ซามูไร ศักดินา และพญาอินทรี: กำเนิดและพัฒนาการของอุดมการณ์ชาตินิยมกับระบอบประชาธิปไตยที่มีจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ในญี่ปุ่น

วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1946 จักรพรรดิโชวะหรือจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ (Emperor Showa 1901-1989) ทรงมีพระราชดำรัส “ประกาศความเป็นมนุษย์” (Ningen Sengen) เพื่อปฏิเสธสถานะ “องค์อวตารของเทพ” (Arahitogami) ของพระองค์ ตามคำชี้นำของผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายพันธมิตรหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกาศความเป็นมนุษย์ฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างชาติญี่ปุ่นหลังสงครามให้อยู่ใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีจักรพรรดิเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติที่ปราศจากพระราชอำนาจ

ก่อนหน้านั้น แม้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของญี่ปุ่นเริ่มก่อตัวขึ้นหลังการปฏิรูปเมจิ ค.ศ. 1868 และเบ่งบานขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1910-1920 ซึ่งเรียกว่ายุค ประชาธิปไตยไทโช (Taisho Democracy) ทว่าระบอบประชาธิปไตยของญี่ปุ่นช่วงก่อนสงครามก็สิ้นสุดลงหลังจากการยึดอำนาจของกลุ่มทหาร ซึ่งนำญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคการปกครองแบบฟาสซิสต์ โดยมีจักรพรรดิเป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างอุดมคติชาตินิยม

กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของญี่ปุ่นที่มีจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของชาติหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 2 นั้นหาได้ประสบความสำเร็จจากการต่อสู้จากภาคประชาชนโดยตรง หากแต่เป็นผลลัพธ์จากการเข้ามาของพญาอินทรี ซึ่งสยายปีกแผ่อำนาจเข้าครอบงำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในช่วงทศวรรษ 1950-1970

แม้ระบอบประชาธิปไตยที่มีจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดายจากการชี้นำของสหรัฐดังที่กล่าวมา แต่เมื่อดูในรายละเอียดของกระบวนการออกแบบและความเปลี่ยนแปลงหลังจากญี่ปุ่นได้รับอธิปไตยกลับคืนมาใน ค.ศ. 1952 แล้วพบว่า แม้ญี่ปุ่นยุคหลังสงครามจะเปลี่ยนไปสู่ประเทศประชาธิปไตย แต่ความเป็นประชาธิปไตยของญี่ปุ่นก็มิได้มีรูปแบบที่ตรงไปตรงมาดังเช่นประชาธิปไตยแบบสากลในประเทศะวันตกและเต็มไปด้วยความซับซ้อนจากบริบททางประวัติศาสตร์ ส่วนสถาบันจักรพรรดิที่ถูกลดสถานะลงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติก็ยังคงถูกใช้สร้างความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายทางการเมืองโดยรัฐบาลฝ่ายขวาที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาอย่างยาวนาน

ด้วยเหตุนี้เอง การยกเอาประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งจักรพรรดิอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นการมองแต่เปลือกนอกที่ปรากฏในสื่อกระแสหลักอย่างฉาบฉวย จนละเลยถึงบริบทเฉพาะของสถาบันจักรพรรดิที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจากอิทธิพลของสหรัฐในเอเชียแปซิฟิก  

บทความนี้จะนำแนะพัฒนาการของอุดมการณ์ชาตินิยมญี่ปุ่น การกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยยุคหลังสงครามภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ และศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน 1. จักรพรรดิญี่ปุ่นรากฐานของอุดมการณ์ชาตินิยม  2. ระบอบประชาธิปไตยและจักรพรรดิเชิงสัญลักษณ์ใต้ปีกพญาอินทรี 3. ขบวนการเคลื่อนไหวและอุดมการณ์ชาตินิยมญี่ปุ่นหลังสงคราม

1. จักรพรรดิญี่ปุ่นรากฐานของอุดมการณ์ชาตินิยม

ตามความเชื่อของชินโตซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของญี่ปุ่น จักรพรรดิมิได้มีสถานะเป็นเพียงสมมุติเทพเหมือนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ชาวญี่ปุ่นเคยเชื่อว่าจักรพรรดิเป็นลูกหลานที่สืบทอดเชื้อสายจากเทพเจ้ามายาวนานมากว่าพันปี  ตำนานกำเนิดชาติญี่ปุ่นปรากฏในพงศาวดารสำคัญสองชุดคือ โคะจิกิ (Kojiki) และนิฮนโชะกิ (Nihon Shoki) ซึ่งเป็นตำนานบอกเล่าเรื่องราวการก่อตั้งราชวงศ์ยะมะโตะ ตั้งแต่เมื่อ 660 ปีก่อนคริสตศักราช โดยจักรพรรดิจิมมุ (711BC- 585BC) จักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่น แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันการมีตัวตนของจักรพรรดิจิมมุ แต่ศาสนาชินโตและคนญี่ปุ่นต่างเคยเชื่อกันว่าจักรพรรดิจิมมุสืบเชื้อสายโดยตรงจากสุริยะเทพี อะมะเตะระซุ (Amaterasu) กับจันทรเทพ สึกุโยะมิ (Tsukuyomi) จากคำบอกเล่าในพงศาวดาร

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นมีชนชั้นเจ้าผู้ปกครองเพียงราชวงศ์เดียว คือราชวงศ์ยะมะโตะ ซึ่งสืบต่อสายเลือดบริสุทธิ์ของเทพเจ้าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ไม่เพียงชาวญี่ปุ่นจะภาคภูมิใจประวัติศาสตร์ในอันยาวนานของตนเองแล้ว พวกเขายัง “เคย” ภาคภูมิใจในสายเลือดอันบริสุทธิ์ที่สืบทอดต่อมาจากเทพเจ้า ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากชนชาติอื่นด้วย ในสงครามโลกครั้งที่สองประชาชนชาวญี่ปุ่นจึงรู้สึกประหลาดใจอย่างมากที่ชาติของตนพ่ายแพ้ในสงครามทั้งที่มีเทพเจ้าคุ้มครอง

ความเชื่อเรื่องการสถาปนาราชวงศ์ยะมะโตะของจักรพรรดิญี่ปุ่นนับเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างรัฐชาติและอุดมการณ์ชาตินิยมญี่ปุ่นในช่วงการปฏิรูปเมจิ การปกครองแบบรัฐชาติสมัยใหม่ของญี่ปุ่นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมจิตั้งแต่ค.ศ. 1889 สร้างความชอบธรรมทางการเมืองด้วยกฎหมายและอุดมการณ์ชาติ โดยมีผู้เผด็จอำนาจสูงสุดของรัฐ ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และการทหาร คือองค์จักรพรรดิผู้สืบสายจากเทพเจ้า ตามคติความเชื่อ “หนึ่งระบบตลอดกาล” (Mansei Ikkei)  ซึ่งได้รับการอธิบายใหม่ในสมัยนั้นว่า ราชวงศ์ยะมะโตะสืบเชื้อสายเลือดเดียวกันมาโดยตลอดและเป็นเช่นนี้ตลอดไป ระบบจักรพรรดิและความเชื่อที่ก่อตัวขึ้นใหม่นี้เป็นรากฐานของ “โครงร่างของชาติ” (Kokutai or Nation Body)  ซึ่งกำหนดให้จักรพรรดิเป็นแกนกลางของชาติ และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

