคนระหว่างรุ่น

รัฐสวัสดิการไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ถ้าคนในสังคมคิดแต่ว่า ฉันได้สวัสดิการนี้ เพราะฉันจ่ายเงินไปมากเท่านี้ คนพวกนั้นจ่ายเงินน้อย ดังนั้นก็ควรจะได้สวัสดิการน้อยไปด้วย ในทางกลับกัน แนวคิดเรื่องความสมัครสมานฉันท์ก็ดูจะเริ่มสั่นคลอนเมื่อต้องรวมผู้อพยพที่ต่างผิวสี ต่างวัฒนธรรมเข้าไปด้วย คนจำนวนหนึ่งเริ่มไม่รู้สึกว่าเขาสามารถสร้างความสมัครสมานฉันท์กับคนที่แตกต่างจากตัวเองได้มากขนาดนั้นอีกต่อไป ในยุโรปจึงเกิดกระแสแบบฝ่ายขวาที่มีความไม่ไว้วางใจระหว่างคนท้องถิ่นและคนอพยพ พวกเขารู้สึกว่าคนอพยพกำลังมาแย่งสวัสดิการของพวกเขา

คำถามกลับมาสู่เราว่า ถ้าเราต้องการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาในไทย เราจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อในระหว่างคนในสังคมได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่า รัฐสวัสดิการไม่ใช่เวทีให้แต่ละคนไขว่ฟ้าคว้าดาว ไม่ใช่เวทีผลักดันให้แต่ละคนได้เฉิดฉาย แต่มันคือพื้นที่ซึ่งคนในสังคมเฉลี่ยความทุกข์และความสุขร่วมกัน เราจะทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคมภายใต้รัฐสวัสดิการไม่ใช่เพียงแค่ลิงค์ในตาราง Excel และไม่ใช่แค่การแลกเปลี่ยนสินค้า เราจะทำอย่างไรให้คนในสังคมรู้สึกเหมือนพวกเขากำลังช่วยกันแบ่งเบาความทุกข์ยากของคนอื่น

ผมเองเห็นว่าความกตัญญูและบทบาทของครอบครัวดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วสามารถเป็นรากฐานของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อในระหว่างคนในสังคมได้ เราทำให้คนในสังคมเห็นได้ว่า สังคมและโลกใบนี้ก็คือครอบครัวขนาดใหญ่ที่สมาชิกรู้จักเฉลี่ยความทุกข์และแบ่งปันความสุขร่วมกัน เมื่อผู้คนในสังคมช่วยกันรื้อฟื้นความหมายที่แท้จริงของความกตัญญูและขยายความรักความผูกพันจากในครอบครัวไปสู่ความเอื้ออาทรในสังคมข้างนอก รัฐสวัสดิการจึงจะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน


[1] ขงจื่อไม่ได้มองตนเองว่าเป็นผู้ ‘ริเริ่ม’ แนวคิดใหม่ แต่เป็นผู้ ‘ส่งต่อและสืบทอด’ ธรรมเนียมทางภูมิปัญญาเก่าแก่ที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว (子曰述而不作 – “ท่านอาจารย์กล่าวว่า (ตน) ส่งต่อและสืบทอด แต่มิได้ริเริ่มขึ้นใหม่”, หลุนอวี่ เล่มที่ 7 บทที่ 1) ธรรมเนียมดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า หรู (儒) โดยคำว่า ‘หรู’ นั้น มีความหมายตรงตัวคือผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมและธรรมเนียม (禮) และขงจื่อนำคำว่าหรูมาตีความใหม่ ทำให้ปัญญาชนหรูไม่เพียงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมและธรรมเนียม แต่ยังมีหน้าที่พิทักษ์ ‘พิธีกรรมและธรรมเนียมที่ถูกต้อง’ ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างชุมชนที่มีมนุษยธรรม (仁) สำหรับขงจื่อหรือแม้แต่คนที่สืบทอดความคิดของเขา ไม่มีใครเห็นว่าขงจื่อเป็น ‘ศาสดา’ หรือผู้ริเริ่มแนวคิดดังกล่าว (ในทางตรงกันข้าม พวกเขาเห็นว่าขงจื่อคือผู้ฟื้นฟูธรรมเนียมเก่าแก่ที่สูญหาย) การเรียก ‘แนวคิดหรู’ ว่า Confucianism ตามแบบภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก

[2] สำนักข่าวประชาไท เป็นผู้บันทึกงานเสวนาเอาไว้ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ https://fb.watch/qRA9OUTbuL/

[3] คำว่า กตัญญูในภาษาจีน 孝 ซึ่งประกอบมาจากตัวอักษรสองตัว คือคำว่า คนชรา เป็นรูปคนแก่ผมยาวหลังโก่ง และ คำว่า เด็ก ความกตัญญูในความหมายแบบจีนจึงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่น มากกว่า‘การตอบแทนบุญคุณของคนที่ให้การอุปการะ’ตามนิยามความกตัญญูแบบพุทธ

