นิทานเรื่องการ “กลืนเลือด” ของปิยบุตร แสงกนกกุล

ผมเพิ่งได้ดูสัมภาษณ์ปิยบุตร ที่เผยแพร่เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2563 ในเฟสบุ๊คของ a day BULLETIN[1] ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ปิยบุตรพูดว่าเขากลืนเลือด และเจ็บปวดกับการที่ต้องทรยศในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ โดยอ้างถึงเหตุการณ์วันที่ 27 มีนาคม 2561 เมื่อเขาจำเป็นต้องโพสต์ในเฟสบุ๊คว่าจะไม่นำประเด็นเรื่อง 112 ไปผลักดันในพรรค เพื่อแลกกับการที่พรรคจะได้ไปต่อในสถานการณ์ที่ฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าล้มเจ้า[2] ต่อมาในปัจจุบัน หลังจากทบทวนตัวเองแล้ว ปิยบุตรยอมรับว่าอาจจะผิดพลาดจริง ในแง่ที่ขับเคลื่อนเรื่องสถาบันกษัตริย์ในสภาน้อยเกินไป

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ 112 ถูกกลับมาใช้ในทางการเมือง นักเคลื่อนไหวกำลังถูกดำเนินคดี ปิยบุตรออกมาแก้ตัวให้ตัวเองว่าสองปีก่อนต้อง “กล้ำกลืนความเจ็บแค้นอย่างแสนสาหัส” (นิยามคำว่า “กลืนเลือด” ของราชบัณฑิตยสภา) เพราะมิอาจทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปิยบุตรคงไม่ได้ “กลืนเลือด” ตัวเองเพราะขณะนั้นเขาละทิ้งสิ่งที่เขาเคยเชื่อ คืออุดมคติเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จริงๆ (จะกล่าวต่อไป) ในขณะเดียวกันฝ่าย “ประชาธิปไตย” แทบทั้งหมดมีฉันทามติสนับสนุนการยอมถอยเรื่อง 112 ของปิยบุตร แม้แต่นักวิชาการที่เคยเคลื่อนไหวในนาม ครก. 112 เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ก็พร้อมเชียร์และให้โอกาสปิยบุตร[3] ในวันนั้น มีแต่ดอกไม้ คำหวาน และคนรายล้อมสนับสนุน นักการเมืองที่ชื่อปิยบุตรเลือดไม่ออก ไม่มีอะไรจะต้องกลืน

ในวันนั้นมีแต่เพียงคนส่วนน้อยที่เห็นต่าง คำถามสำคัญคือ มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องพูดออกมาล่วงหน้าว่าจะไม่ผลักดัน 112? เรื่องนี้สุดท้ายแล้ว ควรเป็นเรื่องของมติพรรค ปิยบุตรไปผลักดันเงียบๆ ก็ได้ถ้ายังมีความมั่นคงในอุดมการณ์นี้ แต่ถ้าพรรคไม่เห็นด้วย สุดท้ายก็จะออกมาในนโยบายเอง[4] (ปิยบุตรก็เข้าใจเรื่องนี้ ในคลิปของ a day เขาก็พูดเองทำนองนี้ แต่สุดท้ายเขาก็ชั่งใจ เห็นว่า “จำเป็น” ที่จะแถลงว่าไม่ผลักดัน 112 อยู่ดี)

ในปี 2561 เมื่อปิยบุตรพูดเรื่องไม่ผลักดัน 112 นั้น เราต้องไม่ลืมว่าขณะนั้น สมยศ พฤกษาเกษมสุขถูกคุมขังอยู่เป็นปีที่ 7  ไผ่ ดาวดิน ถูกคุมขังมากกว่าหนึ่งปีแล้ว ในขณะที่ชนกนันท์ รวมทรัพย์เพิ่งหนีไปลี้ภัยที่เกาหลีช่วงต้นปี สิ่งที่นักกิจกรรมสองคนหลังทำ คือเพียงแค่แชร์ข่าวของ BBC ซึ่งมีพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่ ยังไม่นับนักโทษและผู้ต้องหา 112 คนอื่นๆ และผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ที่หลบหนีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน บางคนต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ทั้งทางการเงินและในเรื่องความปลอดภัย (ภายหลังหลายคนถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม) แน่นอนว่าพรรคของปิยบุตร ไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการใดๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดในเรื่องนี้

