Land of compromise: สถาบันซาร์รัสเซียกับความพยายามเปลี่ยน(ไม่)ผ่านสู่ประชาธิปไตย

เมื่อภาพการปราบปรามประชาชนผู้รักสงบในการประท้วงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั้งกับรัฐบาล รัฐธรรมนูญ และสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นในเย็นวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๐๒๐ ผู้ศึกษาเรื่องรัสเซียในไทยจำนวนมากต่างนำภาพดังกล่าวไปเปรียบกับเหตุการณ์ “อาทิตย์เลือด” เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๑๙๐๕ ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จักรวรรดิรัสเซียในทันที ในคราวนั้นรัฐบาลซาร์ได้ยิงปราบปรามผู้ประท้วงที่เป็นพระและแรงงานที่เดินเข้าไปอย่างสงบเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อซาร์หรือจักรพรรดิรัสเซียให้ความเป็นธรรมกับแรงงานที่ถูกปลดอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงปฏิรูปเงื่อนไขการทำงานและการเมือง เหตุการณ์อาทิตย์เลือดดังกล่าวได้นำไปสู่คลื่นการปฏิวัติในรัสเซียและดินแดนอาณานิคมที่เรียกว่า“ปฏิวัติ ๑๙๐๕” หรือ “การปฏิวัติรัสเซียครั้งแรก”

ผลของเหตุการณ์นั้นทำให้กษัตริย์รัสเซียปกครองประเทศตามรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญเกิดขึ้น หากแต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยรักษาสถาบันซาร์รัสเซียอยู่มั่นคงสถาพรเมื่อมีการปฏิวัติล้มระบอบกษัตริย์ในที่สุดในการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (ตามปฏิทินจูเลียนซึ่งตรงกับเดือนมีนาคม ๑๙๑๗ ตามปฏิทินปัจจุบัน) และต่อด้วยการปฏิวัติสังคมนิยมเดือนตุลาคมเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน

บทความนี้มุ่งสำรวจตำแหน่งแห่งหนของสถาบันซาร์รัสเซียท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์การเมืองยุโรปและสถานการณ์การเมืองโลก ความพยายามต่อรองของกลุ่มอำนาจเมื่อความเปลี่ยนแปลงในปี ๑๙๐๕ เลี่ยงไม่ได้ และลำดับเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความล้มเหลวของความพยายามรักษาระบอบซาร์ไว้ เมื่อการปกครองในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม ๑๙๑๗ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจบริบทที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น

ตำแหน่งแห่งหนของสถาบันซาร์ในสังคมรัสเซียก่อนหน้าปี ๑๙๐๕

สถาบันซาร์รัสเซียมีอำนาจเหนือประชาราษฎรยิ่งกว่ากษัตริย์หรือจักรพรรดิใด ๆ ในยุโรป ถือเป็นระบอบอัตตาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เด็ดขาด การปฏิรูปรัสเซียจากรัฐจารีตสู่จักรวรรดิในสมัยของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชในปี ๑๗๒๑ ไม่ได้ปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันซาร์กับราษฎรให้ใกล้ชิดขึ้นแต่อย่างใด หากแต่รวบอำนาจของชนชั้นขุนนาง (ชนชั้นโบยาร์แต่เดิม) และชนชั้นพระ (ศาสนจักรออทอดอกซ์รัสเซีย) ให้อยู่ใต้ระบบใหม่ที่ตัวเองผูกขาดอำนาจอย่างแท้จริง การรวบอำนาจโบยาร์เกิดขึ้นโดยการตั้งคณะอภิรัฐมนตรี (Senate) และระบบกระทรวง (Collegia ต่อมาคือ Ministry) ขึ้นมาแทนที่สภาโบยาร์ (Boyar Duma) และสภาแห่งแผ่นดิน (Zemsky Sobor) ดั้งเดิม แม้จะมีอำนาจแบบเดียวกันคืออำนาจให้คำปรึกษาแต่เพียงอย่างเดียว และสร้างระบบรัฐราชการสมัยใหม่ผ่าน “บัญชีบรรดาศักดิ์ (Table of Ranks)” ให้บรรดาชนชั้นขุนนางเดิมและทหารได้ก้าวหน้าตามลำดับขั้นโดยมีซาร์อยู่บนสูงสุดของระบบนี้[1] การรวบอำนาจศาสนจักรที่ทำหน้าที่ดูแลด้านวัฒนธรรมและการศึกษาไปด้วยเกิดขึ้นโดยการยุบเลิกตำแหน่งอัครบิดร (Patriarch) ตำแหน่งสูงสุดของศาสนจักรและให้อำนาจประมุขศาสนจักรของอัครบิดรเป็นอำนาจโดยตำแหน่งของซาร์ และตั้งสภาซีน็อตศักดิ์สิทธิ์ (Holy Synod) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านศาสนา จึงทำให้อำนาจซาร์รัสเซียนั้นเด็ดขาดมากกว่าผู้นำชาติใด ๆ ในยุโรปขณะนั้น[2]