ระบบการเมืองของญี่ปุ่นภายใต้รัฐธรรมนูญที่มอบอำนาจสูงสุดทั้งหมดให้แก่จักรพรรดิ เป็นทั้งเครื่องมือและอุดมการณ์ที่สำคัญที่สุดในการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ สามารถรีดเค้นศักยภาพของข้าราชการพลเรือนและ ทหารภายใต้ระบบราชการออกมาได้อย่างน่าตื่นตะลึง และเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ก้าวเป็นชาติเอเชียเพียงหนึ่งเดียวที่มีสถานะทัดเทียมกับประเทศตะวันตกในเวทีโลก ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

จักรพรรดิไทโช (ซ้าย) จักรพรรดิเมจิ (ขวา) จักรพรรดิโชวะ (กลาง) source: http://www.mainichi.jp/articles/20190921/ddm/005/070/010000c

อย่างไรก็ตาม ในอดีตตั้งแต่กลางยุคเฮอัน (794-1185) เป็นต้นมา จักรพรรดิแทบไม่มีบทบาทในการปกครองดังเช่นในสมัยเมจิ และมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบบการปกครองของเหล่าขุนนางและซามูไรเป็นเวลายาวนานกว่าหนึ่งพันปี กฎหมายริสึเรียว (Ritsuryo) ซึ่งญี่ปุ่นนำเข้ามาจากจีนเพื่อใช้ปกครองประเทศแบบรวมศูนย์หลังการปฏิรูปไทกะ (Taika Reform 645) ได้มอบอำนาจทางการต่างประเทศ การทหาร การบริหารขุนนาง และการลงโทษให้แก่จักรพรรดิ

ทว่า ในทางปฏิบัติจักรพรรดิจะแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์และขุนนางเข้ามาช่วยในการบริหารราชการ จึงมิได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงผู้เดียว ยิ่งไปกว่านั้น ศาสนาชินโตเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมซึ่งเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงจิตวิญญาณของคนในชาติ โดยมีจักรพรรดิเป็นผู้นำในการประกอบพิธี ธรรมเนียมรูปแบบนี้ยิ่งเข้าไปเบียดบังเวลาในการบริหารราชการของจักรพรรดิ

ผลที่ตามมาก็คือเหล่าขุนนางนำโดยตระกูลฟูจิวะระ (Fujiwara) แทรกตัวเข้ามามีบทบาทในการบริหารแผ่นดินมากขึ้นเรื่อยๆ ปลายศตวรรษที่ 9 เกิดระบบการปกครองโดยผู้สำเร็จราชการและที่ปรึกษาจักรพรรดิ ซึ่งเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับจักรพรรดิผ่านทางการแต่งงาน และสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจของฝ่ายขุนนางฟูจิวะระเรื่อยมาจนสิ้นยุคเฮอัน

ช่วงศตวรรษที่ 12-19 ระบบการปกครองโดยขุนนางตระกูลฟุจิวะระเสื่อมลง และถูกแทนที่ด้วยระบบการปกครองโดยรัฐบาลทหารที่มีโชกุนเป็นผู้นำ เหล่าซามูไรน้อยใหญ่ได้ขยายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ (ข้าว) และกำลังทหารจากการสะสมที่ดินตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 10 จนผู้แทนจากส่วนกลางไม่สามารถควบคุมได้ ในช่วงนี้จึงเริ่มแบ่งเป็นการปกครองของราชสำนัก (ส่วนกลาง) กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ได้แก่ซามูไรและวัด

การบริหารประเทศขาดเสถียรภาพเรื่อยมาจนมินะโมะโตะ โยะริโตะโมะ(Minamoto  Yoritomo 1147-1199) สามารถเผด็จอำนาจและสถาปนาระบบการปกครองแบบศักดินา โดยรัฐบาลทหาร (ซามูไร) ที่มีโชกุนเป็นผู้นำ ณ เมืองคะมะคุระ

หลังการล่มสลายของรัฐบาลทหารที่คะมะคุระ ช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ถึงกลางศตวรรษที่ 16 เป็นช่วงเวลาที่เกิดการช่วงชิงอำนาจกันภายในชนชั้นซามูไรซึ่งกลายเป็นชนชั้นปกครอง ญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุคสงครามหรือยุคเซ็งโงคุ ในช่วงเวลานี้สถานะและอำนาจของจักรพรรดิตกต่ำถึงจุดต่ำสุด จนกระทั่งโตะกุงะวะ อิเอะยะสึ (1543-1616) ได้รวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกันและสถาปนาระบบการปกครองโดยโชกุนตระกูลโตะกุงะวะขึ้นมาที่เมืองเอโดะ (โตเกียว)

ในยุคเอโดะแม้สถานะของจักรพรรดิจะได้รับรองและจักรพรรดิก็เป็นผู้แต่งตั้งขุนนางรวมถึงโชกุนไปบริหารราชการและปกครองญี่ปุ่นแทน แต่ในทางปฏิบัติ โชกุนเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมค่าใช้จ่ายของราชสำนัก ทั้งยังเข้าไปเสนอความเห็นในการคัดเลือกรัชทายาทด้วย

กล่าวได้ว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 เป็นต้นมา จักรพรรดิมิได้มีอำนาจการปกครองอยู่ในมืออย่างแท้จริง และเป็นเพียงหุ่นเชิดเพื่อใช้สร้างความชอบธรรมในการปกครองโดยขุนนางและโชกุนเท่านั้น

สถานะของจักรพรรดิได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในยุคเมจิโดยกลุ่มซามูไรระดับล่างซึ่งต่อมากลายเป็นแกนหลักในการสร้างชาติญี่ปุ่นสมัยใหม่ เมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ ซามูไรระดับล่างจากสี่แคว้นทางใต้หันกลับมาเชิดชูจักรพรรดิขึ้นใหม่ เพื่อล้มล้างการปกครองของโชกุน พวกเขาสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมสมัยใหม่ที่มีจักรพรรดิเป็นศูนย์กลาง เพื่อต่อสู้กับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก หลังญี่ปุ่นถูกบังคับให้เปิดประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1853 ชาติตะวันตกที่เข้ามาในญี่ปุ่น ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวญี่ปุ่นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ กลุ่มซามูไรจากสี่แคว้นทางใต้ไม่พอใจท่าทีและความอ่อนแอของโชกุน ที่ไม่สามารถคุ้มครองญี่ปุ่นจากชาวตะวันตก และเริ่มก่อกบฏภายใต้แนวคิด “เทิดทูนจักรพรรดิ ขับไล่คนเถื่อน” (Sonno Joi) จนสามารถล้มล้างการปกครองของโชกุน และสถาปนาการปกครองใหม่ภายใต้จักรพรรดิเมจิขึ้นในค.ศ.​ 1868 กลุ่มซามูไรจากสี่แคว้นทางใต้ต่อมากลายเป็นชนชั้นนำในสภาอาวุโสที่มีอิทธิพลต่อการบริหารญี่ปุ่นจนถึงทศวรรษ 1920 พวกเขาเลือกสร้างชาติและพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด “ประเทศมั่งคั่ง กองทัพเข้มแข็ง” ซึ่งมีรากฐานจากความภักดีต่อจักรพรรดิผู้ศักดิ์สิทธิ์และมีสถานะสูงส่งเหนือกว่าชนชาติอื่นๆ