นอกจากนี้ เมื่อปิยบุตรพูดว่าไม่ผลักดันเรื่อง 112 ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่เลิกโจมตีเรื่องล้มเจ้าอยู่ดี เรื่องตลกร้ายก็คือ ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยพร้อมใจกันเงียบเรื่อง 112 ฝ่ายตรงกันข้ามเมื่อเป็นคนขุดเรื่องนี้ขึ้นมาด่า ก็กลายเป็นว่ามีบทบาทอภิปรายเรื่อง 112 ไปด้วยเสียเอง

ในบทความของสุรวิชช์ วีรวรรณ เรื่อง “ความเห็นต่อมาตรา 112 ของ “ปิยบุตร” ผู้ก่อตั้ง “พรรคอนาคตใหม่”” เผยแพร่ในเว็ปไซต์ผู้จัดการ สุรวิชช์ไป “ขุด” จุดยืนของปิยบุตรในอดีตเรื่อง 112 พร้อมกับแสดงจุดยืนส่วนตัวว่า

โดยส่วนตัวนั้นผมไม่ได้ติดใจการเคลื่อนไหวที่จะนำมาพิจารณามาตรา 112 ในประเด็นสัดส่วนของโทษ แต่ผมเห็นว่า กฎหมายมาตรานี้จำเป็นต้องมีอยู่…ส่วนตัวผมก็สนับสนุนให้มีการบังคับใช้มาตรานี้อย่างเป็นธรรมไม่นำมากลั่นแกล้งกันทางการเมือง หรือมีคณะกรรมการขึ้นมาอย่างรอบคอบในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในมาตรานี้ทั้งในชั้นตำรวจและอัยการ[5]

ผมยกตัวอย่างข้อความข้างต้น ของคนที่เราเรียกว่าฝ่ายขวา ฝ่ายโปรเจ้า เพื่อสรุปว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้นเสียอีก ที่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นฝ่ายอภิปรายเรื่อง 112 เสียเอง แสดงให้เห็นว่าการอภิปรายนั้นเป็นไปได้ เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ อย่างที่ปิยบุตรเองก็เคยทำมาแล้วกับกลุ่มนิติราษฎร์ แต่ปิยบุตรและพรรคก็เลือกที่จะเงียบในเรื่องนี้ ปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไป

เห็นได้ว่า ถึงปิยบุตรจะออกมาพูดว่าไม่ผลักดันเรื่อง 112 ในพรรค และในความเป็นจริงก็ไม่แตะเรื่องสถาบันกษัตริย์เลยนั้น ฝ่ายตรงข้ามก็ขุดอดีตเรื่องนี้มาโจมตี เมื่อไปออกรายการ สื่อก็ถาม ทั้งปิยบุตรและธนาธรพยายามบ่ายเบี่ยงในการตอบ ดังที่ปิยบุตรอธิบายหลายครั้งว่า อยากจะให้สังคมเลิกตราหน้าและถกเถียงกันว่าเขา “ล้มเจ้า” แล้วเดินหน้าแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นๆ เสียที แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่มีใครเชื่อว่าปิยบุตรจะเลิกยุ่งเรื่องสถาบันกษัตริย์ สุดท้ายก็โดนเพ่งเล็งจนพรรคต้องยุบไปอยู่ดี


หากฟังจากบทสัมภาษณ์ หรือมองจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องปกติและปิยบุตรเองก็อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง เราคงต้องคิดว่าในปี 2561 นั้นปิยบุตรเจ็บปวดมากแน่ๆ ต้องกลืนเลือด พูดในสิ่งที่ขัดกับความเชื่อตัวเอง ในบทสัมภาษณ์ a day BULLETIN ปิยบุตรกล่าวว่า ขณะนั้นเขาเป็นนักการเมืองไม่สามารถพูดทุกเรื่องได้ทางสาธารณะ จึงต้องเขียนไปหาทางส่วนตัวกับคนส่วนหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้

