ถึงเวลาโยนศาสนาพุทธลงถังขยะแล้วหรือยัง?

แม้ศาสนาพุทธจะมีแนวคิดบางอย่างที่ผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าศาสนาพุทธในฐานะสถาบันทางสังคมนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงไม่ว่าจะในบทบาททางคุณธรรมหรือทางการเมือง แต่ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะไม่อภิปรายถึงศาสนาพุทธในฐานะความเชื่อส่วนบุคคลหรือความล้มเหลวในทางคุณธรรม แต่จะวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาพุทธในฐานะสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของสังคมไทย

๑. ศาสนาพุทธ VS อำนาจรัฐ

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสนาพุทธมีอิทธิพลต่อรากฐานทางวัฒนธรรมและการเมืองของสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง แต่ผู้เขียนยังเห็นด้วยว่าอิทธิพลที่ลึกซึ้งของศาสนาพุทธนี่เองที่ส่งผลต่อปัญหาทางวัฒนธรรมและการเมืองของสังคมไทยในปัจจุบัน

ผู้เขียนเห็นว่าโดยเนื้อแท้แล้วประเทศไทยเป็น ‘รัฐศาสนา’ ถึงแม้ในรัฐธรรมนูญจะไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ‘ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ’ แต่ศาสนาพุทธได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐไทยในทุกแง่มุม รวมทั้งการที่อำนาจศาสนจักรต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทยและในขณะเดียวกันก็ขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ที่ในรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องเป็นชาวพุทธ

แม้อำนาจของพุทธศาสนจักรดูเหมือนจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่เป็นความสัมพันธ์แบบ ‘พึ่งพาอาศัยกัน’ นั่นคือพุทธศาสนจักรและรัฐไทยต่างก็แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยรัฐไทยให้ความคุ้มครองและการันตีว่าจะสนับสนุนให้ศาสนาพุทธมีสถานะพิเศษเหนือกว่าศาสนาและความเชื่ออื่นๆ ในขณะเดียวกันพุทธศาสนจักรก็ทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมทางวัฒนธรรมให้กับรัฐไทยและอุดมการณ์ของรัฐไทย หรือแม้กระทั่งใช้เครือข่ายทางศาสนาที่มีอยู่ทั่วประเทศทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อให้กับอุดมการณ์รัฐไทย

อาจมีผู้โต้แย้งว่าลักษณะการเป็น ‘ลิ่วล้อ’ ให้กับอำนาจรัฐไทยของพุทธศาสนจักรดังที่ผู้เขียนได้วิจารณ์มานี้เกิดขึ้นได้เพราะศาสนจักรถูกผนวกให้มาอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายอาณาจักร แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าแท้จริงแล้วนี่เป็น ‘ธรรมชาติ’ หรือ ‘ธาตุแท้’ ของศาสนาพุทธที่โอนอ่อนผ่อนตามอำนาจรัฐหรือผู้มีอำนาจมาโดยตลอด และด้วยเหตุนี้เองที่ความคิดทางการเมืองที่ก่อตัวขึ้นมาโดยได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธ นอกจากจะไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เชื่อในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจแล้วมันยังล้มเหลวในการสร้างสถาบันทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมที่สามารถตอบสนองต่อคุณค่าเชิงคุณธรรมและศีลธรรมที่ตัวศาสนาพุทธเองคอยพร่ำสอนอยู่เสมออีกด้วย

