โพ้นทะเลเสวนา ตอนที่ ๒: “สถาบันซาร์รัสเซียกับความพยายามเปลี่ยน(ไม่)ผ่านสู่ประชาธิปไตย”

การเสวนาเรื่อง “สถาบันซาร์รัสเซียกับความพยายามเปลี่ยน(ไม่)ผ่านสู่ประชาธิปไตย” นี้ เป็นตอนที่ ๒ ของงานเสวนาชุด “สถาบันกษัตริย์ในสมัยเปลี่ยนผ่าน” โดยบล็อกนักเรียนไทยโพ้นทะเล

ในตอนนี้ ดิน บัวแดงและอติเทพ ไชยสิทธิ์ชวน “ณัฐนพ พลาหาญ” นักศึกษาปริญญาเอกด้านสื่อที่ประเทศรัสเซีย มาคุยกันถึงการตอบสนองของสถาบันกษัตริย์รัสเซีย (สถาบันซาร์) ต่อสภาพสังคม-การเมืองที่มีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นหลังการประท้วงอย่างสันติของผู้ใช้แรงงานที่จบลงด้วการปราบปรามอย่างนองเลือดในเหตุการณ์ “วันอาทิตย์เลือด” แห่งปี ค.ศ. ๑๙๐๕ บทบาทของสถาบันกษัตริย์รัสเซียในห้วงเวลานี้เอง ถือเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่พารัสเซียไปสู่ “การปฏิวัติเดือนตุลาคม” ในอีกเพียง ๑๒ ปีต่อมา

งานเสวนานี้เป็นการคุยผ่านบทความชิ้นล่าสุดของณัฐนพ พลาหาญในบล็อกนักเรียนไทยโพ้นทะเล Land of compromise: สถาบันซาร์รัสเซียกับความพยายามเปลี่ยน(ไม่)ผ่านสู่ประชาธิปไตย

อะไรคือสภาพสังคมก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ. ๑๙๑๗? อะไรคือจุดเริ่มต้นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนรัสเซีย? สถาบันกษัตริย์ของรัสเซียตอบสนองต่อการเรียกร้องเชิงปฏิรูปเหล่านั้นอย่างไร? ขอเชิญผู้ที่สนใจติดตามรับชมรับฟัง “โพ้นทะเลเสวนา” ตอนที่ ๒ ได้ ผ่านทางช่อง Youtube, Spotify, และ Apple Podcasts

Land of compromise: สถาบันซาร์รัสเซียกับความพยายามเปลี่ยน(ไม่)ผ่านสู่ประชาธิปไตย

เมื่อภาพการปราบปรามประชาชนผู้รักสงบในการประท้วงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั้งกับรัฐบาล รัฐธรรมนูญ และสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นในเย็นวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๐๒๐ ผู้ศึกษาเรื่องรัสเซียในไทยจำนวนมากต่างนำภาพดังกล่าวไปเปรียบกับเหตุการณ์ “อาทิตย์เลือด” เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๑๙๐๕ ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จักรวรรดิรัสเซียในทันที ในคราวนั้นรัฐบาลซาร์ได้ยิงปราบปรามผู้ประท้วงที่เป็นพระและแรงงานที่เดินเข้าไปอย่างสงบเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อซาร์หรือจักรพรรดิรัสเซียให้ความเป็นธรรมกับแรงงานที่ถูกปลดอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงปฏิรูปเงื่อนไขการทำงานและการเมือง เหตุการณ์อาทิตย์เลือดดังกล่าวได้นำไปสู่คลื่นการปฏิวัติในรัสเซียและดินแดนอาณานิคมที่เรียกว่า“ปฏิวัติ ๑๙๐๕” หรือ “การปฏิวัติรัสเซียครั้งแรก”

ผลของเหตุการณ์นั้นทำให้กษัตริย์รัสเซียปกครองประเทศตามรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญเกิดขึ้น หากแต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยรักษาสถาบันซาร์รัสเซียอยู่มั่นคงสถาพรเมื่อมีการปฏิวัติล้มระบอบกษัตริย์ในที่สุดในการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (ตามปฏิทินจูเลียนซึ่งตรงกับเดือนมีนาคม ๑๙๑๗ ตามปฏิทินปัจจุบัน) และต่อด้วยการปฏิวัติสังคมนิยมเดือนตุลาคมเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน

บทความนี้มุ่งสำรวจตำแหน่งแห่งหนของสถาบันซาร์รัสเซียท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์การเมืองยุโรปและสถานการณ์การเมืองโลก ความพยายามต่อรองของกลุ่มอำนาจเมื่อความเปลี่ยนแปลงในปี ๑๙๐๕ เลี่ยงไม่ได้ และลำดับเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความล้มเหลวของความพยายามรักษาระบอบซาร์ไว้ เมื่อการปกครองในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม ๑๙๑๗ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจบริบทที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น

Continue reading “Land of compromise: สถาบันซาร์รัสเซียกับความพยายามเปลี่ยน(ไม่)ผ่านสู่ประชาธิปไตย”

ข้อเสนอเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของกลุ่มราษฎร 2563 และ(การไม่มี)บทบาทของพรรคอนาคตใหม่

เราไม่มีทางเข้าใจการเกิดขึ้นของม็อบได้ หากไม่มองเป็นการต่อเนื่องของการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์สถาบัน อย่างน้อยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

เดิมทีกลุ่มที่ก้าวหน้าที่สุด อย่างกลุ่มของเพนกวิ้น รุ้ง อาจจะเป็นคนส่วนน้อย แต่ภายในเวลาไม่กี่เดือน ข้อเรียกร้องของพวกเขากลายเป็นข้อเรียกร้องหลัก เพดานนี้จะไม่ลดแน่ และเราต้องมองว่าเรื่องปฏิรูปสถาบัน เป็นเรื่องที่กลุ่มทุกกลุ่มเห็นตรงกัน ดังนั้น ถึงตอนนี้ คำถามที่ว่า “ทำไมนักศึกษาถึงออกมา?” มันจะตอบไม่ได้เลย ถ้าไม่ถามว่า “ทำไมนักศึกษาถึงวิจารณ์เจ้า?”

Continue reading “ข้อเสนอเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของกลุ่มราษฎร 2563 และ(การไม่มี)บทบาทของพรรคอนาคตใหม่”

โพ้นทะเลเสวนา ตอน ๑: “ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์? การเดินทัพทางไกลของสังคมไทย”

การเสวนาเรื่อง “ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์?: การเดินทัพทางไกลของสังคมไทย” นี้ เป็นตอนแรกของชุด “สถาบันกษัตริย์ในสมัยเปลี่ยนผ่าน” โดยบล็อกนักเรียนไทยโพ้นทะเล

ชุดการเสวนานี้ เกิดจากความตั้งใจของกลุ่มนักเรียนไทยโพ้นทะเล ในการร่วมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยเป็นการส่งเสริมการขบคิด พูดคุย ถกเถียง ในประเด็นเรื่องยุคเปลี่ยนผ่านของสถาบันกษัตริย์ ทั้งของไทยและของต่างประเทศ ถือเป็นแนวทาง “วิชาการ” ที่เข้ามาเสริมการเคลื่อนไหวในระยะหลังที่มีเพิ่มมากขึ้นในหมู่นักเรียนไทยในต่างประเทศ คือการชุมนุม และการล่ารายชื่อออกแถลงการณ์

พวกเราเห็นว่า ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นประเด็นที่ไม่ควรหลีกเลี่ยงซุกไว้ใต้พรม โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่นักศึกษาและประชาชนบนท้องถนนนำมาเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลัก เราควรเผชิญหน้ากับคำถามนี้โดยตรง ผ่านการพูดคุยที่มีเหตุผล พวกเราหวังว่าชุดการเสวนานี้ ซึ่งจะนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศและหลายยุคสมัย และซึ่งกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ของนักศึกษาไทย ที่ได้เรียนรู้ ใช้ชีวิต คิด อ่าน ในต่างประเทศ จะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และหวังว่าองค์ความรู้นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มที่เคลื่อนไหวและต่อบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อเอาไปสานต่อ อภิปรายขยายผลต่อไป

ในตอนแรกนี้ ดิน บัวแดงชวน “อติเทพ ไชยสิทธิ์” มาคุยถึงการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันของคณะราษฎร ๖๓ ผ่านบทความล่าสุดสองชิ้นของเขา คือ ๑.) ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และ ๒.) ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์: การเดินทัพทางไกลของสังคมไทย

ทำไมการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและควรยึดเป็นหนึ่งในข้อเสนอหลักในปัจจุบัน? ในอดีตเคยมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่? สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเป็นใคร สำคัญยังไง? บทบาทของนักการเมืองควรเป็นเช่นไร? ขอเชิญผู้ที่สนใจติดตามรับชม “โพ้นทะเลเสวนา” ตอนแรกได้ ผ่านทางช่อง Youtube, รับฟังเป็น podcast ได้ผ่าน Spotify และ Apple Podcasts