ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความ (ไม่) เข้าใจสถาบันกษัตริย์อังกฤษในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย

ดูเหมือนว่าความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรนั้นมักถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนจุดยืนทางการเมืองของนักเคลื่อนไหวคนสำคัญหลายคน เช่น หมอวรงค์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มไทยรักษาชาติ ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวโจนาธาน เฮด ในรายการ BBC Newsnight ว่าประชาชนชาวอังกฤษไม่สามารถด่าทอประมุขของรัฐหรือควีนอลิซาเบธที่สองได้ แต่ผู้สื่อข่าวได้แย้งในรายการทันทีว่านั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง[1] ยิ่งไปกว่านั้น การวิจารณ์กษัตริย์ในประเทศสหราชอณาจักรนั้นมีมาอย่างช้านาน ไม่ได้เพิ่งมามีในศตวรรษนี้

นายวรงค์ เดชกิจวิกรมให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวของช่องบีบีซี (BBC News) ในหัวข้อ ‘ Why are young activists in Thailand protesting against the Monarchy?’ หรือ ทำไมนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ในไทยถึงประท้วงต่อต้านบทบาทของสถาบันกษัตริย์?

ยกตัวอย่างเช่น วารสารชื่อ Crisis ในกรุงลอนดอน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่สิบแปดช่วงที่เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของพระเจ้าจอร์จที่สามซึ่งออกนโยบายกดขี่อาณานิคมอเมริกา หนึ่งในวารสารฉบับที่ได้รับความนิยมมากที่สุดปรากฏข้อความโจมตีจอร์จที่สามอย่างรุนแรง ดังนี้

ขอให้พระองค์ [พระเจ้าจอร์จที่สาม] หยุดละเมิดสัญญาที่พระองค์มีกับประชาชนและเร่งทำตามข้อเสนอของชาวอาณานิคม ขอให้ลอร์ดบิวท์ ลอร์ดแมนส์ฟิลด์ ลอร์ดนอร์ธ และบรรดาลูกสมุนของพระองค์ผู้จะนำความพินาศมาสู่พระองค์และราชอาณาจักร ตอบสนองต่อคำเรียกร้องของชาวอาณานิคมด้วยสติปัญญาและยอมรับว่าตนได้กระทำอาชญากรรมอันร้ายแรงต่อพวกเขาเหล่านั้น[2]

วารสาร Crisis
วารสาร CRISIS ซึ่งได้มีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ต่ออาณานิคมอเมริกา

ระบอบรัฐสภาของประเทศสหราชอาณาจักรยังมักถูกหยิบยกมาสนับสนุนข้อคิดเห็นที่ว่าสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยของโลกสมัยใหม่ โดยมองระบอบรัฐสภาอังกฤษในฐานะ “แม่แบบ” ของการเมืองสมัยใหม่ โดยข้อคิดเห็นนี้มักเน้นความเป็น “ประเพณี” ของการเมืองการปกครองของสหราชอาณาจักรในระบบกฎหมายแบบ “ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร” หรือ common law ความเห็นประเภทนี้มักอ้างความชอบธรรมของ status quo (อาจพูดเป็นภาษาทั่วไปได้ว่าข้ออ้างประเภท “ก็เขาทำกันมาแบบนี้”) โดยยก “ตัวอย่างทางประวัติศาสตร์” เหตุการณ์หนึ่งว่าความพยายามในการเปลี่ยนอังกฤษเป็นสาธารณรัฐ (commonwealth) ในยุคโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) นั้น นำไปสู่ระบอบสาธารณรัฐที่มีพื้นฐานอยู่บนความสุดโต่งทางศาสนา และมีอายุเพียงสิบเอ็ดปี จนกระทั่งมีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์การเมืองจึงกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง แน่นอนว่าความเห็นลักษณะนี้มักละเลยแง่มุมอันสลับซับซ้อน เช่น ความสุดโต่งทางศาสนาของครอมเวลล์ผู้เป็น Puritan (แขนงหนึ่งของนิกายโปรเตสแตนท์ในศาสนาคริสต์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งทางศาสนาและมรรคปฏิบัติแบบเรียบง่าย สมถะ และต่อต้านพิธีกรรมทางศาสนาที่เน้นความฟุ้งเฟ้อ) ความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจเมื่อสี่ร้อยกว่าปีที่แล้วภายใต้ระบบจักรวรรดิพาณิชยนิยมกับตอนนี้  