อันที่จริงแล้ว ผู้เขียนก็ไม่ได้เห็นว่านี่เป็นความผิดของตัวสมณโคดมหรือของศาสนาพุทธที่พุทธศาสนจักรจะมีธรรมชาติเช่นนี้ เพราะศาสนาพุทธเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องทางโลก (โลกียะ) เท่ากับเรื่องทางธรรม (โลกุตระ) เป้าประสงค์ของสมณโคดมคือการ ‘ไปให้พ้นจากวิสัยของโลก’ และตัดขาดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ใช่การสร้าง ‘สังคมอุดมคติ’ ขึ้นในโลกปัจจุบันที่ชาวพุทธมองว่าเป็นเพียง ‘ภาพลวงตา’ ด้วยเหตุนี้ ศาสนาพุทธเองจึงไม่ได้มีความคิดทางการเมืองที่เป็นชิ้นเป็นอันมากพอที่จะเอามาเป็นแก่นสารในการสร้างสถาบันทางการเมืองขึ้นมาได้ อย่างมากที่สุด ศาสนาพุทธมีเพียงบันทึกเรื่องราวของสมณโคดมที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ทางการเมืองในบริบทหนึ่งๆ โดยที่สมณโคดมเองอาจไม่เคยได้ครุ่นคิดอย่างจริงจังถึง ‘รูปแบบทางการเมือง’ ที่สอดคล้องกับความคิดทางศาสนาของเขา และเพียงคิดแต่จะเผยแพร่ความคิดทางศาสนาในหมู่ประชาชนโดยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในขณะนั้น

สำหรับผู้เขียนแล้ว สมณโคดมไม่ได้แตกต่างไปจากพวกปัญญาชนที่ปฏิเสธแบบแผนของสังคมเก่าและเร้นกายหนีความวุ่นวายของโลกในขบวนการทางสังคมอื่นๆ ที่มีมาตั้งแต่โบราณอย่างลัทธิเต๋าในจีนหรือในประวัติศาสตร์ยุคใกล้อย่างขบวนการฮิปปี้ของตะวันตก แต่ก็ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์นี่เองที่ทำให้ ‘ขบวนการฮิปปี้ยุคโบราณ’ ของสมณโคดมกลายมาเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลทางการเมืองตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมาจนถึงปัจจุบัน (อนึ่ง แม้ศาสนาคริสต์เองจะไม่ได้มีความคิดทางการเมืองที่ชัดเจนมาตั้งแต่แรก แต่ศาสนาพุทธต่างจากศาสนาคริสต์ตรงที่ตลอดเวลาสองพันกว่าปี ศาสนาพุทธไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาปรัชญาทางการเมืองที่เป็นรูปเป็นร่างใดๆ ในขณะที่แนวคิดหลายอย่างของศาสนาคริสต์เป็นรากฐานให้กับปรัชญาตะวันตกในปัจจุบัน)

แม้ในปัจจุบันจะยังมีปัญญาชนอนุรักษนิยมชาวพุทธบางคนเช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่คาดหวังให้บรรดาพระสงฆ์ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจรวมถึงพระมหากษัตริย์ผ่านการตักเตือนและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยจุดยืนทางศีลธรรมของศาสนาพุทธ (และในขณะเดียว แม้สุลักษณ์จะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการผนวกพุทธศาสนจักรมาอยู่ภายใต้อำนาจอาณาจักร แต่เขาก็คาดหวังว่าในระบบปัจจุบัน ‘พระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม’ จะทำหน้าส่งเสริมพระสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติดี) แต่ผู้เขียนก็เกิดคำถามว่า แล้ว ‘พระสงฆ์’ เหล่านั้นจะมีเหตุจูงใจอะไรในการตักเตือนและวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ? ในเมื่อในทางเทคนิคแล้ว

  • ‘เรื่องทางโลก’ ไม่ใช่สิ่งที่พระสงฆ์ต้องให้ความสำคัญ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธแบบเถรวาทของไทยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘ความทุกข์ของสรรพสัตว์’ ดังในกรณีของศาสนาพุทธมหายาน) และ
  •  การขัดแย้งกับผู้มีอำนาจไม่ใช่ธรรมชาติของศาสนาพุทธ