ความจริงปิยบุตร “หลังไมค์” มาหาผมด้วย ผมจะไม่เผยแพร่ข้อความของเขา เพียงแต่ผมยืนยันได้ว่า ในปี 2561 ปิยบุตรนั้นไม่ได้เจ็บปวดหรือกลืนเลือดอะไรเลย แต่เขาตั้งใจที่จะไม่ผลักดันเรื่องสถาบันกษัตริย์ เพื่อจะไปเคลื่อนไหวเรื่องอื่น ในขณะนั้นปิยบุตรต้องการรวมพลังทุกกลุ่มมุ่งไปที่ทหาร ส่วนคนที่วิจารณ์ หากอยากจะเคลื่อนไหวเรื่อง 112 หรือสถาบันกษัตริย์ ก็ให้ทำกันเอง ปิยบุตรนั้นแสดงความชัดเจนว่า บทบาทของเขาเปลี่ยนไปแล้ว ในอดีตเมื่อเขาเป็นนักวิชาการ เขาก็มีจุดยืนและวิธีการเคลื่อนไหวแบบหนึ่ง พอเขาเป็นนักการเมือง เขาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง มีเสรีภาพลดลง ดังนั้นเขาพูดเองว่าต้องแยกบทบาททั้งสองให้ขาดออกจากกัน ระหว่างปิยบุตรที่เป็นนักการเมือง (เสรีภาพน้อย) กับปิยบุตรที่เป็นนักวิชาการ ในขณะนั้นเขา “เสียสละ” มาเป็นนักการเมืองแล้ว อย่าเรียกร้องให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็นอีกต่อไป คือนักวิชาการ

สรุปแล้ว ปิยบุตรและฝ่ายประชาธิปไตยในขณะนั้น แทบจะมีฉันทามติว่า นักการเมือง = เสรีภาพน้อย = แตะเรื่องเจ้าไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พอปิยบุตรเป็นนักการเมือง เขาก็ยอมรับสภาพว่าจะไม่พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์แต่แรก ดังนั้นแล้วจะเรียกว่า “กลืนเลือด” ได้ยังไง? จะ “กลืนเลือด” ได้ ก็เช่นถ้าเป็นนักวิชาการ เคยพูดเรื่องสถาบันแล้วอยู่มาวันหนึ่งไม่พูดเพราะเงื่อนไขต่างๆ นาๆ แบบนั้นไม่ใช่หรือจึงจะเข้าข่ายกลืนเลือด? ปิยบุตรเองพูดนักพูดหนาว่าต้องแยกปิยบุตรที่เป็นนักวิชาการ กับปิยบุตรที่เป็นนักการเมืองออกจากกัน และในทัศนะของปิยบุตรในขณะนั้น นักการเมืองพูดเรื่องสถาบันไม่ได้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ แบบนี้ยังจะเรียกว่ากลืนเลือดได้อย่างไร?


ในวันนี้ เมื่อพรรคโดนยุบแล้ว และมวลชนออกมาเคลื่อนเรื่องสถาบันกษัตริย์เองโดยพรรคและปิยบุตรไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ปิยบุตรจึงหันมาเป็น “นักวิชาการ” แบบก่อนปี 2561 (ในบทสัมภาษณ์เขาบอกว่าจะเป็น “Public intellectual”) หากช่วงไหนที่เขาต้อง “กลืนเลือด” ก็คงจะเป็นตั้งแต่หลังสิงหาคม 2563 นี้เอง[6] สาเหตุการกลืนเลือดครั้งนี้ เกิดจากนักศึกษาและประชาชนไปไกลกว่าเขามาก ในขณะที่ตลอดสองปีที่ผ่านมา มีข้อครหาว่าเขาไม่ผลักดันเรื่องสถาบันกษัตริย์เลย เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ดีกว่าตัวเขาเอง และเมื่อเขาทบทวนตัวเอง เขาก็ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดจริง

แต่สำนึกเรื่อง “ความผิดพลาด” ที่ปิยบุตรกล่าวอ้างนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเรื่องยุบพรรคและมวลชนออกมาเคลื่อนเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หากไม่มีสองเงื่อนไขดังกล่าว เชื่อได้ว่ายังไงปิยบุตรก็คงไม่ออกมาอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ในปี 2563 แน่ ความเป็นจริงก็คือจนกระทั่งกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ปิยบุตรใช้เวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ ในการตัดสินใจว่าตนจะกลับไปสู่การเป็นปัญญาชนสาธารณะ แล้วจึงค่อยๆ อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม เป็นต้นมา[7]