การอภิปรายในลักษณะนี้จะเลือกหยิบยกเอาแต่ความหายนะทางการเมืองทั้งหลายที่เกิดขึ้นหลังจากการล้มระบอบกษัตริย์มาใช้สนับสนุนความเห็นเกี่ยวกับการเมืองไทยโดยไม่ได้อธิบายวิธีวิทยาในการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบเท่าไรนัก ตัวอย่างงานเขียนประเภทบทความแสดงความเห็น (op-ed) ดังกล่าวได้แก่ “สงครามกลางเมืองอังกฤษ: พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (The World Turned Upside Down)” โดยไชยันต์ ไชยพร[3] ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยในไทยก็มักหยิบยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญจากประเทศอื่นๆ ที่มีตัวบทปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชนอย่างชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยเน้นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนเพื่อเสรีภาพทางการเมืองและความหลุดพ้นจากพันธนาการต่างๆ ของ “ระบอบเก่า” ในความหมายกว้างและตีขลุม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อวิจารณ์อำนาจอันล้นพ้นและไร้การตรวจสอบของสถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่ใจกลางของระบอบเก่าดังกล่าว

บทความสงครามกลางเมืองอังกฤษ: พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (The World Turned Upside Down) ของไชยันต์ ไชยพรจากเว็บโพสต์ทูเดย์ – สงครามกลางเมืองอังกฤษ: พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (The World Turned Upside Down) – โพสต์ทูเดย์ คอลัมนิสต์การเมือง (posttoday.com)

บทความนี้จึงชวนผู้อ่านทบทวนเกี่ยวกับการนำ “ประวัติศาสตร์” ของประเทศอื่นมาใช้ในการสร้างข้อถกเถียงทางการเมือง โดยเจาะจงไปที่สหราชอาณาจักร เนื่องจากเป็นประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบสภาคู่ และมีประมุขของประเทศมาจากสถาบันกษัตริย์ ทำให้เป็นที่สนใจของสังคมไทยโดยเฉพาะตอนนี้

  1. ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหราชอาณาจักร “ประเพณี” ไม่ใช่คู่ตรงข้ามของ “สิทธิ” เสมอไป

การวาดภาพว่าการต่อสู้ทางการเมืองคือการต่อสู้ระหว่างประเพณีกับสิทธินั้นอาจเป็นเรื่องเล่าที่เข้าใจง่ายและขายได้ แต่การเล่าเรื่องแบบคู่ตรงข้ามแบบนี้มีปัญหา โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้สร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองของสหราชอาณาจักร ตัวอย่างการนำกรอบการมองแบบนี้มาสร้างข้อถกเถียงทางการเมืองได้แก่บทความชื่อ “ประชาธิปไตยแบบอังกฤษ : ‘ประชาธิปไตย’ แบบไทย?” ของวิชัย ตันศิริ ซึ่งสรุปบทเรียนทางการเมืองจากการ “ศึกษา” ประวัติศาสตร์อังกฤษว่า

“สังคมไทย หากในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง การปกครอง ใน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้ศึกษาระบบอังกฤษ และนำสิ่งที่ควรเลียนแบบเพื่อให้เหมาะกับระบบของเราที่มีสถาบันกษัตริย์อยู่แล้ว เราคงเจริญก้าวหน้าทางการเมือง รวมทั้งทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย น่าเสียดายที่นักศึกษาผู้จบจากประเทศยุโรปตะวันตกสมัยก่อน ไม่ได้ศึกษาเปรียบเทียบระบบการเมือง การปกครองของอังกฤษให้ถ่องแท้ หรือรู้ซึ้งถึงข้อบกพร่องของระบบการเมืองแบบฝรั่งเศส ซึ่งอาจเหมาะกับสาธารณรัฐนิยม แต่ไม่เหมาะสมกับราชอาณาจักร เช่น ราชอาณาจักรไทย ซึ่งควรใช้แบบของอังกฤษ จะเหมาะสมกว่า”[4]