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับว่าในตำนานของศาสนาพุทธหรือสังคมไทยก็ไม่ได้มีเรื่องราวที่จะสามารถใช้เป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนลุกขึ้นท้าทายผู้มีอำนาจได้ เพราะทั้งศาสนาพุทธและสังคมไทยก็มีธรรมชาติที่เชื่องต่อผู้มีอำนาจมาโดยตลอด

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่าความผิดพลาดทั้งหมดตกอยู่กับคนที่คาดหวังว่าพุทธศาสนจักรหรือแม้แต่ศาสนาพุทธที่เป็นอิสระจากรัฐจะสามารถเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการตรวจสอบ/ควบคุมผู้มีอำนาจให้อยู่ภายใต้คุณค่าคุณธรรมและศีลธรรมของศาสนาพุทธได้ – ถึงที่สุดแล้ว นี่เป็นเพียงความฝันกลางวันของชาวพุทธเท่านั้นเอง

๒. สมณโคดม: แบบอย่างทางการเมืองที่ไม่มีกระดูกสันหลัง

สมณโคดมอาจจะเป็น ‘ครูของเทวดาและมนุษย์’ (ตามคำสรรเสริญของชาวพุทธ) แต่สมณโคดมไม่ใช่แบบอย่างทางการเมืองที่ดี ผู้เขียนเห็นด้วยว่าการเอาบุคคลที่มีชีวิตเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วมาตัดสินด้วยมาตรฐานทางการเมืองปัจจุบันเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อก็คือสมณโคดม ‘ไม่เคย’ เป็นตัวอย่างทางการเมืองที่ดีทั้งในอดีตและปัจจุบัน สมณโคดมอาจจะเป็นนักเผยแพร่ศาสนาที่มีความสามารถ แต่เขาไม่ใช่บุคคลที่มีกระดูกสันหลังหรือน่าเอาเป็นแบบอย่างในการเรื่องการเมือง เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากการแสดงออกของเขาในกรณีความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าอชาตศัตรูและแคว้นวัชชีที่มีบันทึกอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร

พระเจ้าอชาตศัตรูต้องการขยายอำนาจแคว้นมคธที่ตนเองปกครองอยู่ด้วยการทำสงครามยึดครองดินแดนแคว้นวัชชี พระเจ้าอชาตศัตรูจึงส่งบริวารคือวัสสการพราหมณ์ไปถามสมณโคดมว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถเอาชนะแคว้นวัชชีได้ สมณโคดมไม่ตอบคำถามของวัสสการพราหมณ์แต่หันไปคุยกับพระอานนท์ว่าเนื่องจากพวกวัชชีปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐบุพกาล (proto-republic) ที่ไม่ได้มีกษัตริย์คนใดปกครองโดยสิทธิขาดแต่ตัดสินใจด้วยการตกลงกันในสภาของพวกอภิชนและกษัตริย์ ความสามัคคีจึงเป็นหัวใจหลักที่ทำให้แคว้นวัชชีกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจขณะนั้น วัสสการพรหมณ์ได้ยินดังนั้นจึงรู้ว่าหากต้องการจะเอาชนะแคว้นวัชชีก็จะต้องยุให้คนในแคว้นนั้นแตกความสามัคคีเสียก่อน ในที่สุดเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทำตามคำแนะนำของวัสสการพราหมณ์ พระองค์ก็สามารถยึดครองแคว้นวัชชีได้