ในยุโรปและรัสเซียตลอดช่วงศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ เป็นช่วงเวลาที่การเมืองทั้งในรัสเซียและนอกรัสเซียมีความผันผวน ซึ่งทำให้รัสเซียได้มีปฏิสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆ มากขึ้นไปด้วยแม้จะอยู่ใต้สังคมเผด็จการ แต่ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสังคมในรัสเซียต่าง ๆ อย่างกบฏชาวนาที่ใหญ่ที่สุดอย่างกบฏปูกาชอฟ (Pugachev Rebellion) ในปี ๑๗๗๓-๑๗๗๕ ที่ต่อต้านการกดขี่ในระบอบการปกครองของพระนางแคเทอรีนมหาราชินี กบฏเดือนธันวาคม ๑๘๒๕ (Decembrist Revolt) ที่ปฏิเสธการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้านิโคไลที่ ๑ การเลิกไพร่ในปี ๑๘๖๒ ที่ทำให้ไพร่ยากจนอพยพจากชนบทเข้าสู่เมืองมาขายแรงงาน หรือการเปลี่ยนแปลงในยุโรปทั้งคลื่นปฏิวัติอันเริ่มจากการปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการติดต่อปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างรัสเซียกับยุโรป เช่น การติดต่อแลกเปลี่ยนทางจดหมายระหว่างพระนางแคเทอรีนที่สองกับวอลแตร์ ปฏิสัมพันธ์และเหตุการณ์เหล่านี้กลับไม่ทำให้ระบอบอัตตาธิปไตยของซาร์รัสเซียสั่นสะเทือนเลย มิหนำซ้ำยังมีวิวัฒนาการมากขึ้น เช่น ในกลางศตวรรษที่ ๑๙ มีการตั้งสภาแห่งรัฐ (State Council) ที่ประกอบไปด้วยชนชั้นขุนนางผู้ปกครองในการช่วยให้คำปรึกษาคณะอภิรัฐมนตรีและซาร์ในการออกกฎหมาย หากแต่คลื่นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปได้นำแนวคิดทางการเมืองใหม่ ๆ เข้าสู่รัสเซีย ในเมื่อรัสเซียเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์และอัตตาธิปไตยที่เด็ดขาด ไม่ว่ารูปแบบการปกครองหรือแนวคิดทางการเมืองอื่นใด หรือแม้แต่แนวคิดศาสนาคริสต์นิกายอื่นที่ทางการไม่ยอมรับก็ล้วนแต่เป็นภัยต่อระบอบซาร์ทั้งสิ้น[3]