การที่ปิยบุตรแต่งนิทาน อ้างว่ากลืนเลือดตั้งแต่ปี 2561 นั้น จึงเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อว่าตนมีอุดมการณ์แน่วแน่เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด นิทานเรื่องนี้เล่าว่าลึกๆ แล้วเมื่อปี 2561 ปิยบุตรก็อยากจะผลักดันเรื่องแก้ไข 112 แต่สถานการณ์ไม่อำนวย ต้องออกมาพูดว่าไม่ผลักดัน พรรคจึงจะได้ไปต่อ

แต่นิทานนี้ เป็นเรื่องแต่ง ไม่ตรงกับชีวิตจริง ชีวิตจริงก็คือปิยบุตรนั้นก็เฉกเช่นนักการเมืองทั่วไป คือพร้อมจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ หากจะตั้งพรรคใหญ่และได้ฐานเสียงมากๆ ก็ต้องพร้อมสละอุดมการณ์ ในวันนั้นปิยบุตรที่เป็นนักการเมือง เลิกคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ แล้วไปทำอย่างอื่นแทนโดยสิ้นเชิง ต่อมาในวันนี้ สถานการณ์ทำให้ปิยบุตรฉวยโอกาส ผสานความเป็นนักการเมืองกับนักวิชาการเข้ากันได้พอดี เขาวางตัวเป็นนักวิชาการที่ผลักดันปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในขณะที่ในฐานะนักการเมือง (อย่างไม่เป็นทางการ) เขาก็กอบโกยฐานเสียงได้ด้วย

ผมคิดว่าขบวนการนักศึกษาและประชาชนปี 2563 นี้ เป็นการตบหน้านักการเมืองอย่างปิยบุตรอย่างจัง (จนเลือดออกแล้วต้องมากลืนเลือดตัวเอง) สองปีที่ปิยบุตรไม่แตะเรื่องสถาบันกษัตริย์ คงจะกลายเป็นปมตอกย้ำไปอีกนานว่าปิยบุตรเคยละทิ้งอุดมการณ์

ในขณะที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ มาตรา 112 เริ่มถูกนำกลับมาใช้ ในขณะเดียวกันมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องบนท้องถนนอย่างใหญ่โตให้ยกเลิกมาตรานี้ ปิยบุตรจะอธิบายการที่ตนและพรรคไม่ขับเคลื่อนเรื่องนี้เมื่อปี 2561 อย่างไร? นอกจากการแต่งนิทานเรื่องกลืนเลือดแล้ว ในช่วงสุดท้ายของบทสัมภาษณ์ใน a day BULLETIN เมื่อปิยบุตรฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่าอย่าปิดประตูให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่กลับใจ เราอาจตีความได้ว่าเขากำลังเรียกร้องความเห็นใจหรือ “ชุบ” ตัวเองด้วยเหมือนกัน


[1] “ความเจ็บปวด ความจำเป็น และความหวังทางการเมือง,” 26 พฤศจิกายน 2563, a day BULLETIN, สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม, 2563,  https://www.facebook.com/267847432346/posts/10158534833112347/

[2] ขณะนี้โพสต์นี้ของปิยบุตร ตั้งค่าไว้ให้เข้าถึงได้เฉพาะเพื่อน (เพื่อไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในระยะหลัง?) ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเมื่อขณะโพสต์นั้นเปิดให้ public (https://www.facebook.com/piyabutr2475/posts/10155338121505848) ทั้งนี้ เรื่องนี้มีการลงข่าว สามารถสืบค้นได้ทั่วไป

[3] เช่น ท่าทีของพวงทอง ที่ให้สัมภาษณ์ใน Prachatai English เป็นท่าที่ทั่วไปของปัญญาชนไทย คือไม่มีวัฒนธรรมวิพากษ์วิจารณ์พวกเดียวกันเอง พวงทองกล่าวว่า “ไม่แปลกใจที่ปิยบุตรถอนตัวเรื่องนี้ เพราะผู้มีอำนาจเขาไม่ลังเลที่จะเล่นงานผู้ที่จะมาแตะต้องมาตรา 112” และ “เรื่อง 112 นี่อ่อนไหว และพรรคการเมืองก็ลังเลที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เพราะมักจะถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า” ซึ่งในอดีต มันนำไปสู่การที่สภาและพรรคเพื่อไทยปัดตกร่างข้อเสนอของครก. 112 (คำแปลของผม) ดู Kornkritch Somjittranukit, “Future Forward Party leader vows not to propose amendment to royal defamation law,” March 30, 2018, Prachatai English, Accessed December 9, 2020. https://prachatai.com/english/node/7697