ต่อกรณีข้างต้น ชาวพุทธเองรู้แก่ใจว่าพวกเขาไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมของสมณโคดมอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ เพราะคนปกติทั่วไปย่อมคาดหวังให้สมณโคดมผู้นิยมสั่งสอนเรื่องศีลธรรมต่างๆ ต่อผู้อื่น (โดยเฉพาะเรื่องการไม่ฆ่า) อย่างน้อยควรโน้มน้าว/ตักเตือน หรือ ทัดทานไม่ให้พระเจ้าอชาตศัตรูทำสงครามกับแคว้นวัชชี (ซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่าเพื่อขยายเขตอิทธิพลของตนเอง) แต่หากมองตามความเป็นจริงว่า สมณโคดมซึ่งไม่ได้มีกระดูกสันหลังมากมายอะไรนักกำลังเผยแพร่ศาสนาของตนเองอยู่ในดินแดนแคว้นมคธย่อมไม่อยากขัดแย้งกับพระเจ้าอชาตศัตรู (ผู้เคยฆ่าพ่อตัวเองเพื่อกระชับอำนาจมาแล้ว) และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถึงขั้นสนับสนุนให้พระเจ้าอชาตศัตรูทำสงครามกับแคว้นวัชชี จึงต้องใช้วิธีตอบเหมือนไม่ตอบซึ่งแม้แต่คนที่ซื่อบื้อที่สุดก็รู้ว่าคำพูดของสมณโคดมนั้นได้เผยจุดอ่อนและเป็นคุณแก่พระเจ้าอชาตศัตรูยิ่งกว่าพวกแคว้นวัชชี

แน่นอนว่าการคาดหวังให้คนธรรมดาท้าทายผู้มีอำนาจอย่างพระเจ้าอชาตศัตรูนั้นเป็นเรื่องประหลาด แต่กับคนที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อพระเจ้าอชาตศัตรูอย่างสมณโคดมนั้น คำทัดทานของเขาย่อมมีน้ำหนักกว่ามาก และอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนทั่วไปจะคาดหวังให้ผู้นำทางศีลธรรมอย่างสมณโคดมกล้าทัดทานผู้มีอำนาจ เพราะยังมี ‘ศาสดา’ ของศาสนาอื่นๆ ที่กล้าท้าทายต่อผู้มีอำนาจเพื่อยืนยันในความเชื่อของตนเองอย่างพระเยซู หรือ ขงจื่อ ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างทางการเมืองที่ดีกว่าสมณโคดมได้มากมายนัก

ทั้งนี้ อาจยังมีผู้ยกกรณีอื่นๆ ขึ้นมาตอบโต้ว่า สมณโคดมก็เคยห้ามไม่ให้เกิดสงครามอยู่เหมือนกัน แต่ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นว่า กรณีเหล่านั้นเป็นความขัดแย้งระหว่างเครือญาติของสมณโคดมเอง การที่สมณโคดมได้รับความเคารพในหมู่เครือญาติอยู่แล้วจึงไม่ต้องใช้กระดูกสันหลังมากมายอะไรนัก และเอาเข้าจริงในท้ายที่สุดเมื่อสมณโคดมห้ามศึกไม่ไหวก็ปล่อยให้เกิดสงครามฆ่าล้างพวกศากยะจนหมดสิ้นโดยอธิบายว่าเป็นกรรมเก่าแต่ปางก่อนของพวกศากยะ

ก็ในเมื่อศาสดาของศาสนาพุทธอย่างสมณโคดมยังไม่มีกระดูกสันหลังหรือมีความกล้าท้าทายผู้มีอำนาจแม้แต่สักนิดเดียว เราจะคาดหวังให้สาวกอย่างพระสงฆ์เป็นคนมีกระดูกสันหลังได้อย่างไรกัน?

๓. หมดเวลาของคุณธรรมแบบศาสนาพุทธและการเมืองของคนดีที่ไม่มีการควบคุม

แม้ศาสนาพุทธอาจจะมีส่วนช่วยให้คนจำนวนมากพบความสุขทางใจ แต่ศาสนาพุทธไม่สามารถเป็นคำตอบทางการเมืองใดๆ ได้ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่าถึงเวลาชำระล้างอิทธิพลของศาสนาพุทธในการเมืองไทยเสียที เพราะบัดนี้หมดเวลาของคุณธรรมแบบศาสนาพุทธในพื้นที่สาธารณะแล้ว