รัฐธรรมนูญเมจิที่ประกาศใช้เมื่อค.ศ. 1889 บัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของจักรพรรดิ และทรงมีอำนาจปกครองทั้งหมด ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลยุติธรรม ตลอดจนอำนาจทางการทหารทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติในช่วงยุคเมจิ จักรพรรดิ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาจะแบ่งแยกอำนาจกัน โดยคณะรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการตัดสินใจมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีและสภาไม่สามารถควบคุมข้าราชการฝ่ายทหารที่ขยายอำนาจขึ้นอย่างมาก ในทางตรงกันข้ามองค์กรทางทหารที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ชาติแสดงความภักดีอย่างเปิดเผยและขึ้นต่อกับจักรพรรดิโดยตรง ชัยชนะในสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง(1894-1895) และสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (1904-1905) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของระบอบจักรพรรดิสมัยใหม่อย่างมาก จักรพรรดิเมจิกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำชัยในสงครามกับต่างชาติ ซึ่งสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจของจักรพรรดิมากยิ่งขึ้น

จักรพรรดิก็กลายเป็นรากฐานที่ไม่อาจแยกออกจากรัฐชาติญี่ปุ่นได้ และอุดมการณ์ “จักรพรรดิชาตินิยม” ได้แทรกซึมเข้าไปในสามัญสำนึกของชาวญี่ปุ่นยุคเมจิ ภายใต้ระบอบการปกครองนี้ แม้จะไม่ปรากฏการใช้อำนาจอย่างเป็นทางการของจักรพรรดิ แต่พระองค์ก็เข้าร่วมฟังการประชุมสภา และแสดงความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา รวมทั้งทำหน้าที่ประสานระหว่างคณะรัฐมนตรี สภาอาวุโส และกลุ่มทหาร

หลังจากจักรพรรดิไทโช (Emperor Taiso 1879-1925) สวรรคตในค.ศ. 1925 มกุฎราชกุมารฮิโระฮิโตะ (Hirohito 1901-1989) ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิโชวะ (Emperor Showa) ซึ่งมีบทบาททางการเมืองอย่างมากทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและหลังจากแพ้สงคราม หลังการลอบสังหารจาง จั้วหลินหนึ่งในห้าขุนศึกจีนผู้ครอบครองแมนจูเรีย ค.ศ. 1928 ได้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงเกี่ยวกับนโยบายการทหารในดินแดนแมนจูเรียระหว่างคณะรัฐมนตรีจากฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารซึ่งต้องการให้ญี่ปุ่นส่งกำลังเข้ายึดครองแมนจูเรีย ภายหลังอุบัติการณ์มุกเดน (Mukden Incident) ซึ่งญี่ปุ่นกล่าวหาว่าจีนระเบิดทางรถไฟของญี่ปุ่นในแมนจูเรียจนกลายเป็นข้ออ้างให้ญี่ปุ่นบุกยึดแมนจูเรีย  จักรพรรดิโชวะและฝ่ายราชสำนักเริ่มเปลี่ยนท่าทีหันไปสนับสนุนฝ่ายทหารอย่างชัดเจน ช่วงค.ศ. 1936-1941 ฝ่ายทหารใช้การโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ ตลอดจนตำราเรียน เชิดชูจักรพรรดิในฐานะองค์อวตารของเทพ ซึ่งเป็นแก่นของอุดมการณ์ชาตินิยมในการทำสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามมหาเอเชียบูรพา และเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง

2. ระบอบประชาธิปไตยและจักรพรรดิเชิงสัญลักษณ์ใต้ปีกพญาอินทรี

ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1945-1952 หลังสินสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เรียกว่ายุคที่ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้การปกครองของสัมพันธมิตร (The Allied occupation of Japan) ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในการวางรากฐานของระบบเพื่อพลิกโฉมให้ญี่ปุ่นเป็น “ประชาธิปไตยและรักสันติ”

หลังญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้สงครามในเดือนกันยายน ค.ศ. 1945  สหรัฐจัดตั้ง SCAP (Supreme Commander for the Allied Powers) หรืออีกชื่อคือ GHQ (General Headquarters) และแต่งตั้งนายพลดักลัส แม็คอาเธอร์ (Douglas MacArthur 1880-1964) เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการปกครองญี่ปุ่นต่อไปอีก 7 ปี โดยที่ชาติพันธมิตรอื่นและชาติเอเชียที่ญี่ปุ่นปกครองช่วงสงครามเทียบไม่มีบทบาทใน GHQ (ต่างกับในกรณีเยอรมนีที่ชาติพันธมิตรต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการแบ่งเขตและปกครอง)

เป้าหมายดั้งเดิมของสหรัฐคือเปลี่ยนโฉมญี่ปุ่นไปสู่การเป็นประเทศเสรี เปิดกว้าง และรักสันติ อย่างไรก็ดี GHQ ล้มเลิกแผนการนั้นอย่างรวดเร็วและเข้ามาบงการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของญี่ปุ่น ปัจจัยหลักหนึ่งมาจากมโนทัศน์ของสหรัฐที่มีความเข้าใจว่าชาวญี่ปุ่นเป็นชาวบูรพาทิศที่เชื่อฟังแต่ผู้นำและทำตามคำสั่งอย่างสุดใจ (Oriental and Obedient herd) ราวกับถูกโปรแกรมสมองเอาไว้ดั่งเครื่องจักรกล (เห็นได้จากสารคดีโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อง Know your enemy: Japan) ต่างจากชาวเยอรมันที่มีความสามารถในการปกครองตนเอง รวมถึงการแพร่ขยายอย่างรวดเร็วของแนวคิดคอมมิวนิสต์ทั่วโลกและในหมู่นักวิชาการญี่ปุ่นเอง การเปิดเสรีทางความคิดจึงถูกปิดกั้นไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากสหรัฐแล้ว ชนชั้นนำญี่ปุ่นที่ GHQ ประสานงานด้วย อย่าง โยชิดะ ชิเงะรุ (Yoshida Shigeru 1878-1967), ชิเงะมิสึ มะโมะรุ (Shigemitsu Mamoru 1887-1957), มัตสึโมะโตะ โจจิ (Matsumoto Joji 1877-1954), หรือแม้แต่องค์จักรพรรดิเอง (Showa Emperor 1901-1989) มีความเห็นทำนองเดียวกันว่า ชาวญี่ปุ่นยังไม่พร้อมจะปกครองตนเองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย  ทั้งแม็คอาเธอร์และชนชั้นนำญี่ปุ่นมองว่าหากปราศจากซึ่งสัญลักษณ์ที่เป็นศูนย์กลางอย่างจักรพรรดิแล้ว ก็จะไร้ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจซึ่งจะบัญชาการและถ่ายทอดคำสั่งแก่ชาวญี่ปุ่น การปกครองญี่ปุ่นจะยากยิ่ง การคงสถาบันจักรพรรดิเอาไว้จึงจำเป็นและข้าราชการญี่ปุ่นมีที่การศึกษา (แทนที่กองทัพ) จะเป็นกลไกที่สหรัฐสามารถปกครองญี่ปุ่นโดยอ้อม