ผู้ศรัทธาในความคิดทางการเมืองแบบใหม่ในยุโรปได้พยายามทำกิจกรรมทางการเมืองในรัสเซียแตกต่างกันไปทั้งด้วยการตั้งสมาคมลับที่ผิดกฎหมาย หรือแม้แต่การติดอาวุธลอบสังหารสมาชิกราชวงศ์และชนชั้นปกครอง สังคมเมืองที่เติบโตอย่างกว้างขวางและกิจการโรงงานตามแบบทุนนิยมที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้สร้างเมืองที่โตไวและมีความเสื่อมโทรม แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างให้กิจกรรมทางการเมืองตามลัทธิการเมืองต่าง ๆ เติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย เนื่องด้วยความไม่เป็นธรรมที่พบพร้อม ๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจรัสเซียและการรวบอำนาจของส่วนกลางที่ทำให้ชนชาติต่าง ๆ ในจักรวรรดิรัสเซียขาดสิทธิเสรี แม้กระทั่งสิทธิในการพูดภาษาแม่ของตัวเองในโปแลนด์และยูเครน วิธีดำเนินกิจกรรมทางการเมืองวิธีหนึ่งที่กลายเป็นที่นิยมในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ในรัสเซียคือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองผ่านองค์กรที่ถูกกฎหมาย ได้แก่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ นั่นเอง โดยเสมือนว่ากองบรรณาธิการคือที่ทำการของพรรคการเมืองตามลัทธิการเมืองต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่พรรคการเมืองยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งในรัสเซีย[4] คำกล่าวของวลาดิมีร์ เลนิน ผู้นำการปฏิวัติสังคมนิยมปี ๑๙๑๗ ว่าด้วยสื่อที่โด่งดังมากที่กล่าวว่า “…หนังสือพิมพ์ไม่เป็นเพียงผู้โฆษณาชวนเชื่อกลุ่มคน แต่ยังต้องปลุกปั่นกลุ่มคนและจัดตั้งกลุ่มคนไปพร้อมกัน…” ในบทความ จะเริ่มทำอะไรดี (Where to begin?)ในปี ๑๙๐๑ นั้น[5]เป็นคำกล่าวที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ในสังคมรัสเซียสมัยจักรวรรดิในฐานะเครื่องมือทำกิจกรรมทางการเมืองเพียงอย่างเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ดำรงอยู่ในขณะนั้น แม้จะต้องเผชิญกับมาตรการเซ็นเซอร์และการปิดสื่อจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ข้อเรียกร้องในการปฏิวัติ ๑๙๐๕

ด้วยสังคมเมืองรัสเซียที่เติบโตจนเกิดชนชั้นแรงงานจำนวนมากพร้อมชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น สังคมชนบทที่ไม่เคยได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม สังคมคนชนชาติต่าง ๆ ที่ถูกจักรวรรดิรัสเซียพยายามกลืนชาติ ทำให้สังคมรัสเซียโดยรวมเริ่มเต็มไปด้วยปัญหาที่ถูกสุมรอวันระเบิดออกมา จุดที่ทำให้ความไม่พอใจต่าง ๆ ถึงขีดสุดเกิดขึ้นตลอดปี ๑๙๐๕ เริ่มต้นจากการเดินขบวนของสหภาพแรงงานที่ตำรวจลับสนับสนุนอย่างลับ ๆ เพื่อไม่ให้แรงงานหันเข้าสู่ลัทธิการเมืองหัวรุนแรงนำโดยบาทหลวงกีออร์กี กาปอน เพื่อไปเรียกร้องความเป็นธรรมจากซาร์ให้ปรับปรุงสภาพชีวิตของแรงงาน สาเหตุที่บาทหลวงเลือกเดินขบวนเรียกร้องในเวลาดังกล่าวเกิดจากการที่แรงงานโรงงานปูลิตอฟในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถูกปลดอย่างไม่เป็นธรรมในปลายปี ๑๙๐๔ เหตุผลนี้บวกสภาพความไม่เป็นธรรมในการทำงานทำให้บาทหลวงร่วมมือกับปัญญาชนในเมืองร่างข้อเรียกร้องในการปฏิรูปการเมืองให้กับซาร์ การเดินขบวนยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๑๙๐๕ มีผู้เข้าร่วมนับแสนคนและเดินขบวนไปหลายจุด ผู้คนเดินเท้าไปหน้าพระราชวังฤดูหนาว ที่พักของซาร์เพื่อยื่นจดหมาย ข้อเรียกร้องของกรรมกรเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถึงซาร์ [6]

ข้อเรียกร้องของกรรมการเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถึงซาร์ เป็นจดหมายเขียนมือขนาดไม่ยาว ใจความสำคัญอยู่ที่ข้อเรียกร้องท้ายจดหมายซึ่งประกอบไปด้วยสี่ส่วน ได้แก่

  • บทนำ – เรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งทางตรงและลับสู่สภาผู้แทนราษฎรอย่างเสมอภาคทั้งชายและหญิง

จากนั้นจึงมีส่วนขยายของบทนำประกอบไปด้วยมาตรการหลัก ๓ ส่วน โดยระบุคั่นว่า “เพียงแต่มาตรการเดียวนี้ไม่สามารถเยียวยาความเจ็บไข้ของเราได้เลย มาตรการอย่างอื่นก็จำเป็นอีกเช่นกัน และเราขอกราบทูลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงทราบอย่างตรง ๆ และเปิดใจเหมือนเรากล่าวกับบิดา จากผู้แทนของเหล่าชนชั้นแรงงานทั้งหมดของรัสเซีย ว่ามาตรการเหล่านี้จำเป็น:

  • มาตรการกำจัดความไม่รู้แจ้งและความไร้สิทธิของพลเมืองรัสเซีย – ในหมวดนี้มีข้อเรียกร้องให้ประกันสิทธิพลเมือง ทั้งสิทธิการแสดงออก สิทธิส่วนบุคคล สิทธิการชุมนุม สิทธิการนับถือศาสนา สิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรัฐ รับประกันความเท่าเทียมของทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น และแยกกิจการด้านศาสนาออกจากรัฐ
  • มาตรการกำจัดความยากจนของประชาชน – ในหมวดนี้เรียกร้องให้ยกเลิกภาษีทางอ้อม เก็บภาษีทางตรงตามอัตราก้าวหน้า เรียกร้องเงินกู้ดอกเบี้ยถูกและการแจกจ่ายที่ดินให้คนธรรมดาอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้สั่งทำอาวุธกองทัพเรือภายในประเทศ และเรียกร้องให้ยกเลิกสงคราม
  • มาตรการกำจัดการกดขี่ของทุนเหนือแรงงาน – ในหมวดนี้ให้ยกเลิกผู้ตรวจการโรงงานจากรัฐ จัดตั้งผู้แทนแรงงานจากการเลือกตั้ง อนุญาตให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน ประกันการทำงาน ๘ ชั่วโมง ประกันสิทธิในการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน ประกันค่าแรงที่ยุติธรรม รวมถึงประกันสิทธิของผู้แทนแรงงานในการร่วมกิจการด้านนิติบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันชีวิตการทำงาน

ในขณะนั้นตำรวจรักษาวังที่เกรงว่าผู้คนจะบุกเข้ามายังพระราชวังได้ระดมยิงผู้ประท้วงที่มาเดินขบวนเรียกร้องให้ปฏิรูปดังกล่าว ทหารที่ประจำตามจุดอื่นของเมืองต่างก็ระดมยิงใส่ผู้ชุมนุมเช่นกัน และมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน บาดเจ็บอีกจำนวนหลายร้อย ส่วนซาร์นิโคไลที่สองขณะนั้นพักผ่อนอิริยาบถอยู่พระราชวังในเมืองซาร์สโกเยเซโลนอกเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และทราบเรื่องการปราบปรามก็ต่อเมื่อการปราบปรามได้เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น การปราบปรามนี้พ่วงกับการแพ้สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นในช่วงกลางปีได้จุดชนวนการประท้วงทางการเมืองด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานาไปทั่วประเทศ สุดท้ายซาร์นิโคไลที่สองได้สัญญาตาม แถลงการณ์ตุลาคม[7]ที่จะให้มีการเลือกตั้งสภาทางตรงจากคนทุกชนชั้นและสร้างการเมืองจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งทำให้คนจำนวนมากยอมที่จะเลิกประท้วงขณะที่หลายกลุ่มก็ยังไม่พอใจประกาศพร้อมติดอาวุธสู้กับระบอบซาร์ต่อไป

เมื่อชนชั้นปกครองไม่อยากให้อำนาจ: รัฐธรรมนูญ ๑๙๐๖ และการเลือกตั้งสภาดูมา

แม้จะมีแถลงการณ์ให้สัญญาในเดือนตุลาคม ๑๙๐๕ แต่แม้กระนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งสภาดูม่าครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ๑๙๐๕ การเลือกตั้งกลับเป็นไปตามสัดส่วนของชนชั้นผู้คน ได้แก่ ผู้ถือครองที่ดิน (๒ พันคนต่อผู้แทน ๑ คน), พ่อค้าและผู้ถือครองทรัพย์สินในเมือง (๔ พันคนต่อผู้แทน ๑ คน), ไพร่ (๓ หมื่นคนต่อผู้แทน ๑ คน) และชนชั้นแรงงาน (๙ หมื่นคนต่อผู้แทน ๑ คน) มีพระราชพิธีเปิดสภาที่พระราชวังฤดูหนาวเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๑๙๐๖

