โพ้นทะเลเสวนา ตอนที่ ๖ – “สถาบันกษัตริย์ลาวในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์”

การเสวนาเรื่อง “สถาบันกษัตริย์ลาวในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์” เป็นตอนที่ ๖ ของเสวนาชุด “สถาบันกษัตริย์ในสมัยเปลี่ยนผ่าน” โดยเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับบทความชื่อเดียวกันในบล็อกนักเรียนไทยโพ้นทะเล

ในตอนนี้ ดิน บัวแดง และ พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ ชวน “ณัฐพล อิ้งทม” ผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองลาวสมัยใหม่ มาคุยกันเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองลาวและสถาบันกษัตริย์ลาวโดยเน้นหนักในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

โพ้นทะเลเสวนาในตอนนี้จะกล่าวถึงความเป็นมาของประเทศลาวและสถาบันกษัตริย์ลาวโดยสังเขป ก่อนที่จะพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองยุคราชอาณาจักรระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๗๕ ในภาพรวม ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่ได้รับอิทธิพลจากสงครามเวียดนาม ตลอดจนความเป็นไปของสถาบันกษัตริย์ลาว ที่นำมาสู่ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์และการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์อย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงกระแสนิยมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในยุค สปป.ลาว

ขอเชิญผู้ที่สนใจติดตามรับชมรับฟัง “โพ้นทะเลเสวนา” ตอนที่ ๖ ได้ ผ่านทางช่อง YoutubeSpotify, และ Apple Podcasts

บทกวี “แด่เพื่อน”

ขออุทิศบทกวีนี้แด่พี่สมยศ ทนายอานนท์ เพนกวิ้น และหมอลำแบงค์ รวมทั้งเพื่อนทุกคนที่กำลังต่อสู้อยู่ในเมืองไทย

(ภาพประกอบ: ปกหนังสือ “ศึก” สมานมิตร สวนกุหลาบ)

เบื้องหน้าคือทางยาว
คดเคี้ยวแหละวกวน
ที่เปลี่ยวเปล่าไร้ผู้คน
ทุรยากลำบากหลาย
เพื่อนเอยช่างหาญกล้า
เดินเดี่ยวคนเดียวดาย
เพื่อนฟันฝ่าอุทิศกาย
ถางแดนเถื่อนให้เป็นทาง
เพื่อนเอยจงมีหวัง
ทางเถื่อนที่เลือนราง
ที่เปรียบดังรุจีกลาง-
ประภาส่องอยู่รำไร
เพื่อนเอยสำนึกตน
เพื่อนหยิ่งว่าเป็นไท
ความเป็นคนอันอำไพ
มิยอมท้อต่ออธรรม
หนทางที่วิบาก-
ทุกก้าวจะเคี่ยวกรำ
นี้ เพื่อนยากดำเนินนำ
และหลอมค่าความเป็นคน
หมื่นพันคำหยันเย้ย
ใครหยามก็ทานทน
เพื่อนวางเฉยมิได้สน
เชิดหน้าดุ่มดำเนินไป
มุ่งหน้าสู่ปลายทาง
แสนคนจะรวมใจ
อันสว่างอยู่เรืองไร
แลล้านคนจะเดินเคียง
ประมวลเป็นคลื่นคน
กู่ร้องและก้องเสียง
ที่ทุกข์ทนอยู่รายเรียง
ให้ถึงฟ้านภาหาว
แม้พรหมมาจำแลง
สูงเทียมดาราพราว
เป็นกำแพงที่เหยียดยาว
ก็ไม่หวั่นจะขวางไหว
คลื่นคนย่อมท่วมท้น
กวาดฟ้าสุราไลย
ทะลักล้นเนืองนองไป
มลายล้างลงเพียงดิน

สถาบันกษัตริย์ลาวในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชอาณาจักรมาเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1975 อันเป็นการปิดฉากระบอบกษัตริย์ที่สืบทอดมายาวนานกว่าเจ็ดร้อยปีนับแต่เจ้าฟ้างุ้ม (ค.ศ.1353-1372) ได้สถาปนาอาณาจักรล้านช้างขึ้น

อย่างไรก็ดี จากหลักฐานที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการล่มสลายของระบอบกษัตริย์ลาวมิได้เป็นสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์การเมืองลาวในขณะนั้นคาดการณ์ไว้เนื่องจากในช่วงที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มเข้ายึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1975 นั้น พวกเขายืนยันอย่างหนักแน่นต่อชนชั้นนำฝ่ายขวาที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ต่อไป อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การยึดอำนาจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นได้สร้างความประหลาดใจให้แก่นานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์ไทยซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับสถาบันกษัตริย์ลาว

ดังนั้น บทความนี้จึงพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากระบบกษัตริย์สู่สาธารณรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในลาว ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงบริบททางการเมืองในยุคสงครามเย็นที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในประเทศอื่น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

Continue reading “สถาบันกษัตริย์ลาวในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์”