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านรากฐานทางอุดมการณ์ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ยุคเมจิจนถึงการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 องค์จักรพรรดิได้รับการจัดวางเป็นศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวและผูกโยงอุดมการณ์ของรัฐญี่ปุ่นสมัยใหม่ รัฐธรรมนูญเมจิยังระบุสถานะอันศักดิ์สิทธิ์และล่วงละเมิดมิได้ขององค์จักรพรรดิเอาไว้ด้วย การคงสถาบันจักรพรรดิเอาไว้เปรียบเสมือนรักษาศูนย์กลางการบังคับบัญชาชาวญี่ปุ่น จักรพรรดิยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เพราะเป็นทายาทของสุริยะเทพีอะมะเตะระซุ ชาวญี่ปุ่นรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในนามองค์พระจักรพรรดิ จึงถือเป็นสงครามอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อเทิดพระเกียรติองค์จักรพรรดิและขยายอาณาเขตของพระองค์

อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ ความเห็นส่วนตัวของแม็คอาเธอร์ ผู้มีสิทธิ์ขาดทั้งหมดในการปกครองญี่ปุ่น หลังการพบปะกันระหว่างแม็คอาเธอร์และจักรพรรดิโชวะ ผลก็คือแม็คอาเธอร์ชื่นชอบบุคลิกขององค์พระจักรพรรดิมาก ท้ายที่สุดท่านนายพลตัดสินใจจะรักษาสถาบันจักรพรรดิเอาไว้และยื่นคำขาดต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ สหรัฐจึงตั้งใจแยกขาดเรื่องความรับผิดชอบต่อสงครามกับองค์พระจักรพรรดิออกจากกัน ดังเห็นได้จาก การพิจารณาคดีกรุงโตเกียว (Tokyo Trials) ในค.ศ. 1946 ที่ไม่เรียกตัวจักรพรรดิเข้าพิจารณาโทษ แม็คอาเธอร์ยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องให้ยกเลิกสถาบันจักรพรรดิทั้งจากฝ่ายซ้ายญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นของสหรัฐ และชาติพันธมิตรอื่น ๆ สถาบันจักรพรรดิจึงถูกวางไว้เป็นศูนย์กลางของระบอบประชาธิปไตยในญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาถึงจุดนี้ เป้าหมายหลักของ GHQ หรือของแม็คอาเธอร์ คือการสร้างระบบการเมืองญี่ปุ่นใหม่ให้เป็น  ระบบจักรพรรดิเชิงสัญลักษณ์ (Symbol emperor system)

หลังจากเป้าหมายใหม่ก่อตัวขึ้นและดำเนินคดีผู้นำกองทัพญี่ปุ่นแล้ว GHQ เดินหน้าจัดการร่างรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น เพื่อควบคุมจักรพรรดิและลัทธิทหารนิยม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สหรัฐมองว่าเป็นต้นตอของสงคราม แต่เดิมสหรัฐเปิดกว้างให้นักการเมือง นักกฎหมาย และปัญญาชนญี่ปุ่นสามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เต็มที่ อย่างไรก็ดี ปัญญาชนฝ่ายซ้าย (มัตสึโมะโตะ จิอิจิโร) เสนอแนวคิดสุดโต่ง (ในมุมมองของแม็คอาเธอร์) คือล้มเลิกสถาบันจักรพรรดิและให้ใช้ระบอบสหพันธรัฐ โดยแบ่งตามภูมิภาคเดิมของญี่ปุ่น เช่น คันโต คันไซ โทโฮกุ และมีรัฐบาลกลางที่โตเกียว ส่วนฝ่ายอนุรักษ์นิยม (มัตสึโมะโตะ โจจิ) ยืนกรานไม่ต้องการตัดทอนพระราชอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ขององค์จักรพรรดิ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ แม็คอาเธอร์จึงตัดสินใจรวบอำนาจการร่างรัฐธรรมนูญและออกคำสั่งจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา แม็คอาเธอร์วางโครงใหญ่ให้กับคณะทำงาน อิงจากความเห็นของเขาที่สอดคล้องกับชนชั้นนำญี่ปุ่นเรื่องการคงอยู่ของจักรพรรดิ คือ การจัดวางจักรพรรดิเป็นประมุขแห่งชาติและแยกขาดจากลัทธิทหารนิยม รวมถึงความสามารถในการทำสงครามของญี่ปุ่น

นายพลดักลัส แม็คอาเธอร์กับจักรพรรดิโชวะ Source: https://www.storm.mg/article/207766

คณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางของแม็คอาเธอร์และต่อมาในค.ศ. 1946 จึงมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญเมจิ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปลี่ยนสถานะของจักรพรรดิจากเทพเป็นสามัญชนและประมุขของญี่ปุ่น และก่อให้เกิดระบอบการเมืองแบบผสมผสานระหว่าง

  1. ประชาธิปไตยภายใต้กลไกระบบราชการ (bureaucratic democracy) มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สลายการมีอยู่ของกองทัพญี่ปุ่น กระทรวงทหารบก และทหารเรือ ซึ่งเดิมเป็นหน่วยราชการที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองญี่ปุ่น ส่งผลให้ศูนย์กลางอำนาจราชการย้ายไปที่กระทรวงการคลังและกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of International Trade and Industry : MITI) ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดนโยบายของญี่ปุ่นหลังสงครามและมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party : LDP) ซึ่งมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม
  2. ระบอบประชาธิปไตยอันมีจักรพรรดิเป็นประมุข (Imperial democracy) คือการแยกองค์จักพรรดิจากความรับผิดชอบต่อสงคราม ที่ดำเนินภายใต้พระนามของพระองค์ องค์ประกอบนี้ช่วยจรรโลงสถาบันจักรพรรดิเอาไว้ แม้จะตัดทอนอำนาจทางการเมืองลง แต่ก็ทำให้จักรพรรดิไร้มลทินจากการเมืองในเวลาเดียวกัน