อันที่จริงแล้ว ศาสนาพุทธก็มีแบบอย่างของผู้มีอำนาจที่ควรจะเป็นอยู่ เช่นแนวคิดเรื่อง ‘ธรรมราชา’ หรือ ‘จักรวรรดิวัตร’ และพวกอนุรักษนิยมของไทยก็มักจะอ้างแนวคิดเหล่านี้ของศาสนาพุทธว่าเป็นเครื่องมือควบคุมผู้มีอำนาจไปจนถึงพระมหากษัตริย์ให้ตั้งอยู่ในธรรม คำถามง่ายๆ ที่พวกอนุรักษนิยมตอบไม่ได้ก็คือ ถ้าหากผู้มีอำนาจหรือพระมหากษัตริย์ไม่ตั้งอยู่ในธรรมแล้วชาวพุทธ (หรือคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธแต่ต้องมีชีวิตในรัฐศาสนาพุทธ) ควรจะทำอย่างไร? พวกเขาก็ควรจะต้องทนอยู่ไปเพราะว่าเป็นกรรมที่ทำมาจากในอดีตชาติหรือปัจจุบัน? หากจะบอกว่าศาสนาพุทธไม่มีคำตอบเลยก็คงจะไม่ยุติธรรม แต่คำตอบของศาสนาพุทธไม่ได้มีอยู่สำหรับโลกนี้เท่านั้นเอง

เมื่อผู้มีอำนาจหรือพระมหากษัตริย์ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เที่ยวกดขี่บีฑาประชาชนจนได้รับความเดือดร้อน  ผู้มีอำนาจหรือพระมหากษัตริย์นั้นก็ย่อมจะได้รับผลของการกระทำนั้น ซึ่งถ้าหากเชื่อ ‘ศาสนาพุทธขนานเดิม’ ที่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ บทลงโทษก็อาจจะเป็นนรกหรือไปรับผลกรรมในชาติหน้า แต่ถ้าเชื่อ ‘ศาสนาพุทธขนานใหม่’ (ที่พยายามอธิบายว่าเรื่องนรกสวรรค์เป็นสิ่งที่แต่งเติมเข้ามาในศาสนาพุทธ) ก็ดูจะยิ่งหมดหวังมากกว่า เพราะแม้ทรราชเหล่านั้นก็จะได้รับผลกระทบของการกระทำแน่นอน ส่วนจะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่มีทางรู้ได้ – เห็นเช่นนี้แล้ว ถ้าต้องเป็นชาวพุทธ ผู้เขียนสู้เชื่อศาสนาพุทธแบบบ้านๆ ที่มีนรกสวรรค์เสียยังดีกว่า อย่างน้อยเราก็รู้ในใจว่าตายไป ‘พวกมัน’ จะต้องตกนรก

การไม่มีคำตอบสำหรับโลกนี้นี่เองที่ศาสนาพุทธได้สร้างการเมืองของคนดีที่ไม่มีการควบคุมขึ้นมา การที่ผู้มีอำนาจหรือพระมหากษัตริย์มาอยู่ในสถานะเช่นนี้ได้ก็เพราะเหตุอันดีงามอะไรบางอย่างในอดีต และถ้าพวกเขาตั้งมั่นอยู่ในธรรม พวกเขาก็จะเป็นคนดีต่อไป แต่ถ้าพวกเขาไม่ตั้งอยู่ในธรรมขึ้นมาก็จะกลายเป็นความซวยของประชาชนที่เคยทำเหตุไม่ดีอะไรบางอย่างในอดีต ชาวพุทธหรือแม้แต่พระสงฆ์ก็ไม่คิดจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจเหล่านั้นด้วยธรรมชาติของศาสนาพุทธที่โอนอ่อนตามผู้มีอำนาจ สุดท้ายคนดีเหล่านั้น ซึ่งจะดีจริงไหมไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ พวกเขาอาจจะคิดว่าตัวเองเป็นคนดีเพราะมีแต่คนบอกว่าพวกเขาเป็นคนดี ก็จะอยู่ในอำนาจได้โดยไม่มีการควบคุมใดๆ