นอกจากนี้ คำอธิบายที่ว่าประเทศอังกฤษเน้นประเพณีการปกครอง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ยังปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายโดยการตีความของศาลรัฐธรรมนูญไทยเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540, 2550 หรือมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรในรัฐธรรมนูญไทย[5] ทำให้เห็นได้ว่า คำว่า “ประเพณี” โดยเฉพาะคำว่าประเพณีการปกครองของอังฤษ มีชีวิตทางการเมืองของตัวเองในบริบทการเมืองไทยมาช้านาน และมักถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการออกกฎหมายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนและลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง

 อย่างไรก็ตาม ในโลกวิชาการที่ใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งนักกฎหมายและนักประวัติศาสตร์ได้ตั้งคำถามต่อคำกล่าวที่ว่า ‘ประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญและยึดโยงประเพณีการปกครองเป็นสำคัญ’ และพบว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น จนทำให้คำอธิบายแบบนี้หมดความน่าสนใจทางวิชาการไปนานแล้ว  ยกตัวอย่างเช่น บทความชื่อ The Myth of the Common Law Constitution ในหนังสือ Common Law Theory[6]

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้คู่ตรงข้ามระหว่างประเพณีและสิทธิในการอธิบายพัฒนาการทางการเมืองของสหราชอาณาจักรยังละเลยความจริงที่ว่า “ภาษา” แบบ common law ที่เน้นความเก่าแก่จนหาต้นตอไม่ได้ (time immemoriality) ของระบอบรัฐสภาอังกฤษนั้นถูกใช้โดยฝ่ายสภาฯ (ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายนิยมกษัตริย์) ในศตวรรษที่สิบเจ็ด นำโดยนักกฎหมายคนสำคัญอย่าง Sir Edward Coke พูดง่ายๆ ก็คือ ในอังกฤษยุคสงครามกลางเมืองที่ถูก ‘ฝ่ายประชาธิปไตยในไทย’ นำมากล่าวอ้างบ่อยๆ นั้น จริงๆ แล้วฝ่ายที่ใช้ “ประเพณี” เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองคือฝ่ายสภา ไม่ใช่ฝ่ายนิยมกษัตริย์ และฝ่ายสภานี้อันประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายพื้นเพก็ใช้ “ภาษา” แบบสิทธิทางธรรมชาติปะปน ควบคู่ และผสมผสานไปกับภาษาแบบประเพณีนิยม[7] นอกจากนี้ในศตวรรษที่สิบแปด การขึ้นมามีอำนาจของราชวงศ์ฮันโนเวอร์ (Hanover) และการผนึกกำลังระหว่างกษัตริย์และสภาซึ่งมีพรรควิก (Whig) (พรรคการเมืองที่แรกเริ่มมีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายสภาหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง แต่เมื่อเข้าศตวรรษที่สิบแปด ขั้วการเมืองในสภาเปลี่ยนเป็นระหว่าง Court vs. Country มากกว่าโดยพวกแรกแบ่งเป็นทั้ง Court Whig หรือพวกวิกที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกษัตริย์ และพวก Country Whig ที่มีพลังทางการเมืองจากฐานเสียงในชนบทเป็นหลัก) เป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากก็ยังทำให้ฝ่ายทอรี่ (ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในกรอบรัฐสภาที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับกษัตริย์เสมอไป) ซึ่งตอนนั้นเป็นฝ่ายค้านนำโดย Viscount of Bolingbroke กลับไปใช้ข้อถกเถียงเรื่องประเพณีการปกครองและความเก่าแก่ของสภาล่างมาโจมตี Robert Walpole จากพรรควิกและพระเจ้าจอร์จที่สอง

ภาพวาดอาคารรัฐสภาอังกฤษของโคล็ด โมเนต์ (Claude Monet) – The Houses of Parliament, Sunset (1932)

2. ความผิดที่ผิดทางของช่วงเวลา (Anachronism)และมายาคติ (mythologies) แบบต่างๆ ในการศึกษาความคิดทางการเมือง

ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวเนื่องกับประเด็นแรก แต่เป็นข้อสังเกตของผู้เขียนเกี่ยวกับการศึกษาแนว “ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง” โดยเฉพาะการนำคำว่า “บริบท” มาใช้แบบผิวเผิน (in the form of lip service) โดยปราศจากการศึกษาหลักฐานชั้นต้นอย่างเข้มข้นอันเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาแนวประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา อันนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า anachronism หรือความไม่สอดคล้องกันทางเวลาของข้อโต้แย้ง ตัวอย่างเช่น หากเราศึกษางานของศตวรรษที่สิบเจ็ดในยุคสงครามกลางเมืองของอังกฤษอย่างลึกซึ้ง เราจะไม่มีวันเรียกจอห์น ล็อค ว่าเป็นนักเสรีนิยมหรือ liberal เนื่องจากคำดังกล่าวไม่ถูกใช้ในงานชิ้นไหนเลยในศตวรรษที่สิบเจ็ด ร้อยปีถัดจากนั้น คำว่า liberal ถึงจะได้รับความสนใจ และกว่าจะเป็นที่นิยมจริงๆ ก็ในช่วงศตวรรษที่สิบเก้าเข้าไปแล้ว ปัญหาของงานเขียนเกี่ยวกับล็อคในยุคหลังๆ คือการพยายามยัดเยียดความเป็นต้นกำเนิดของลัทธิเสรีนิยมให้กับงานเขียนของล็อคที่ชื่อ Two Treatises of Government (1689) ยังไม่ต้องกล่าวถึงงานที่ศึกษา “นิทาน” เกี่ยวกับความเป็นบิดาแห่งเสรีนิยมของล็อคและการเชื่อมโยงเข้ากับบริบทการก่อตัวของรัฐศาสตร์ในอเมริกาซึ่งมีอีกหลายชิ้น รวมถึงบทความเรื่อง “John Locke and the Fable of Liberalism”[8]

ความเคร่งครัดต่อห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์นี้เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาแนวประวัติศาสตร์ความคิด และเป็นความพยายามที่จะศึกษาความคิดทางการเมืองในอดีตโดยให้อคติของผู้ศึกษาในฐานะคนที่มีชีวิตทางการเมืองในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดครอบงำงานวิจัยให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ Quentin Skinner เขียนถึงมายาคติ (mythologies) ต่างๆในการศึกษาความคิดทางการเมืองในหนังสือ Visions of Politics Volume 1: Concerning Methods[9] เช่น มายาคติเกี่ยวกับ ‘ระบบความคิด’ ของงานเขียนทางการเมือง (Mythology of Doctrine) เช่น การตั้งธงก่อนการศึกษาว่าสถาบันกษัตริย์ในประเทศกำลังพัฒนาที่กลับมาฟื้นฟูในช่วงสงครามเย็นนั้นมีความต่อเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ในประเทศยุโรปตะวันตก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ที่เลือกใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบประวัติศาสตร์ความคิดย่อมไม่มีวันยกตัวอย่างสงครามกลางเมืองเมื่อสี่ร้อยกว่าปีมาแล้วในอีกซีกโลกมาสนับสนุนการความคิดเห็นทางการเมืองในอีกซีกโลกหนึ่ง หากปราศจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีจำนวนและน้ำหนักเหมาะสมเพียงพอที่จะให้กล่าวเช่นนั้นได้

