นักการเมืองที่ชื่อปิยบุตร

ตั้งแต่เมื่อทนายอานนท์เดินสายอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ในม็อบ “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม และที่เชียงใหม่ในวันที่ 9 สิงหาคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อในวันที่ 10 สิงหาคม

ดูเหมือนว่ากระแสปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้งหมดจากภาคประชาชนนี้ แทบไม่ได้ถูกนำมาอภิปรายอย่างจริงจังจากฝ่ายการเมืองฝั่ง “ประชาธิปไตย” เห็นเพียงแต่ออกมาในลักษณะสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา แต่ไม่มีการผลักดันรณรงค์ให้เป็นวาระของพรรคหรือมีการอภิปรายใดๆ ในสภา ทั้งนี้ อาจเพราะนักการเมืองฝ่าย “ประชาธิปไตย” หลายคน มีลักษณะ “ฉวยโอกาส” คือเห็นว่ากระแสนี้มาแรงในคนรุ่นใหม่ จึงไม่พลาดโอกาสในการได้ “ไลค์” ง่ายๆ โดยการออกมาพูดเท่ๆ แต่ไม่ได้ “อิน” หรือเข้าใจประเด็นเรื่องนี้อย่างจริงจัง และไม่แม้แต่คิดที่จะนำไปผลักดันให้เป็นจริงขึ้นมา

จนกระทั่งวันที่ 16 สิงหาคม ก่อนจะมีการชุมนุมใหญ่ของ “คณะประชาชนปลดแอก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า คงเริ่มเห็นว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กำลังเป็นกระแสในหมู่ผู้รักประชาธิปไตย จึงออกมาบรรยายพิเศษ “ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ต่อมาวันนี้ (23 สิงหาคม) ปิยบุตรได้ไปอภิปรายที่เชียงใหม่ ในหัวข้อ “หนึ่งความฝัน: รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

ผมคิดว่าที่ปิยบุตรพูดวันนี้ น่าสนใจ และต่อจากนี้คิดว่าคงทำเป็น pattern เลยอยากบันทึกบางส่วนที่ปิยบุตรพูดเองในงานอภิปรายข้างต้น การเน้นคำเป็นของผม (ดูคลิปได้ที่

https://www.facebook.com/watch/live/?v=700957440634900)

1.00.30 “การถกเถียงกันถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ การถกเถียงกันว่าพระราชอำนาจขอบเขตเส้นแบ่งจะอยู่ตรงไหน จัดวางบทบาทอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องปกตินะครับ เป็นเรื่องปกติ ทำมาโดยตลอด เพิ่งมาประมาณ 20 ปีหลังเนี่ยที่ไม่พูดอะไรกันเลย แต่พูดกันในแวดวงวิชาการ แต่ในสถาบันการเมืองไม่พูดอะไรกันเลย แต่เมื่อก่อนพูดกันเป็นประจำ ลองไปซื้อหนังสือหาอ่านได้ แล้วที่พูดกันก็เป็นรอยัลลิสต์พูดด้วยนะครับ”

1.01.32  “มันพูดกันเป็นเรื่องปกติในสภาครับ จนกระทั่งช่วงหลังเนี่ยมันไม่ยอมพูดกัน พอไม่ยอมพูดกันใครพูดไอ้นั่น “แหลม” ใครพูดไอ่นั่นอันตรายละ สุ่มเสี่ยง ตกใจกลัวกัน จริงๆ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราทำกันมาโดยตลอด และยิ่งไปกว่านั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำด้วย เพราะอะไรครับ คุณกำลังจะพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ คุณกำลังจะพูดเรื่องกฎหมาย แล้วระบอบการปกครองเรายืนยันว่าเรามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นเวลาคุณออกแบบ คุณเขียนรัฐธรรมนูญ … องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ชื่อว่าพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นประมุขของประเทศไทยก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ มันก็เลยจำเป็นอยู่เองที่ต้องมีการถกเถียงอภิปรายพูดคุยกัน ภายใต้กรอบที่ว่าประเทศไทยยังคงเป็นราชอาณาจักรและมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