ในเรื่อง ‘คนดี’ นี้ เราอาจจะนำเอาความคิดของขงจื่อมาเปรียบเทียบกับศาสนาพุทธได้ เพราะแม้ขงจื่อจะเชื่อในการตามหา ‘ผู้ปกครองที่ดี’ แต่ความคิดของขงจื่อนั้นแตกต่างจากศาสนาพุทธอย่างมากตรงที่ ‘ผู้ปกครองที่ดี’ หรือ ‘คนดี’ ของขงจื่อ ไม่ใช่คนที่เกิดมาในพื้นเพที่ดีหรือมีอำนาจเพราะความดีจากชาติที่แล้วหรือดีมาตั้งแต่เกิด แต่คือคนที่เรียนรู้ ฝึกฝนที่จะเป็น ‘คนดี’ แม้แต่ตัวสมณโคดมก็ชอบอ้างว่าตนเองเป็นคนดีที่รู้ทุกอย่างในจักรวาล แต่หากเราอ่าน ‘หลุนอวี่’ ซึ่งเป็นคัมภีร์รวมคำสอนของขงจื่อและบทสนทนาระหว่างเขากับลูกศิษย์ เราจะพบหลายเหตุการณ์ที่ขงจื่อปฏิเสธที่จะเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนดี’ และชอบที่จะตอบเพียงว่าเขาแค่ ‘รักในการเรียนรู้’

การที่ ‘ความดี’ มาจากการเรียนรู้และฝึกฝนนี่เองที่ทำให้ ‘ผู้ปกครองที่ดี’ ตามความคิดของขงจื่อต้องอยู่ภายใต้การควบคุมวิพากษ์วิจารณ์และตักเตือนอยู่เสมอ หนึ่งในคุณธรรมสำคัญของการเป็น ‘คนดี’ คือ 忠 ซึ่งแปลได้ว่า ความจงรักภักดี (loyalty) หรือ ความมั่นคงในภาระหน้าที่ของตนเอง (dutifulness) ขุนนางที่จงรักภักดีไม่ใช่ขุนนางที่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามพระมหากษํตริย์ แต่เป็นขุนนางที่ยึดถือหน้าที่ตนเองในการวิพากษ์วิจารณ์ตักเตือนพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในวิถีที่ถูกต้อง หลักคุณธรรมนี้เป็นที่มาของคำว่า 死谏’ ซึ่งหมายถึง ‘การโต้แย้งทัดทานที่ยอมเอาชีวิตเข้าแลก’ ซึ่งในประวัติศาสตร์จีนมีขุนนางมากมายยอมเสียชีวิตเพื่อพิทักษ์สิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าถูกต้อง (ส่วนสมณโคดมซึ่งเป็นคนที่ไม่มีกระดูกสันหลังนั้น ไม่มีความกล้าแม้แต่จะนิ่งเงียบแต่กลับช่วยบอกใบ้เคล็ดลับทำลายแคว้นวัชชีแก่บริวารของพระเจ้าอชาตศัตรู)

เมื่อพิจารณาดังนี้แล้วก็ย่อมจะเห็นว่าคุณธรรมในทางการเมืองแบบศาสนาพุทธนั้นไร้ประโยชน์ ส่วนคนไทยควรจะเอาแนวคิดอะไรมาแทนที่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องถกเถียงกันต่อไป แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ควรจะพิจารณาว่ายังจะกอดเอาระบบคุณธรรมที่ไร้ประโยชน์เช่นนี้ไว้แล้วตายไปพร้อมกับมัน หรือว่าจะสลัดมันทิ้งเพื่อที่จะมีชีวิตต่อไป

Author: Atitheb Chaiyasitdhi

I’m a biologist who admires the beauty of physics.

Leave a comment