ผมโพสต์ในเฟสบุ๊ค ตั้งคำถามว่า “สิ่งที่อาจารย์พูดนี่ ต่างอะไรกับเพื่อไทยพูด ตอนปฏิเสธร่างของครก. 112? ถ้าอาจารย์พวงทองคิดแบบนี้ตั้งแต่ตอนนั้น เราก็คงไม่ต้องมีการล่ารายชื่อเสนอเข้าสภาแล้วล่ะมั้ง เพราะยังไงเสีย นักการเมืองเขาก็ทำไม่ได้…ผมว่าเราเลิกแก้ตัวแทนพวกเดียวกันดีไหม แต่หันมาช่วยกันจับตามอง ผลักดันให้พรรคหรือสมาชิกพรรค ซึ่งจะมาเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ก้าวหน้า ไม่ทิ้งจุดยืนดังกล่าว เมื่อเข้าไปสู่ระบบ” (ดู https://www.facebook.com/dinbuadaeng/posts/1838277049540342)

พวงทองเขียนตอบข้อวิจารณ์นี้ โดยตั้งค่าเฉพาะเพื่อน ผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่เรื่องนี้สรุปได้ว่าในเวลานั้น ดังที่นักวิชาการมีชื่อท่านหนึ่งเขียนมาหาผมหลังไมค์ สถานการณ์ก็คือ “อยู่เมืองไทยถ้าไม่เห็นด้วยกับอนาคตใหม่อยู่ยากในวงการ

[4] ผมโพสต์ตั้งคำถามตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม (ตั้งค่าเฉพาะเพื่อน) ปิยบุตรมาตอบโดยมีใจความว่า

ผมตัดสินใจเปลี่ยนชีวิต ละทิ้งอาชีพวิชาการ ต้องยอมลดเสรีภาพการแสดงความเห็น (ไม่ว่าจะที่ไหนๆ นักการเมืองน่าจะมีเสรีภาพทางการแสดงออกน้อยกว่านักวิชาการ ) เพื่อแลกกับอีกสิ่งหนึ่ง ที่ผมมองว่ามันควรต้องทำ เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลง เพื่อเข้าไปกำหนดวาระใหม่

ช่วงค่ำ ปิยบุตรออกมาอัพสเตตัสชี้แจงในลักษณะเดียวกัน (ขณะนั้นเปิด public แต่ตอนนี้ตั้งค่าเฉพาะเพื่อน) (https://www.facebook.com/piyabutr2475/posts/10155340023375848)

ในวันเดียวกัน โตโต้ ปิยะรัฐ จงเทพ ขณะนั้นเป็นนายกสมาคม “เพื่อเพื่อน” ช่วยเหลือนักโทษการเมือง โพสต์ว่า “ผมว่ากลับมาเป็นอาจารย์ น่าจะสร้างการเปลี่ยนในสังคมได้มากกว่า ที่สวมสูทนักการเมือง” (https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1787485637977298)

นอกจากผมและโตโต้แล้วก็มีผู้ลี้ภัย เช่น นิธิวัฒน์ วรรณศิริ (จอม ไฟเย็น) และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลซึ่งโพสต์ในวันถัดมา (https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/1600917456628194)

ในวันที่ 28 มีนาคม โตโต้ วิจารณ์อนาคตใหม่ออกรายการของจอม เพชรประดับ (https://www.youtube.com/watch?v=9mYoj2P33bI)

ต่อมาในเดือนเมษายน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์ Khaosod English (ดู Teeranai Charuvastra, “Seeking political foothold, rights crusaders drop 112 reform,” April 12, 2018, Khaosod English, Accessed December 9, 2020. https://www.khaosodenglish.com/politics/2018/04/12/seeking-political-foothold-rights-crusaders-drop-112-reform/) ผมคัดข้อความสำคัญมาดังต่อไปนี้

I have not met ajarn Piyabutr at all, so we haven’t talked about this yet,” Worachet said. “If I meet him, I will ask him what his reason is.” He added, “I’d understand him if there was a party meeting and this was what they decided. But if he did it on his own, I would have to talk to him. Maybe he has a special reason, or something we don’t know about.” “The politicians wouldn’t amend it, so I don’t know what else I can do,” Worachet said. “I’ve done everything … I’ve been punched in the face for it. They even burned an effigy of me.”