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญในลักษณะนี้กลายเป็นชนักปักหลังญี่ปุ่นว่าเป็นชาติที่ไม่รับผิดชอบต่อความโหดร้ายในสงครามที่ตนก่อ แม้จะมีภาคส่วนอื่น ๆ ในญี่ปุ่นที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ประเทศให้เป็นชาติรักสันติ ส่งผลให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่จีนและเกาหลีใต้มักหยิบฉวยมาใช้เป็นประเด็นสะดวกอ้างทางการเมืองเพื่อโจมตีญี่ปุ่นอยู่เสมอ

ระบอบผสมนี้เป็นฐานคิดให้แก่ฝ่ายขวาของญี่ปุ่นจนทุกวันนี้ว่าชาติของตนมีระบอบการเมืองและประมุขที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติใด โยชิดะ ชิเงะรุ (Yoshida Shigeru 1878-1967) นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค LDP เขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวว่า แม็คอาเธอร์เป็น “ผู้สนับสนุนที่ยิ่งใหญ่” (great benefactor) ) ของการพิทักษ์สถาบันจักรพรรดิ (Dower, Embracing Defeat, 279) ในค.ศ. 1951 ญี่ปุ่นและสหรัฐลงนามในสนธิสัญญาซานฟรานซิสโก (Treaty of San Francisco) เพื่อมอบอำนาจการบริหารคืนแก่ญี่ปุ่นยกเว้นโอกินาวา และถึงแม้แม็คอาเธอร์และ GHQ ถอนตัวออกจากญี่ปุ่นไปแล้ว ระบอบการเมืองและจักรพรรดิยุคหลังสงครามยังคงเป็นรากฐานสำคัญของญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม พรรค LDP ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งและครองที่นั่งในสภามากถึงสองในสามตั้งแต่ค.ศ. 1955 สามารถรักษาสัดส่วนเสียงข้างมากและอำนาจทางการเมืองในฐานะรัฐบาลเรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1993 หรือยาวนานถึง 36 ปี

สาเหตุสำคัญที่พรรค LDP สามารถครองอำนาจทางการเมืองมาได้อย่างยาวนานภายใต้ระบบค.ศ.​1955 คือ พรรค LDP สร้างฉันทามติร่วมกันของคนในชาติผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจได้สำเร็จ โดยมีพื้นฐานจากการประสานความร่วมมือระหว่างชนชั้นนำสามฝ่ายได้แก่ ฝ่ายการเมืองจากพรรค LDP ซึ่งเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภา กลุ่มข้าราชการซึ่งเป็นกลไกหลักในการผลักดันนโยบาย และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ นโยบายของพรรค LDP ให้ความสำคัญกับการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อ “ไล่ตามชาติตะวันตก” ด้วยการสร้าง “สังคมที่สงบสุขและมั่งคั่ง” โดยพยายามยกระดับรายได้ของประชากร พร้อมกับสร้างความปลอดภัยจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ จนสามารถฟื้นฟูประเทศจากประเทศแพ้สงคราม และพัฒนาจนเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว

หลังจากการสหรัฐมอบอธิปไตยคืนให้แก่ญี่ปุ่นใน ค.ศ.​1952 ชนชั้นนำในญี่ปุ่นหาหนทางประสานประโยชน์ร่วมกัน จนสามารถดัดแปลงระบอบการเมืองที่เกิดจาก “การยัดเยียด” ของสหรัฐ ให้เป็นระบบการเมืองแบบใหม่เรียกว่า “ระบบ ค.ศ. 1955” ซึ่งเป็นพื้นฐานให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ระบบ ค.ศ. 1955 คือรูปแบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาระหว่าง ค.ศ.​1955-1993 โดยมีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค ได้แก่พรรค LDP กับพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น  (Japan Socialist Party : JSP)

จำนวนที่นั่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ค.ศ. 1958 Source https://en.wikipedia.org/wiki/1955_System

นโยบายสำคัญประกาศหนึ่งที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ก็คือการดำเนินนโยบายความมั่นคงโดยการพึ่งพิงสหรัฐตามแนวคิดที่เรียกว่า “ลัทธิโยชิดะ” (Yoshida Doctrine) ในช่วงสงครามเกาหลี ญี่ปุ่นภายใต้การนำของพรรค LDP เลือกใช้แนวทาง “ลัทธิโยชิดะ”ในการจัดการด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยมีหลักการคือญี่ปุ่นจะไม่เพิ่มงบประมาณทางทหาร จะมีเพียงกองทัพขนาดเล็กที่เรียกว่า “กองกำลังป้องกันตนเอง” สำหรับจัดการสถานการณ์ภายในประเทศ และขอรับการคุ้มครองจากกองกำลังทหารสหรัฐ โดยอ้างถึงข้อจำกัดจากรัฐธรรมนูญมาตรา 9  ซึ่งระบุไว้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปราศจากการมีกองทัพของตนเอง นโยบายตามแนวคิดของลัทธิโยชิดะทำให้ญี่ปุ่นสามารถใช้งบประมาณทั้งหมดทุ่มไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้เต็มที่ ไม่ต้องสูญเสียไปกับค่าใช้จ่ายทางการทหารในระหว่างยุคสงครามเย็น ช่วยให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษ 1950-1960 

อย่างไรก็ดี  การที่รัฐบาลญี่ปุ่นยินยอมให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพและทำหน้าที่คุ้มครองญี่ปุ่นตามแนวคิดลัทธิโยชิดะ ได้สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดในสังคมญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม ก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างถึงความเหมาะสมในการตั้งฐานทัพของสหรัฐในญี่ปุ่น ความขัดแย้งนี้ขยายตัวออกไปหลังจากสงครามเกาหลี และ เป็นชนวนให้เกิดการประท้วงของขบวนการฝ่ายซ้ายใหม่ (New Lift) ซึ่งนำโดยกลุ่มนักศึกษา ทั้งยังถูกเชื่อมโยงไปถึงข้อถกเถียงเรื่องการคงอยู่ของสถาบันจักรพรรดิดังที่จะกล่าวต่อไป

นโยบายของพรรค LDP ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการบริหารประเทศ ทำให้ LDP ชนะการเลือกตั้งและครองเสียงข้างมากในสภาอย่างต่อเนื่องถึง 36 ปี นอกจากนโยบายของพรรคจะสอดคล้องกับการเพิ่มจำนวนของชนชั้นกลางและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยกลุ่มทุนอุตสาหกรรมแล้ว พรรค LDP ก็พยายามรักษาความนิยมจากภาคการเกษตร โดยใช้นโยบายอุดหนุนราคาสินค้าการเกษตร และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าที่ดินและนักการเมืองท้องถิ่นในเขตชนบท ด้วยนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจทุนนิยม และการประสานประโยชน์กลุ่มชนชั้นนำทั้งฝ่ายราชการ กลุ่มทุน และผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น พร้อมกับการอารักขาและสนับสนุนจากอเมริกา พรรค LDP  จึงสามารถทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1950-1980

