ปัญหาของงานฟุตบอลประเพณีคือการยึดโยงกับอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของสถาบันกษัตริย์

ไม่กี่วันมานี้มีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับงานฟุตบอลประเพณี เนื่องจากองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ประกาศยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในปีนี้

ในฐานะคนที่เคยค้นคว้าและร่วมเสวนาเกี่ยวกับงานฟุตบอลประเพณี เลยอยากจะเอาข้อมูลส่วนที่ตัวเองเคยค้นและประสบการณ์บางประการมาเผยแพร่ รวมถึงการเสนอข้อเสนอบางประการ โดยหวังว่าจะมีประโยชน์อยู่บ้างในสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อเดือนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ปี 2555 กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) ซึ่งผมเป็นสมาชิก จัดงานเสวนา “เรายังจะจัดงานบอลกันอีกหรือ?” งานดังกล่าวมีวิทยากรหลายท่าน ส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์งานบอลที่จะจัดขึ้นในปีนั้น (จัดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555)

ในงานดังกล่าว ผมนำเสนอเรื่องประวัติศาสตร์ของงานฟุตบอลประเพณี โดยค้นเอกสารส่วนใหญ่จากหอประวัติฯ ของจุฬาฯ ผมทำ Powerpoint ไว้ จึงแปลงมาเป็น Pdf ให้โหลดได้ที่นี่

ผมเสนอว่าควรจะยกเลิกงานบอลในปีนั้น เพราะประเทศไทยเพิ่งผ่านน้ำท่วมใหญ่มาช่วงปลายปี 54 ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เราจะลงทุนลงแรงจัดงานฟุตบอลประเพณี สนุกสนานกันไปทำไม โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์งานฟุตบอลประเพณีนั้น ก็เคยมีการยกเลิกมาแล้วหลายครั้ง เช่น ช่วงตอนน้ำท่วมใหญ่ 2485 หรือช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานในปี 2516-2518 ดังนั้นไม่ได้แปลว่า “ประเพณี” นี้จะยกเลิกเป็นครั้งเป็นคราวไม่ได้

ความเป็นจริงแล้วในตอนนั้น ผมมีความเห็นว่าควรจะยกเลิกงานทั้งหมดไปเลย หากิจกรรมใหม่ทำกันดีกว่า แต่ก็ไม่ได้พูดไป เพราะคิดว่าในขั้นต่ำอย่างน้อยก็ควรจะยกเลิกในปี 2555 ก่อน

สาเหตุที่ควรจะยกเลิกงานฟุตบอลประเพณี คือเพราะงานนี้ไม่มีความโปร่งใส รายรับรายจ่ายตรวจสอบไม่ได้ และที่สำคัญ จากข้อมูลที่ผมค้นในตอนนั้น ผมพบว่า ตั้งแต่ปี 2519 มีการถวายรายได้จากงานบอล “โดยเสด็จพระราชกุศล” ตลอดมา (ยกเว้นพ.ศ. 2537 สมทบทุนโครงการพระราชดำริแก้ไขจราจร และพ.ศ. 2541 สมทบทุนไทยช่วยไทย)

นอกจากนี้ ยังมีการให้องคมนตรีมาเปิดงาน เรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด หรือยังมีอยู่หรือไม่ ผมไม่ได้ค้นละเอียด แต่มีความเห็นว่าไม่จำเป็น ไม่สมเหตุสมผล

ดังนั้นแล้วสำหรับผม ปัญหาใหญ่ของงานฟุตบอลประเพณี คือปัญหาการยึดโยงกับอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของสถาบันกษัตริย์ หากไม่ต้องการยกเลิกงานฟุตบอลประเพณี สิ่งสำคัญ (priority) ที่ควรจะรณรงค์คือ ยกเลิกการให้องคมนตรีมาเป็นประธาน (ตามข้อ 5 ของข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ) และยกเลิกการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล (ตามข้อ 6 ของข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ) รายรับรายจ่ายทั้งหมดของงานฟุตบอลประเพณีต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสมเหตุสมผล

(ในงานนั้นเปิดให้นิสิตรับแบบฟอร์มและยื่นแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นการรณรงค์ของ ครก. 112 ผมโดนด่าว่าจัดเรื่องงานบอล เอาเรื่องเจ้า เรื่อง 112 มาเกี่ยวทำไม ความเป็นจริงก็คือมันเกี่ยว)


จะยกเลิกงานบอลไปก็ได้ แต่ระยะหลังนี้ ผมเริ่มเปลี่ยนใจ ผมยังจำได้ดีว่าตอนจัดเสวนาวิจารณ์งานบอลนั้น ผมไปคุยกับอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์เล่าว่าสมัยเขาเป็นนักศึกษา พวกเขายกเลิกงานบอลในปี 2516-2518 เพราะเห็นว่าฟุ่มเฟือย ไร้สาระ รับใช้ทุนนิยม แต่ต่อมาในปี 2519 อาจารย์เห็นว่าการรื้อฟื้นงานบอลกลับมา แล้วทำเนื้อหาให้ก้าวหน้า ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหว ดีกว่ายกเลิกไปเลย ดังนั้นอาจารย์จึงไม่เห็นด้วยกับการต้องยกเลิกงานบอล แต่เห็นว่าต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผลักดันงานบอลให้มีลักษณะก้าวหน้า และตรงกับอุดมการณ์ของเรา

ระยะหลังผมเห็นการแปรอักษรและขบวนล้อการเมืองที่ก้าวหน้า ผมก็ตื่นเต้น และคิดว่าอาจารย์สุธาชัยคงดีใจ เพราะการมีงานแบบนี้ ดีกว่าไม่มี

หากย้อนกลับไปเรื่องขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ผมเชื่อว่า นิสิตรุ่นนี้อยากจะทำอะไร ก็ควรจะเป็นเรื่องของนิสิตรุ่นนี้ ความเห็นของกลุ่มอื่นๆ ไม่ควรจะมีความสำคัญหรือ “เสียงดัง” กว่านิสิตที่ต้องทำงาน (แบกหาม) พระเกี้ยว และร่วมกิจกรรมจริงๆ พวกเขาจะมองพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของศักดินา หรือสะท้อนความไม่เท่าเทียมกัน สะท้อนการทำให้คนไม่เท่ากัน แบบในแถลงการณ์ของอบจ. ก็ไม่ผิดและไม่แปลกอะไร

แต่ถ้าจะถามความเห็นส่วนตัว แทนที่เราจะยกเลิก เราจะเอาสัญลักษณ์พระเกี้ยวมาใช้โดยแปลงความหมายให้ตรงกับอุดมการณ์ของยุคสมัยได้หรือเปล่า? เราหาทางทำให้พระเกี้ยวหมดความศักดิ์สิทธิ์ มีเพียงความหมายประวัติศาสตร์ และเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยได้ไหม? ในความหมายนี้ ก็ต้องยกเลิกพิธีรีตอง ยกเลิกผู้อัญเชิญต่างๆ และยกเลิกบังคับใช้แรงงานนิสิตที่ไม่ได้สมัครใจมาทำ และต้องคิดหากิจกรรมใหม่ๆ ว่าทำอย่างไรเราจึงจะเปลี่ยนความหมายพระเกี้ยวให้ตอบสนองอุดมการณ์ของนิสิตปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

Author: Din Buadaeng

A History Student

Leave a comment