1.06.10 “เขา [ฝ่ายอนุรักษ์นิยม] ชอบจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ … ลายลักษณ์อักษรมันแก้ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าคลุมเครือผ่านประเพณี ผ่านความคิด ผ่านความเชื่อ คุณแก้มันชั่วข้ามคืนไม่ได้ คุณต้องใช้เวลา … อะไรก็ตามที่เป็นประเพณีคุณไม่รู้หรอกว่าคืออะไร การแก้ประเพณี คือทำซ้ำ เยอะๆ บ่อยๆ [ใช้] เวลา”

1.30.09 “การอภิปรายเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องปกติ และเมื่อต้องการจะพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ระบอบการปกครอง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงพระมหากษัตริย์ เพื่อจัดวางตำแหน่งให้ที่ของสถาบันให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพราะเป็นวิธีการเดียวที่เหลืออยู่ที่จะรักษาสถาบันไว้ได้ในศตวรรษที่ 21 คือใช้ประชาธิปไตย”

1.34.31 “ปัจจัยบังคับเหตุอื่นที่ไม่ใช่ตัวบทกฎหมายก็เพิ่มมากขึ้นมากขึ้น ผมยกตัวอย่างเช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีที่ไหนบอกว่าไม่ให้คุณอภิปราย แต่คุณก็พร้อมใจกันไม่อภิปราย รัฐธรรม 60 เขียนอยู่โทนโท่ว่าแก้หมวด 1 หมวด 2 ได้ แต่ก็จะไม่แก้กัน ไม่ใช่บอกว่าให้แก้หรือไม่ให้แก้ แต่ถึงขนาดไปบอกล่วงหน้าเลยว่าฉันจะไม่แก้ … เพราะฉะนั้นมันอาศัยทั้งสองอย่าง ขนาดตัวบทไม่ห้ามคุณ แต่คุณห้ามด้วยตัวคุณเอง … การเพิ่มขึ้นของพระราชอำนาจมาจากปัจจัยทั้งสองอย่าง ปัจจัยทางตัวบทรัฐธรรมนูญและกฎหมาย … กับเหตุปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย”

2.03.00 “ต้องมีความพยายามกันทั้งในระบบกับพลังในทางสังคม ในระบบก็คือบรรดา Institution สถาบันทางการเมืองที่มีส่วนในการถืออำนาจรัฐทั้งหลาย คุณก็จะมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ ให้มันสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย อีกด้านนึง Civil society ก็จะเป็นส่วนในการสนับสนุนผลักดัน ในเรื่องของการพูดคุย การสร้างความคิดเห็น การผลักดันให้มันเป็นวาระของสังคม มันก็จะไม่ต่างอะไรกับเวลาเราอยากจะพูดเรื่องปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกองทัพถ้า Civil society พูดคอแทบแตก แต่พวก Institution มันไม่ทำ จบ ในขณะเดียวกัน Institution อยากจะทำ Institution บอกจะทำยังไงถ้า Civil society ไม่ช่วยกันผลักให้เห็นว่าเป็นวาระสำคัญของประเทศ กระจายอำนาจ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปองค์กรอิสระ รวมทั้งปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ทั้งหมดมันก็เลยกลายเป็น public issue ทั้งหมดที่ทั้ง Institution และทั้ง civil society สถาบันการเมืองที่ถืออำนาจรัฐ กับภาคประชาชนทั้งหมดก็ต้องช่วยกันผลัก ต้องช่วยกันสนับสนุน

สำหรับผมที่ติดตาม “อาจารย์ปิยบุตร” ในฐานะนิติราษฎร์เมื่อ 7-8 ปีก่อน จะคุ้นเคยดีกับปิยบุตรเวอร์ชั่นนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “อาจารย์ปิยบุตร” เป็นผู้ที่เข้าใจปัญหาเรื่องสถานะและตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยได้อย่างดีที่สุดคนหนึ่ง

แม้จะดีใจ ที่ “อาจารย์ปิยบุตร” กลับมา เพราะถือเป็นโอกาสให้นักศึกษารุ่นใหม่ๆ ที่เริ่มสนใจการเมือง ได้ฟังอภิปรายและเข้าใจเรื่องสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยได้ดียิ่งขึ้น