ประมวลกฎหมายพื้นฐานแห่งรัฐปี ๑๙๐๖ คือรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ซาร์ตัดสินใจประกาศใช้เมื่อ ๖ พฤษภาคม ๑๙๐๖ กฎหมายสูงสุดฉบับนี้ไม่ได้ร่างขึ้นใหม่ หากแต่เป็นการปรับแก้ประมวลกฎหมายพื้นฐานแห่งรัฐเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี ๑๘๓๕ โดยเพิ่มสาระสำคัญด้านการประกันสิทธิเสรีภาพรวมถึงการเลือกตั้งเข้าไป ดังนั้นสาระโดยรวมของกฎหมายจึงไม่ได้มีการลดอำนาจซาร์ลงแต่อย่างใด และ “รัฐธรรมนูญ” นี้โดยรวมก็ไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า หากแต่เป็นอัตตาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญรับรองเสียมากกว่า

ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ปรับลดอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติอย่างสภาดูมาลงไปอีก ให้เหลือสถานะเป็นเพียงสภาให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำพิจารณางบประมาณและออกกฎหมาย มีการตั้งสภาแห่งรัฐให้เป็นวุฒิสภาทำหน้าที่ตรวจแก้กฎหมายจากสภาดูมาอีกหน โดยที่สมาชิกเป็นตัวแทนจากมลรัฐต่าง ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากซาร์ทั้งหมด นอกจากนี้ซาร์ยังมีสิทธิปฏิเสธลงนาม (วีโต้) ในกฎหมายที่ผ่านสภาดูมา ซาร์มีสิทธิแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาแห่งรัฐตามอัธยาศัย และยุบสภาดูมาตามอัธยาศัยเช่นกัน ในทางสิทธิเสรีภาพมีการให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิตามกฎหมายในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ขัดกฎหมาย สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุม สิทธิในทรัพย์สิน ฯลฯ เป็นต้น [8]

เมื่อกฎหมายที่บังคับใช้จริงห่างจากอุดมคติที่แม้แต่ซาร์ยังลงนามรับรองเองใน “แถลงการณ์เดือนตุลาคม” ปี ๑๙๐๕ ความวุ่นวายในสภาก็เกิดขึ้นแทบจะทันทีภายหลังการเปิดสภาครั้งแรกแล้ว สภาสมัยแรกประกอบไปด้วยพรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญเป็นพรรคใหญ่ รองลงมาคือพรรคแรงงาน สภาชุดนี้พยายามจะออกกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบราชการและการเลือกตั้งซึ่งไม่สำเร็จ สุดท้ายซาร์จึงยุบสภาในเดือนกรกฎาคมปี ๑๙๐๖ เพียงสองเดือนกว่า ๆ หลังจากเปิดประชุมสภาไปแล้ว สมาชิกสภาชุดนี้จำนวนมากไม่ยอมรับการยุบสภาและตัดสินใจสร้างที่ประชุมลี้ภัยในเขตฟินแลนด์ และเรียกร้องให้ประชาชนรัสเซียขัดขืนระบอบซาร์โดยการไม่จ่ายภาษีและไม่เข้าระบบเกณฑ์ทหาร[9] แต่ต่อมาก็ถูกจับทั้งหมด สภาชุดที่สองที่ได้รับเลือกในเดือนมกราคม ๑๙๐๗ ยิ่งหัวรุนแรงขึ้นกว่าเก่า เมื่อพรรคสังคมประชาธิปไตยรัสเซียที่ประกอบไปด้วยกลุ่มบอลเชวิกและเมนเชวิกตัดสินใจเลิกบอยคอตต์สภาดูมาดังที่ทำมาแต่ต้น และหันมาร่วมลงเลือกตั้งจนได้รับเลือกเข้าสภา สภาชุดนี้ดำรงอยู่ได้เพียงสามเดือนเศษ ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจกล่าวหาสมาชิกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยรัสเซียในสภาว่าเป็นผู้ต้องหาในคดีซ่องสุมอาวุธเพื่อล้มล้างรัฐบาลและขอให้สภาดูมาลงคะแนนเพื่อถอดถอนเอกสิทธิ์ทางสภาเพื่อให้ดำเนินคดีสมาชิกพรรคที่เป็นผู้แทนในสภา เมื่อสภาดูมาไม่ยอมทำให้ตามที่รัฐบาลประสงค์ ซาร์จึงตัดสินใจยุบสภาเพื่อให้รัฐบาลที่ตัวเองแต่งตั้งเข้าไปปราบปรามพรรคดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ออกแถลงการณ์รัฐประหารทางนิติศาสตร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัสเซีย ตามที่ซาร์กล่าวในแถลงการณ์ ๓ มิถุนายน​ ๑๙๐๗ ว่าอาศัยสิทธิ “จากพระผู้เป็นเจ้าที่มอบอำนาจซาร์ให้กับเราเหนือพสกนิกรทั้งปวง หน้าบัลลังก์แห่งพระองค์เราได้รับผิดชอบชะตาแห่งรัฐรัสเซีย[10] ออกแถลงการณ์ยุบสภา ต่อมาปรับเปลี่ยนสัดส่วนของสภาเสียใหม่โดยเพิ่มสัดส่วนให้เจ้าที่ดินมีที่นั่งเกินครึ่งสภา ลดสัดส่วนแรงงาน ชนชั้นล่าง และชนชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัสเซียลงไปอีก เจตนาของแถลงการณ์ยุบสภาและสภาที่ซาร์คาดหวังนี้ก็บอกอย่างชัดเจนว่า