แนวทางการศึกษาแบบประวัติศาสตร์ความคิดโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง ในแง่หนึ่ง เป็นความพยายามของนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่จะทบทวนความเป็นการเมืองของการเขียนตำรารัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์โดยย้อนกลับไปดูหลักฐานชั้นต้นอย่างจริงจัง ดังนั้น จึงเป็นที่น่ายินดีที่สังคมไทยสนใจศึกษาประวัติศาสตร์สถาบันกษัตริย์ด้วยระเบียบวิธีวิจัยแบบดังกล่าว เนื่องจากสังคมไทยต้องการเนื้อหาในการนำไปต่อยอด สร้างข้อถกเถียงเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ต่อต้านหรือสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันดังกล่าวก็ตาม การสร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยการทำให้การแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องปกตินั้นเป็นหนทางเดียวที่จะผ่าทางตันของการเมืองในปัจจุบันอย่างปราศจากความรุนแรง และทุกคนรู้ดีว่าความเป็นไปได้เกี่ยวกับการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตนั้นคือสิ่งไม่พึงประสงค์โดยไม่จำเป็นต้องใช้ตัวอย่างจากสี่ร้อยปีก่อน พวกเขาเพียงแต่ชั่งน้ำหนักแล้วว่าการไม่ทำอะไรเลยนั้นเป็นหนทางไปสู่ความพินาศยิ่งกว่า


เชิงอรรถ

[1] Why are young activists in Thailand protesting against the monarchy? – BBC Newsnight https://youtu.be/arRDFs2nezY

[2] The Crisis, 4 Feb. 1775, no. 3, p. 12. แปลจาก May the compact between you and the People be no more VIOLATED; may you be SPEEDILY reconciled to the just Demands of the Colonies: May Lord Bute, Lord Mansfield, Lord North and your Majesty’s infamous Minions, who would precipitate you and the Kingdom into Ruin, answer with their HEADS (and soon) for their horrid CRIME

[3] https://www.posttoday.com/politic/columnist/636226

[4] https://www.naewna.com/politic/columnist/41206

[5] https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20170720141046.pdf

[6] Goldsworthy, J. (2007). The Myth of the Common Law Constitution. In D. Edlin (Author), Common Law Theory (Cambridge Studies in Philosophy and Law, pp. 204-236). Cambridge: Cambridge University Press. doi:10.1017/CBO9780511551116.009

[7] ดู Cavanagh, Edward. “INFIDELS IN ENGLISH LEGAL THOUGHT: CONQUEST, COMMERCE AND SLAVERY IN THE COMMON LAW FROM COKE TO MANSFIELD, 1603–1793.” Modern Intellectual History 16, no. 2 (2019): 375-409.

[8] STANTON, T. (2018). JOHN LOCKE AND THE FABLE OF LIBERALISM. The Historical Journal, 61(3), 597-622. doi:10.1017/S0018246X17000450

[9] Skinner, Quentin. “Meaning and Understanding in the History of Ideas.” Chapter. In Visions of Politics, 1:57–89. Cambridge: Cambridge University Press, 2002. doi:10.1017/CBO9780511790812.007.

One thought on “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความ (ไม่) เข้าใจสถาบันกษัตริย์อังกฤษในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย”

  1. อ่านแล้วงงนิดหน่อย ว่า สรุปแล้วจะเทียบอะไรได้บ้างบนฐานของการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิด อย่างถ้าใช้ชุดคำเดียวกัน แต่ด้วยสำนึกต่างกัน จะเทียบได้ป่ะ? หรือถ้าใช้ชุดคำคนละชุด แต่ด้วยสำนึกคล้ายกัน เทียบได้ไหม?
    เหมือนประเด็นของผู้เขียนคือระยะห่างทางเวลาและการสวมคำปัจจุบันลงไปในสมัยที่ไม่มีการใช้คำนั้น ทำให้เกิดการเทียบแบบผิดฝาผิดตัว ถ้าอย่างนั้นเราจะสืบสำนึกบางอย่างข้ามทะเลและเวลายังไง ถ้าทุกอย่างมีบริบทลึกซึ้งของตัวเองจนยากจะข้าม
    เหมือนคำตอบคือ 1 ก็ต้องศึกษาเอกสารชั้นต้นอย่างลึกซึ้ง 2 ไม่อ่านงานรัฐศาสตร์เชิงเปรียบเทียบ 3 เทียบเฉพาะบริบทที่เชื่อมถึงกันชัดเจนเท่านั้น เช่น ถ้าจะดูกษัตริย์ประเทศกำลังพัฒนาที่ฟื้นขึ้นมาช่วงสงครามเย็น ก็เทียบได้บนฐานพื้นที่ประเทศกำลังพัฒนาและเวลาสงครามเย็นเท่านั้น

    Like

Leave a comment