แต่ก็มีคำถามใหญ่ถึง “อาจารย์ปิยบุตร” ว่า ในฐานะคนที่เข้าใจประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง ในช่วงราว 2 ปีที่ผ่านมาตลอดช่วงที่เป็นนักการเมือง ทำไมถึงไม่ผลักดันเรื่องนี้เลย ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า การผลักดันในส่วนของภาคประชาสังคมอย่างเดียวนั้นมีแต่จะล้มเหลว แน่นอนว่าการริเริ่มเรื่องนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่ด้วยความเป็นนักการเมืองที่มีสถานะทางสังคมที่ดีกว่า และโฆษณาว่าเป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย แถมยังเป็นคนที่เห็นปัญหาในเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างแจ่มชัด ทำไมถึงอยู่เฉยได้? ทำไมต้องรอให้มีการอุ้มฆ่าผู้ลี้ภัยทางการเมือง ต้องรอให้ทนายน้อยๆ และนักศึกษาออกมาโดนดำเนินคดีกันถึงค่อยออกมาพูด?

image
โพสต์ของอานนท์ นำภา วันที่ 22 สิงหาคม 2563

ที่สำคัญคือ “อาจารย์ปิยบุตร” วันนี้มีท่าทีวิจารณ์นักการเมือง ราวกับตัวเองไม่เคยเป็นนักการเมือง ทำไมตอนที่ตัวเองอยู่ในสภา มีตำแหน่งแห่งที่ในพรรค ไม่ผลักดันเรื่องนี้ในพรรคและอภิปรายเรื่องนี้ในสภา?

ตอนอาจารย์ปิยบุตรไปเป็นนักการเมือง อาจารย์บอกไว้ว่าได้เปลี่ยนบทบาทของตัวเองในการต่อสู้แล้ว ทำให้คนที่เคยเข้าใจและเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอดอย่างอาจารย์ ทิ้งบทบาทนั้นไป

พอมาตอนนี้เมื่อภาคประชาสังคมเคลื่อนกันแล้วโดยพรรคก้าวไกลไม่ได้มีบทบาทใดๆ ตัวปิยบุตรเองแม้โดนตัดสิทธิทางการเมือง แต่ยังเป็น “เลขาธิการคณะก้าวหน้า” และคงจะมีความเกี่ยวพันกับพรรคก้าวไกลอยู่ ก็ต้องเรียกได้ว่าทุกวันนี้ยังเป็นนักการเมือง ปิยบุตรไม่สามารถปฏิเสธบทบาทหน้าที่นักการเมืองที่จะร่วมผลักดันเรื่องนี้ได้ เพราะตัวเองได้วิจารณ์เรื่องนี้เอาไว้เอง

วันนี้ แม้จะ “ฉวยโอกาส” เพราะให้ประชาชนออกมานำหน้าก่อนแล้ว แต่เรายังต้องการ “นักการเมืองที่ชื่อปิยบุตร” ที่ไม่เพียงแต่คอยบรรยายและวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะ “อาจารย์ปิยบุตร” – แม้เป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง – แต่ต้องเป็นนักการเมืองที่ช่วยผลักดัน “บรรดา Institution สถาบันทางการเมืองที่มีส่วนในการถืออำนาจรัฐทั้งหลาย” ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ช่วยกันเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปิยบุตรต้องผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายของพรรคให้ได้เพราะตนเข้าใจเรื่องนี้ดีกว่าใคร ต้องให้ สส. อภิปรายในสภาให้มากขึ้น และ “คณะก้าวหน้า” ก็ต้องแสดงตัวว่าก้าวหน้าให้จริง ด้วยการออกมายืนเคียงข้างนักศึกษารักษาเพดานและผลักดันปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อไปให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่เป็นกองเชียร์อยู่ข้างหลัง

 

Author: Din Buadaeng

A History Student

One thought on “นักการเมืองที่ชื่อปิยบุตร”

Leave a comment