[4] เมิ่งจื่อยังอธิบายต่อไปด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ที่อยู่ใต้ปกครองไม่ใช่ความกตัญญู ไม่ใช่ความจงรักภักดี แต่คือความถูกต้องชอบธรรม(義, righteousness) ความถูกต้องชอบธรรมคืออะไร คือเมื่อผู้ปกครองกระทำผิด ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองจะต้องไม่หวาดกลัวอำนาจของผู้ปกครองและหาทางแก้ไขความไม่ถูกต้องชอบธรรมนั้น ไม่ว่าจะด้วยการตักเตือน ทัดทาน หรือวิพากษ์วิจารณ์ก็ตาม เราจะเห็นว่าสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ล้วนผิดที่ผิดทาง เพราะสิ่งที่นิยามความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆ ในสังคมล้วนผิดเพี้ยน – อ่านบทวิจารณ์เรื่องนี้ได้ในบทความของผู้เขียนเรื่อง “เมื่อพระมหากษัตริย์เป็นพ่อและข้อผูกมัดทางคุณธรรมของผู้จงรักภักดี” เว็บไซต์ The 101 World

[5] 子游問孝。子曰:「今之孝者,是謂能養。至於犬馬,皆能有養;不敬,何以別乎 หลุนอวี่เล่มที่ 2 บทที่ 7

[6]  諫諍:  曾子曰:「若夫慈愛、恭敬、安親、揚名,則聞命矣。敢問子從父之令,可謂孝乎?」子曰:「是何言與,是何言與!昔者天子有爭臣七人,雖無道,不失其天下;諸侯有爭臣五人,雖無道,不失其國;大夫有爭臣三人,雖無道,不失其家;士有爭友,則身不離於令名;父有爭子,則身不陷於不義。故當不義,則子不可以不爭於父,臣不可以不爭於君;故當不義,則爭之。從父之令,又焉得為孝乎!」

[7] ความกตัญญูยังหมายถึงการถ่ายทอดและต่อยอดสิ่งถูกต้องชอบธรรมซึ่งพ่อแม่ของเราได้ทำเอาไว้ ขงจื่อกล่าวไว้ใน ‘หลักทางสายกลาง’ (中庸) บทที่ 19 ว่า คนที่กตัญญูนั้น ย่อมสืบทอดปณิธานและถ่ายทอดงานของบิดา (夫孝者:善继人之志,善述人之事者也)

[8] 故父母之於子也,子之於父母也;一體而兩分;同氣而異息。若草莽之有華實也,若樹木之有根心也。雖異處而相通,隱志相及,痛疾相救,憂思相感,生則相歡,死則相哀。此之謂肉之親。《呂氏春秋》

[9] “仁也者,人也。”- 孟子·尽心章句下·第十六节

[10] อยู่ในบทสนทนาระหว่างเมิ่งจื่อและกษัตริย์ฮุ่ยแห่งแคว้นเหลียง(บท 梁惠王上) เริ่มมาจากเหตุการณ์ในขณะที่กษัตริย์ฮุ่ยกำลังนั่งอยู่ในวังแล้วได้ยินเสียงคนลากวัวผ่านไปที่ด้านล่าง จึงถามคนผู้นั้นว่าเขากำลังลากวัวไปทำอะไร พอได้คำตอบว่าวัวกำลังจะถูกนำเอาไปบูชายัญ เขาจึงสั่งให้หยุด เมิ่งจื่อถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น กษัตริย์ฮุ่ยตอบว่าเพราะเขาสะเทือนใจที่เห็นวัวจะถูกนำไปฆ่า เมิ่งจื่อถามว่าแล้วกษัตริย์ฮุ่ยเห็นอย่างไรกับชีวิตประชาชนของตัวเอง การมีความสะเทือนใจต่อสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่มนุษยธรรมคือการขยายความสะเทือนใจนั้นไปยังสิ่งอื่นๆ

[11] 孝弟也者,其為仁之本與 หลุนอวี่ เล่มที่ 1 บทที่ 2

[12] 大道之行也,天下为公,选贤与能,讲信修睦。故人不独亲其亲,不独子其子,使老有所终,壮有所用,幼有所长,矜、寡、孤、独、废疾者皆有所养,男有分,女有归。货恶其弃于地也,不必藏于己;力恶其不出于身也,不必为己。

[13] 乾称父,坤称母;予兹藐焉,乃混然中处。故天地之塞,吾其体;天地之帅,吾其性。民,吾同胞;物,吾与也。 大君者,吾父母宗子;其大臣,宗子之家相也。尊高年,所以长其长;慈孤弱,所以幼其幼;圣,其合德;贤,其秀也。凡天下疲癃、残疾、惸独、鳏寡,皆吾兄弟之颠连而无告者也。 于时保之,子之翼也;乐且不忧,纯乎孝者也。违曰悖德,害仁曰贼,济恶者不才,其践形,惟肖者也。 知化则善述其事,穷神则善继其志。不愧屋漏为无忝,存心养性为匪懈。恶旨酒,崇伯子之顾养;育英才,颖封人之锡类。不弛劳而砥豫,舜其功也;无所逃而待烹,申生其恭也。体其受而归全者,参乎!勇于从而顺令者,伯奇也。 富贵福泽,将厚吾之生也;贫贱忧戚,庸玉女于成也。存,吾顺事;没,吾宁也.” – 張載, 西铭

[14] “世宗 8年 4月 17日 4번째 기사 傳旨刑曹: 京外公處婢子産兒後, 給暇百日, 以爲恒式。

Author: Atitheb Chaiyasitdhi

I’m a biologist who admires the beauty of physics.

Leave a comment