[5] สุรวิชช์ วีรวรรณ, “ความเห็นต่อมาตรา 112 ของ “ปิยบุตร” ผู้ก่อตั้ง “พรรคอนาคตใหม่”,” 30 มีนาคม 2561, ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม, 2563, https://mgronline.com/daily/detail/9610000031344?fbclid=IwAR38jDdzwbpICkzsk1INN9I9yfXYDWWazrDeXfrGj0RYf84OVaZFpjFnj4M

[6] การกลืนเลือดของปิยบุตร คงค่อยๆ กลืนทีละน้อยแต่เจ็บปวด ในวันที่ 24 สิงหาคม เขายังเขียนทวิตถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลอย่างแข็งกร้าวว่า “ผมไม่เอากรณีที่อาจารย์ตามด่าผมทุกวันมาเป็นปัจจัยการประเมินหรือแรงกดดันด้วยหรอกครับ” (https://twitter.com/Piyabutr_FWP/status/1297582097981267970) แต่แล้วหลังจากนั้นหลายเดือน ปิยบุตรคงรู้สึกกดดันจากมวลชน จนต้องมามีท่าทีขอความเห็นใจ ด้วยการแต่งนิทานเรื่องการ “กลืนเลือด”

[7] ผมยังแซวกับเพื่อนเล่นๆ ว่าสงสัยปิยบุตรคงลืมไปแล้วว่าสถาบันกษัตริย์มีปัญหาอย่างไร ต้องไปขุดเอกสารเก่าๆ สมัยตนเป็นนิติราษฎร์มาปัดฝุ่นอีกที ทั้งนี้ ดูข้อวิจารณ์ของผมในเรื่องการอภิปรายของปิยบุตรในวันที่ 23 สิงหาคม ที่นี่ https://thaistudentsoverseas.wordpress.com/2020/08/23/piyabutr-politician/

Author: Din Buadaeng

A History Student

3 thoughts on “นิทานเรื่องการ “กลืนเลือด” ของปิยบุตร แสงกนกกุล”

  1. ผมโน๊ตต่ออีกนิดหน่อย เพราะดูเหมือนว่า ช่วงนี้ปิยบุตรจะเดินสายแก้ตัวให้ตัวเอง

    วันที่ 9 ธันวาคม 2563 บทสัมภาษณ์ของปิยบุตรเผยแพร่ในเฟสบุ๊ค (https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2590746101217078) และเว็ปไซต์ The Momentum (https://themomentum.co/interview-piyabutr/)

    โดยสรุปแล้ว ปิยบุตรก็แต่งนิทานเหมือนเดิม ในนิทานเรื่องนี้ ปิยบุตรเล่าว่า “ตื่นเช้าขึ้นมา เราส่องกระจกแล้ว เห็นชัดว่า กูยังไม่เปลี่ยนแปลงไป กูยังเหมือนเดิม แต่มีอุปสรรคอะไรบางอย่างที่ทำให้แสดงออกได้ไม่เหมือนเดิม ผมก็ทำอย่างนี้ทุกวัน ตรวจสอบตัวเองทุกวันนะครับ” ดังนั้นท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ นาๆ ปิยบุตรได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เช่นในกรณีการอภิปรายเรื่อง พ.ร.ก.โอนกำลังพล จนเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พรรคถูกยุบ

    เช่นเดียวกับนิทานเรื่องการกลืนเลือด นิทานเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแต่ง ไม่ตรงกับความจริง ปิยบุตรพูดเองตอนเริ่มตั้งพรรค ว่าเขาเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถ้าจะเปรียบเทียบกับเรื่องส่งกระจกที่เขาพูดเอง ก็คือในตอนนั้นเขาส่งกระจกแล้วเห็นตัวเองเป็นนักการเมือง ไม่ใช่นักวิชาการอีกต่อไป ดังนั้นจึงตั้งพรรคใหญ่ ที่ดึงคนที่หลากหลายเข้ามา ภายใต้คำมั่นว่าจะไม่ผลักดันเรื่อง 112 ในพรรค ซึ่งก็คือการยืนยันว่าจะไม่แตะเรื่องสถาบัน