“สภาดูมาแห่งรัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งแห่งรัฐรัสเซีย สมควรจะเป็นสภาเพื่อคนชนชาติรุสโดยสัญชาตญาณ

อนึ่ง ชนชาติอื่นใดซึ่งได้เข้ามารวมเป็นรัฐแห่งเราจำเป็นต้องมีผู้แทนผลประโยชน์แห่งตนในสภาเช่นกัน แต่ไม่จำเป็นและจะไม่อยู่ในจำนวนของผู้ที่จะได้รับโอกาสชูประเด็นในประเด็นปัญหาของชนชาติรุส

ในดินแดนไกลโพ้นแห่งรัฐที่ซึ่งประชากรไม่มีการพัฒนาด้านความเป็นพลเมืองอย่างเพียงพอ จำเป็นต้องหยุดการเลือกตั้งสภาดูมาเอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว” [11]

การทำเช่นนี้แม้จะทำให้สภาดูมาอีกสองชุดเต็มไปด้วยบุคคลที่ภักดีต่อระบอบซาร์โดยมีผู้แทนจากลัทธิการเมืองอื่นและจากชนชั้นล่างเป็นไม้ประดับตามสัดส่วนของคนชนชั้นล่างที่น้อยลงมาก แต่ก็บีบบังคับให้กลุ่มคนที่นิยมลัทธิทางการเมืองอื่น ๆ และกลุ่มชนชาติอื่น ๆ ที่อาจแสวงหาแนวทางสันติในการเจรจาเพื่อขออำนาจปกครองตัวเองไม่มีทางเลือกนอกจากต้องสรรหาวิธีนอกสภาจนไปถึงวิธีการที่รุนแรงในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นกัน นอกจากนั้นยังทำให้คนรัสเซียและชาวต่างชาติที่มุ่งหวังจะเห็นการปกครองตามหลักกฎหมายในรัสเซียต่างหมดศรัทธากับระบอบซาร์ที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงหรือประนีประนอมใด ๆ กับเสียงเรียกร้องของประชาชน

ซาร์ สภาดูมาชุดสุดท้าย และการปฏิวัติกุมภาพันธ์ ๑๙๑๗

สภาดูมาชุดสุดท้ายเริ่มวาระเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๑๙๑๒ ขณะที่วาระห้าปีของสภาชุดนี้จะต้องหมดลงในเดือนตุลาคม ๑๙๑๗ สภาชุดนี้แม้จะเต็มไปด้วยกลุ่มที่ภักดีต่อซาร์ในระยะแรก แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองรัสเซียและการเมืองโลกที่ผันผวน ประกอบกับความต้องการของซาร์ที่จะลดอำนาจสภาดูมาลงไปอีกทำให้สภาเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลที่ซาร์เป็นคนแต่งตั้งบ่อยครั้ง รัฐบาลพยายามจำกัดข้อมูลเรื่องสงครามโลกที่รัสเซียกำลังเผชิญซึ่งทำให้สภาไม่พอใจ นอกจากนี้ยังมีบทบาทของกริกอรี รัสปูติน นักบวชที่เป็นทั้งหมอและที่ปรึกษาราชวงศ์ที่มีอำนาจโน้มน้าวการตัดสินใจของสมาชิกราชวงศ์ด้านการบริหารบ้านเมืองทำให้สมาชิกสภาดูมายิ่งไม่พอใจเข้าไปอีก สภาชุดนี้ได้แจ้งเกิดสมาชิกคนสำคัญได้แก่อเลกซานเดอร์ เคเรนสกี้ นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของสาธารณรัฐรัสเซียก่อนหน้าจะถูกปฏิวัติในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๑๙๑๗ จากกลุ่มบอลเชวิก

สถานการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ทำให้ผู้คนอดอยากแร้นแค้นเป็นแรงผลักดันให้มีการประท้วงใหญ่ในรัสเซียเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ ๒๒ มกราคม ๑๙๑๗ ผู้คนออกมาประท้วงจำนวนมากเนื่องในโอกาสวันอาทิตย์เลือดเมื่อปี ๑๙๐๕ มีการนัดหยุดงานกันอย่างกว้างขวางในกรุงเปโตรกราดและต่างจังหวัด สถานการณ์เริ่มลุกโชนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ขณะที่ซาร์ออกจากเมืองหลวงไปเยี่ยมแนวหน้า ผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นทั้งภรรยาของทหารแนวหน้า ผู้ที่ต้องทำงานแทนผู้ชายขณะที่เกิดสงคราม ต่างผละงานตามโรงงานต่าง ๆ ออกมาประท้วงในวันสตรีสากลและเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งเหมือนกับผู้ชาย การประท้วงและหยุดงานบานปลายไปทั่วประเทศ [12] ซาร์ตัดสินใจตอบโต้การประท้วงนี้ในวันที่ ๑๐ มีนาคมด้วยการสั่งให้สลายการชุมนุมซึ่งไม่อาจทำได้ในภาวการณ์ที่คนเริ่มไม่ศรัทธาในระบอบ และด้วยการประกาศไม่ให้เปิดสมัยประชุมสภาในช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุดดังกล่าว ซึ่งทำให้สมาชิกสภาดูมาซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนในการบริหารประเทศไม่ยอมรับคำสั่งซาร์อีกต่อไป

สภาดูมาตัดสินใจว่าหนทางเดียวที่จะออกจากวิกฤติได้คือการตั้งคณะผู้แทนชั่วคราวจากสมาชิกสภาทำหน้าที่แทนรัฐบาล จากนั้นก็เข้าไปปลดอาวุธและจับกุมรัฐบาลของซาร์ที่อยู่ในเมืองหลวง และส่งผู้แทนเพื่อขอร้องให้ซาร์สละราชสมบัติ วันที่ ๑๕ มีนาคม ซาร์นิโคไลที่สองสละราชสมบัติให้กับน้องชายผู้ซึ่งก็ตัดสินใจในวันต่อมาปฏิเสธราชสมบัติหากผู้แทนประชาชนไม่ยินยอม เป็นผลให้ระบอบซาร์ในรัสเซียสิ้นสุดลง [13] ขณะที่รัสเซียในยุคสาธารณรัฐก็ยังคงมีชะตาที่กระท่อนกระแท่นเนื่องด้วยสถานการณ์การเมืองที่ไม่มั่นคงอันเนื่องจากสงคราม และอันเนื่องจากการที่กลุ่มบอลเชวิกอันประกอบไปด้วยแรงงานกับทหารที่หันเข้ามาร่วมมือกันหันไปตั้งสภาโซเวียตเป็นสภาผู้แทนแรงงานคู่แข่งในกรุงเปโตรกราด ทำให้รัฐบาลชั่วคราวไม่ได้มีอำนาจเต็มอย่างแท้จริง

สถาบันซาร์กับการเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน

สถาบันซาร์รัสเซียมีโอกาสหลายครั้งในการเลือกปรับตัวเองสู่การปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ก็ไม่ทำ การเรียกร้องสิทธิของแรงงานและคนธรรมดาในเดือนมกราคม ๑๙๐๕ ไม่ได้มีเจตนาจะล้มระบอบซาร์เลยแม้แต่น้อย ข้อเสนอที่ทางผู้ประท้วงยื่นให้ซาร์นิโคไลที่สองเป็นข้อเสนอที่เราเห็นแล้วว่าตอนนี้เกิดขึ้นตามรัฐประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญทั่วโลก เหตุการณ์บานปลายและซาร์อาจไม่ได้สั่งยิงคนที่มายื่นข้อเสนอในวันนั้น แต่ซาร์ก็ยังมีทางเลือกในการเปลี่ยนแปลงให้สถาบันของตนอยู่ร่วมกับสถาบันประชาชนได้โดยไม่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย ซาร์อาจไม่เต็มใจลงชื่อใน แถลงการณ์เดือนตุลาคม ปี ๑๙๐๕ แต่เนื้อหาในแถลงการณ์นั้นหากถูกนำไปปรับปรุงในกฎหมายเพื่อปูทางไปสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญก็ย่อมจะทำให้สถาบันซาร์อยู่ยืนยงไปได้อีกยาวนานในสังคมใหม่ การเลือกตั้งสภาดูมาครั้งแรก ๆ อาจทำให้เกิดสภาที่ไม่เชื่อฟังซาร์อย่างที่คาดหวัง แต่หากซาร์รับฟังสมาชิกสภาที่ล้วนมาจากการเลือกตั้งตามระบบที่บิดเบี้ยวเอื้อประโยชน์ให้เจ้าที่ดินในคราวนั้นที่ต่างต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งให้เป็นธรรม สถาบันซาร์ก็อาจจะอยู่ยืนยาวไปได้อีกอย่างมั่นคง มิหนำซ้ำยังใช้อภินิหารทางกฎหมายอย่างอำนาจ “จากพระผู้เป็นเจ้า” ในการออกกฎให้การเลือกตั้งบิดเบี้ยวไปจากหลักการของมนุษย์บนดินไปอีก แม้แต่ในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนจะสละบัลลังก์ ซาร์ก็เลือกที่จะกลับเมืองหลวงและให้สิทธิเสรีภาพอีกครั้งได้ แต่ก็เลือกไม่ทำ สุดท้ายแล้วเราก็ได้เห็นว่าการไม่ปรับตัวของสถาบันซาร์ให้เข้ากับสถาบันประชาชนนั้นได้ส่งผลร้ายแรงเพียงใดต่อระบอบซาร์และต่อชะตากรรมของรัสเซียในช่วงเวลาต่อมา การเลี่ยงความสูญเสียจากการอพยพหนีความวุ่นวายในประเทศของคนรัสเซียจำนวนมากและจากสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลังปฏิวัติสังคมนิยมอาจจะทำได้หากซาร์เลือกจะปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมที่ประชาชนเป็นใหญ่ จากประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็นว่าการเลือกและการรับฟังใครนั้นมีผลดีและผลเสียเสมอ และแน่นอนว่าหากชนชั้นนำเลือกที่จะไม่ฟังประชาชน ผลที่ตามมาย่อมมหาศาลเกินกว่าจะคาดเดา

ข้อมูลอ้างอิง

[1] Whittaker, C. (1992). The Reforming Tsar: The Redefinition of Autocratic Duty in Eighteenth- Century Russia. Slavic Review, 51(1), 77-98.

[2] Longworth P. (1990) The Emergence of Absolutism in Russia. In: Miller J. (eds) Absolutism in Seventeenth-Century Europe. Problems in Focus Series. Palgrave, London. Pp.175-193.

[3] Longworth P. (1990) The Emergence of Absolutism in Russia. In: Miller J. (eds) Absolutism in Seventeenth-Century Europe. Problems in Focus Series. Palgrave, London. Pp.175-193.

[4] Жирков, Г.В. История цензуры в России XIX-XX вв. М: Аспект Пресс, 2001.

[5] Ленин В. И. С чего начать? // Полное собрание сочинений : в 55 т. / В. И. Ленин ; Ин-т марксизма-ленинизма при ЦК КПСС — 5-е изд. — М.: Гос. изд-во полит. лит., 1967. — Т. 5. Май-декабрь 1901. — С. 1—13.

[6] Государство  российское:  власть  и общество. С древнейших времен до наших дней. Сборник  документов. Под ред. Ю.С.Кукушкина. М., Изд-во Моск. университета, 1996. C.251-254.

[7] Высочайший манифест от 17 октября 1905 г.

[8] Свод основных государственных законов 1906 г.

[9] Выборгское воззвание 10 июля 1906 г.

[10] Высочайший манифест от 3 июня 1907 г.

[11] Высочайший манифест от 3 июня 1907 г.

[12] Blanc, E. A guide to February revolution. URL: https://www.jacobinmag.com/2017/03/guide-february-revolution-russia-tsar-soviets-bolsheviks

[13] Blanc, E. A guide to February revolution. URL: https://www.jacobinmag.com/2017/03/guide-february-revolution-russia-tsar-soviets-bolsheviks