    ในบทสัมภาษณ์ การอภิปรายเรื่อง พ.ร.ก. โอนกำลังพล ในเดือนตุลาคม 2562 นั้นคือเรื่องเดียวที่ปิยบุตรภาคภูมิใจ อ้างตนว่าส่งกระจกแล้วไม่เปลี่ยนไป เพราะได้ทำหน้าที่อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ในสภา ปิยบุตรกำลังเทียบตัวเองกับการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นปกติในสภา ในช่วง 2475-2500

    ความจริงในวันนั้นก็คือ ปิยบุตรเพียงแต่ให้เหตุผลเรื่องความไม่จำเป็นต้องโอนกำลังพล เพราะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิยบุตรอ้างว่ากำลังจะอภิปรายต่อว่า “กฎหมายฉบับนี้ ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างไร” แต่ถูกประธานสภาขัดเอาไว้ เรื่องนี้ปิยบุตรจะอ้างอย่างไรก็ได้ แต่ความจริงคือวันนั้นในสภา ปิยบุตรอภิปรายเพียงแค่ว่าพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว “ผิดเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินประยุทธ์เสนอเข้ามาเป็นเรื่องด่วนโดยไม่มีเหตุผลจริงๆ”

    ต้องยอมรับเสียก่อนว่าปิยบุตรนั้นห่างไกล เรียกได้ว่าไม่ได้อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ด้วยซ้ำไป ในขณะเดียวกันในช่วงนั้นอานนท์ นำภา ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้แทนราษฎร โดยเขียนอย่างชัดเจนว่า “การโอนหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เป็นกองกำลังทางทหารไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์และขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการขยายพระราชอำนาจทางการทหารของสถาบันกษัตริย์จนเกิดขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ต่อมาอย่างที่ทราบกันดี กลุ่มราษฎรก็ได้จัดชุมนุมที่ราบ 11 ในปีถัดมาและอภิปรายเรื่องนี้โดยตรงบนท้องถนน เรื่องนี้สั่งสมมา ก็เพราะผู้แทนราษฎรและปิยบุตร ไม่เคยอภิปรายเรื่องนี้อย่างจริงจัง

    ผมไม่คิดว่าการอภิปรายของเขาเรื่อง พ.ร.ก. โอนกำลังพล หรือการลงมติไม่เห็นชอบการออก พ.ร.ก. ดังกล่าว จะเป็นสาเหตุโดยตรงของการยุบพรรค ความเป็นจริงก็คือความไม่ชัดเจน และการจงใจไม่อภิปรายตรงๆ เรื่องสถาบันกษัตริย์ ต่างหาก ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสงสัยในเจตนาของปิยบุตร พวกเขาคาดเดากันไปว่าจุดยืนปิยบุตรคืออะไรแน่? ปิยบุตรล้มเจ้าหรือไม่? การลงไม่มติไม่เห็นชอบการออกพ.ร.ก. เพราะอยากลดอำนาจเจ้า แต่ไม่พูดตรงๆ ใช้วิธีการอ้างเรื่องความไม่ฉุกเฉินใช่ไหม? ฯลฯ

    ปิยบุตรน่าสงสาร ตรงที่ปิยบุตรนั้นไม่ต้องการเคลื่อนเรื่องสถาบันแล้วอย่างจริงใจ แต่ไม่มีใครเชื่อ หากปิยบุตรย้อนเวลาไปได้ แล้วอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์โดยตรง ก็อาจจะโดนยุบพรรคอยู่ดี แต่อย่างน้อยก็ยังพูดได้เต็มปากว่า “ส่องกระจกแล้ว เห็นชัดว่า กูยังไม่เปลี่ยนแปลงไป กูยังเหมือนเดิม” แทนที่จะแต่งนิทานซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง

    แต่มันน่าเศร้าตรงที่ถึงวันนี้ปิยบุตรยังยืนยันว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ก็จะทำเหมือนเดิม ไม่ใช่ “มากกว่า” เดิม

    Liked by 1 person

Leave a comment