แม้ระบบ ค.ศ. 1955 สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1993 หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในค.ศ. 1990 จนญี่ปุ่นเข้าสู่ทศวรรษที่หายไป (Lost Decade) กระนั้นในช่วง 2 ทศวรรษหลังจากสิ้นสุดสุดระบบ ค.ศ. 1955 ญี่ปุ่นก็มีรัฐบาลจากพรรคการเมืองอื่นนอกจากพรรค LDP ในช่วงสั้นๆ เพียงสองสมัยคือ ค.ศ.​ 1993-1995 และ 2011-2013 เท่านั้น พรรค LDP เป็นฝ่ายที่ครองอำนาจทางการเมืองได้เกือบตลอดทั้ง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ระบอบประชาธิปไตยและจักรพรรดิเชิงสัญลักษณ์จากการชี้นำของพญาอินทรีจะสามารถขจัดลัทธิทหารนิยมและจำกัดอำนาจของจักรพรรดิได้สำเร็จดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่อาจกล่าวได้ว่าความคาดหวังของสหรัฐที่จะเปลี่ยนญี่ปุ่นเป็นประเทศเสรีและรักสันตินั้นสำเร็จไปได้เพียงครึ่งเดียว เพราะเมื่อพิจารณาจากรูปแบบประชาธิปไตยยุคหลังสงครามของญี่ปุ่นแล้ว ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” โดยชนชั้นนำที่ประสบความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจเสียมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแนวโน้มที่จะหวนกลับฝักใฝ่อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะได้กล่าวต่อไป

3. ขบวนการเคลื่อนไหวและอุดมการณ์ชาตินิยมญี่ปุ่นหลังสงคราม

ประชาธิปไตยหลังสงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่นมีความซับซ้อนและอิหลักอิเหลื่อ ต่างกับประชาธิปไตยของชาติตะวันตก และมีแนวโน้มจะหวนกลับไปอุดมการณ์ชาตินิยมแบบดั้งเดิมที่จักรพรรดิเป็นรากฐานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังทศวรรษ 1990  ในด้านหนึ่งประชาธิปไตยที่จักรพรรดิอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นซึ่งให้ความสำคัญกับ “การรักษาสันติภาพ” ควบคู่ไปกับ “ประชาธิปไตย” เป็นพื้นฐานสำคัญซึ่งสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้แก่ประเทศญี่ปุ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบั

แต่สำหรับฝ่ายขวาแล้ว ประชาธิปไตยซึ่งเกิดจาก “การยัดเยียด” จากต่างชาติ ไม่เพียงทำลายอัตลักษณ์ของชาติญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการผลักไสให้รากเหง้าของชาติอย่างองค์จักรพรรดิกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ประชาธิปไตยที่มุ่งแต่คุ้มครองเสรีภาพและผลประโยชน์ของปัจเจกชน ทำให้คนญี่ปุ่นสูญเสียจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นรากฐานของสำนึกแบบกลุ่ม และทำลายวัฒนธรรมจารีตอันดีงามต่างๆ ลงจนหมดสิ้น วัยรุ่นญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เกิดมาหลังยุคสงครามมาจึงกลายสภาพจาก “ซามูไร” เป็น “สัตว์เศรษฐกิจ”ที่ปราศจากอัตลักษณ์และจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น 

​ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ชาตินิยมดั้งเดิมกับอุดมการณ์เสรีนิยมนี้เองที่เป็นชนวนของความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายซ้ายและขวาของญี่ปุ่นช่วงหลังสงคราม ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มทางการเมืองหลายฝักฝ่าย โดยบทความนี้จะแบ่งกลุ่มทางการเมืองของญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามออกเป็น 4 กลุ่มคือ

1) กลุ่มอนุรักษ์นิยมนำโดยนักการเมืองจากพรรค LDP  ซึ่งต้องการฟื้นฟูประเทศและปกป้องรากเหง้าของชาติ

2) กลุ่มฝ่ายซ้ายนำโดยนักการเมืองพรรค JSP และพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น (Japanese Communist Party) ซึ่งต้องการปฏิรูปให้ประชาชนมีเสรีภาพและสันติภาพอย่างแท้จริง (ไม่ต้องพึ่งพิงอเมริกา)

3) ขบวนการฝ่ายซ้ายใหม่นำโดยขบวนการนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวซ้ายจัดซึ่งไม่พอใจนโยบายของฝ่ายซ้ายเดิมและต้องการปฏิรูปล้มล้างรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยมตลอดจนระบอบจักรพรรดิ

4) ขบวนการฝ่ายขวาซึ่งเกิดจากกลุ่มผู้มีอุดมการณ์ชาตินิยมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่ไม่พอใจการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายช่วงหลังสงคราม

ช่วงทศวรรษ 1950 พรรค JSP และพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อแข่งขันกับพรรค LDP โดย เรียกร้องให้ยกเลิกสถาบันจักรพรรดิและส่งเสริมสิทธิและสวัสดิสภาพของแรงงานเพื่อสร้างฐานเสียงจากชนชั้นแรงงาน นักวิชาการฝ่ายซ้ายและฝ่ายสันตินิยม  แต่ในทางปฏิบัติหลังจากระบบ ค.ศ.​ 1955 ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการดำเนินนโยบายความมั่นคงแบบพึ่งพาสหรัฐตาม “ลัทธิโยชิดะ” เมื่ออำนาจการบริหารประเทศตกอยู่ในมือของพรรค LDP ซึ่งใช้นโยบายทุนนิยมและประสานประโยชน์กับกลุ่มชนชั้นนำจนประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็ว  สิ่งที่พรรค JSP ทำได้จึงมีเพียงการรักษาจุดยืนเรื่องการรักษา “สันติภาพ” คือการปกป้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 และการรักษา “เสรีภาพ” ตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้เท่านั้น ยิ่งญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดแล้ว ได้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ เช่น วัฒนธรรมมวลชนที่เน้นการบริโภคนิยม การเพิ่มมาตรฐานระดับการศึกษาของประชาชน  การเปลี่ยนโครงสร้างของสหภาพแรงงานแบบกลุ่มอุตสาหกรรมสู่รูปแบบบริษัท คะแนนความนิยมต่อรัฐบาลที่อยู่ในระดับสูง และความพึงพอใจต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ ปรากฏการณ์ทางสังคมเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความถดถอยของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายในญี่ปุ่น ตั้งแต่ทศวรรษ 1960

ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่นภายใต้การนำของพรรค LDP เริ่มเปลี่ยนท่าทีและนโยบายด้านความมั่นคง ตลอดจนต้องการพื้นฟูอุดมการณ์ชาตินิยมที่เชื่อมโยงกับสถาบันจักรพรรดิ หลังจากสหรัฐปรับเปลี่ยนนโยบายในเอเชีย ค.ศ. 1958 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้นโยบายพื้นฐานในการป้องกันประเทศ (Basic Policy for National Defense) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง ในช่วง ค.ศ. 1958-1976 กองกำลังป้องกันตนเองทางบกมีกองกำลังพลเพิ่มขึ้นจาก 75,000 คนเป็น 180,000 คน และมีกองเรือคุ้มกันทางทะเล 4 กอง กองบินป้องกันภัยทางอากาศ 17 กอง ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากสหรัฐประกาศนโยบายสำคัญที่เรียกว่า “ลัทธินิกสัน” (Nixson Doctrince) ใน ค.ศ.​1969 โดยมีสาระสำคัญคือสหรัฐจะลดบทบาทในการเป็นผู้คุ้มครองเอเชียแปซิฟิกลง และต่อมาสหรัฐยังเรียกร้องให้ญี่ปุ่นและเกาหลีเพิ่มภาระในการป้องกันตัวเองให้มากขึ้นดังประกาศ “ลัทธิฟอร์ด” (Ford Doctrine) ค.ศ. 1975

บริบททางการเมืองในเอเชียแปซิฟิกที่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 กระตุ้นให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องหาทางปรับปรุงนโยบายด้านความมั่นคง และกระตุ้นแนวคิดชาตินิยมซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมญี่ปุ่นมากขึ้น นับตั้งแต่ ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา งบประมาณเพื่อพัฒนากองกำลังของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก และใน ค.ศ. 1987 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกเลิกนโยบายจำกัดวงเงินของกองกำลังป้องกันตนเองที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพี โดยเฉพาะหลังจากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งระดับของพรรค LDP เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1993 ซึ่งนับเป็นการสิ้นสุดของระบบ ค.ศ.​1955 พรรค LDP ได้เริ่มดำเนินนโยบายทางการเมืองที่สะท้อนความฝักใฝ่อุดมการณ์ชาตินิยมมากขึ้นในหลากมิติ เช่น การตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่น (Act on National Flag and Anthem) ซึ่งมีเนื้อหาอ้างถึงสัญลักษณ์ของลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิทหาร การเข้าสักการะวิญญาณวีรชนทหารที่ศาลเจ้ายะซุกุนิ (Yasukuni Shrine) ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1980 การยกระดับหน่วยงานกองกำลังป้องกันตนเองขึ้นเป็นกระทรวง การพยายามแก้ไขหรือตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 9 เพื่อขยายขอบเขตการเสริมขีดความสามารถทางการทหาร  การแก้ไขตำราเรียนประวัติศาสตร์ของชาติญี่ปุ่นไม่ให้พูดถึงความผิดในสงครามโลกครั้งที่สอง และปกป้องความบริสุทธิ์ของสถาบันจักรพรรดิ

นอกจากนี้ นักการเมืองฝ่ายขวาในพรรค LDP ก็แสดงท่าทีสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมที่ยึดโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ของจักรพรรดิและชาติญี่ปุ่น ดังเช่น นายโยะชิโระ โมริ(Yoshiro Mori 1937-ปัจจุบัน) อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 2000 ถึง ค.ศ. 2001 มักแสดงทัศนคติฝักใฝ่อุดมการณ์ชาตินิยมและละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านสื่อสาธารณะบ่อยครั้ง เช่น “ญี่ปุ่นเป็นประเทศของทวยเทพ” หรือ “พวกไม่สังกัดพรรคเมืองอยู่เงียบๆ เสียบ้างก็ดี”

การดำเนินนโยบายของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมที่สุ่มเสี่ยงต่อการนำญี่ปุ่นกลับไปสู่ยุคลัทธิทหารภายใต้ระบอบจักรพรรดินี้ สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อประชาชนโดยเฉพาะนักศึกษาที่ฝักใฝ่อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายซึ่งแพร่หลายอย่างมากในยุคสงครามเย็น ขบวนการนักศึกษาเริ่มก่อตัวขึ้นช่วงกลางศตวรรษ 1950 และแยกตัวอย่างชัดเจนกับนักการเมืองฝ่ายค้านพรรค JSP และพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากไม่พอใจแนวทางประนีประนอมของพรรค การประท้วงอันโป (Anpo Protest) ในค.ศ. 1960 เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่และปลุกกระแสปฏิวัติโดยภาคประชาชนในญี่ปุ่น

การประท้วงอันโป ค.ศ. 1960 Source : http://www.en.wikipedia.org/wiki/Anpo_protests

เหตุการณ์หอประชุมยะสุดะ ค.ศ. 1969 source : http://www.j-cast.com/2019/01/18347799.html?p=all

การประท้วงอันโปเกิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ​. 1960 เป็นการแสดงความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมากต่อการขยายระยะเวลาของสนธิสัญญาการรักษาความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนแอทางการทหารของญี่ปุ่น และยังเป็นการให้สิทธิพิเศษต่อทหารสหรัฐในญี่ปุ่นโดยเฉพาะในโอกินะวะ ในด้านหนึ่งการประท้วงอันโป ค.ศ. 1960 ซึ่งนำโดยกลุ่มนักศึกษาและสหภาพแรงงาน เป็นเหตุการณ์ที่จุดเพลิงแห่งการปฏิวัติของฝ่ายซ้ายให้ลุกโชนขึ้นยาวนานจนถึงทศวรรษ 1970 แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนความแตกแยกของขบวนการฝ่ายซ้ายในญี่ปุ่นอย่างชัดเจน

กลุ่มนักศึกษาที่เป็นแกนนำในการประท้วงเรียกตัวเองว่า “กลุ่มซ้ายใหม่” เพื่อแบ่งแยกให้ชัดเจนจาก “กลุ่มซ้ายเดิม” ซึ่งหมายถึงพรรค JSP และพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ที่ยังเน้นการประนีประนอมและต่อสู้ในระบบรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้มาโดยตลอด กลุ่มซ้ายใหม่เชื่อใน “ทฤษฎีการปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ และพยายามขยายแนวร่วมอุดมการณ์ไปในประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น สหภาพแรงงาน และกลุ่มการเมืองท้องถิ่น มากกว่าจะรอพึ่งพาพรรค JSP และ พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น

ทศวรรษ 1960 เกิดขบวนการฝ่ายซ้ายใหม่ๆ ที่ไม่ปฏิเสธแนวทางของฝ่ายซ้ายเก่าขึ้นมากมาย เช่น กลุ่มแกนกลางปฏิวัติ (Chukaku -Ha), กลุ่มปฏิรูปมาร์กซิส (Kakumaru-Ha) กลุ่มเซ็นเคียวโต (Zenkyoto) ซึ่งมีแกนกลางเป็นขบวนการนักศึกษาและนักคิด นักหนังสือพิมพ์ที่มีอุดมการณ์ซ้ายจัด ช่วงปลายทศวรรษ 1960 การประท้วงของนักศึกษาโดยกลุ่มเซ็นเคียวโตยกระดับความรุนแรงมากขึ้น เกิดการปะทะกับตำรวจ การปิดมหาวิทยาลัยและเผาทำลายอาคารในมหาวิทยาลัยโตเกียว นำไปสู่การล้อมปราบอย่างรุนแรงใน ค.ศ. 1969

ขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายยังคงดำเนินกิจกรรมต่อเรื่อยมาในมหาวิทยาลัย แต่ก็เสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ ขณะที่กลุ่มฝ่ายซ้ายใหม่อื่นๆ ก็ได้รับความสนใจจากสังคมน้อยลงจากภาพพจน์ที่นิยมความรุนแรง ซึ่งดูจะไม่ตรงกับชาวญี่ปุ่นถูกปลูกฝังให้รักสันติ

ช่วงศตวรรษที่ 20 ขบวนการฝ่ายซ้ายสลายตัวและจัดตั้งกลุ่มในชื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนภาพพจน์ และเปลี่ยนนโยบายเพื่อหาแนวร่วมจากคนรุ่นใหม่ เช่น กลุ่มส่งเสริมสิทธิสตรี กลุ่ม LGBT กลุ่มคนเกาหลีในญี่ปุ่น รวมถึงการเชื่อมความสัมพันธ์กับขบวนการฝ่ายซ้ายระดับนานาชาติด้วย แต่กระนั้นก็ยังมีผู้สนับสนุนในที่เคลื่อนไหวจริงในระดับพันคนเท่านั้น ขบวนการเคลื่อนไหวที่ยังดำเนินกิจกรรมอยู่ในปัจจุบันซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้ได้แก่ “เครือข่ายต่อต้านระบอบจักรพรรดิ” (Hantenren)

การเดินขบวนประท้วงของเครือข่ายต่อต้านระบอบจักรพรรดิก่อนพระจักรพรรดินารุฮิโตะขึ้นครองราชย์ ค.ศ. 2019 Source: http://www.bbc.com/thai/international-48079782

เครือข่ายต่อต้านระบอบจักรพรรดิเป็นขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่ชูนโยบายยกเลิกระบบจักรพรรดิที่กลุ่มเชื่อว่าเป็นภัยต่อสันติภาพและระบอบประชาธิปไตย จากการสัมภาษณ์ “ผู้ประสานงาน” ของเครือข่ายต่อต้านระบอบจักรพรรดิโดยบีบีซีไทย ได้ข้อมูลว่า เครือข่ายต่อต้านระบอบจักรพรรดิก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.​ 1984 โดยมีชนวนเหตุสำคัญคือการก่อสร้างอุทยานุสรณ์โชวะ (Showa Memorail Park) เพื่อฉลองครบรอบการครองราชย์ครบ 50 ปีของจักรพรรดิโชวะ รัฐบาลดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ฐานทัพอากาศที่ในย่านทะชิกะวะที่สหรัฐเลิกใช้งานแล้วให้กลายเป็นอุทยานุสรณ์โชวะซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดยักษ์ชานเมืองโตเกียว สำหรับขบวนการฝ่ายซ้ายที่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตในทศวรรษ 1970 โครงการนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับได้ เพราะนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างภาพว่าจักรพรรดิรักสันติภาพ

ที่จริงแล้วเครือข่ายต่อต้านระบอบจักรพรรดิเชื่อว่าจักรพรรดิก็รักสันติภาพ แต่ถูกทหารหลอกใช้ เครือข่ายต่อต้านระบอบจักรพรรดิจึงต้องสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคม และแก้ไขประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนไป พวกเขาเชื่อว่าปัจจุบันรัฐบาลกำลังใช้จักรพรรดิเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้พาญี่ปุ่นหวนกลับคืนสู่ระบอบอำนาจนิยม และการยกเลิกระบบจักรพรรดิจะเป็นการแก้ไขรากเหง้าของปัญหานี้ ผู้ประสานงานของเครือข่ายเชื่อว่าระบอบจักรพรรดิเป็นต้นเหตุให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำจนเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมเช่นในปัจจุบัน เพราะญี่ปุ่นถูกต่างชาติในเอเชียกีดกัน หากรัฐบาลยกเลิกระบอบจักรพรรดิและแก้ไขประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องแล้ว ญี่ปุ่นก็จะเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ และเมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น ชาวญี่ปุ่นก็จะกลับมามีความเป็นอยู่ที่ดีและเท่าเทียมกันดังเช่นในทศวรรษ 1980

ในอีกด้านหนึ่งขบวนการฝ่ายขวาก็ไม่พอใจกับท่าทีของพรรค LDP ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการปกป้อง “จิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น” (Kokumin Seishin) นักคิดฝ่ายขวาหรือกระทั่งนักการเมืองในพรรค LDP บางส่วนมองว่ารัฐบาลประนีประนอมกับพรรค JSP และกลุ่มนักศึกษาซ้ายใหม่มากเกินไป ปล่อยให้ฝ่ายซ้ายส่งโจมตีสถาบันจักรพรรดิและดูหมิ่นค่านิยมประจำชาติอันดีงาม ยูกิโอะ มิชิมะ  (Yukio Mishima 1925-1970) นักคิดนักเขียนคนสำคัญช่วงหลังสงครามและเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มโล่ (Tatenokai) ซึ่งเป็นกลุ่มทหารอาสาสมัคร ได้วิจารณ์ระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นสิ่งที่ทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และจิตวิญญาณของญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน คุณค่าทางการเมืองซึ่งก็คือประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่สำคัญสูงยิ่งกว่าจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น และผลลัพธ์ก็คือญี่ปุ่นหลังสงครามกลายเป็นสังคมบริโภคนิยมให้ความสำคัญกับการหารายได้และมีความสุขไปวันๆ จนไม่หลงเหลือจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นอีกต่อไป

รถขยายเสียงของขบวนการฝ่ายขวา Source : http://www.gaisen.fc2web.com/shoukonjuku.html

นอกจากกลุ่มโล่แล้ว ก็ยังมีขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายขวาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1951 หลังจากสหรัฐเปลี่ยนนโยบายเน้นการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์มากกว่าการส่งเสริมประชาธิปไตย  ขบวนการฝ่ายขวาในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มขนาดเล็กมีอุดมการณ์ที่หลากหลายตั้งแต่ รณรงค์ให้รักชาติ เชิดชูจักรพรรดิ สนับสนุนกิจกรรมของศาลเจ้ายะสุกินิ ขับไล่คนเกาหลีและจีนในญี่ปุ่น จนถึงฝ่ายขวาที่เห็นว่าควรยกเลิกระบบจักรพรรดิแบบสัญลักษณ์ที่อ่อนแอเสีย แต่ขบวนการฝ่ายขวาในญี่ปุ่นมีแนวทางร่วมกันรูปหนึ่งคือ แต่ละกลุ่มจะมีรถขยายเสียงใช้สำหรับประกาศแนวคิดของกลุ่มของตนเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า ฝ่ายขวาไกเซน (Kaisen-Uyoku) หรือฝ่ายขวารถประกาศรอบเมือง  นอกจากนี้ ขบวนการฝ่ายขวามักมีความสัมพันธ์กลับกลุ่มหัวรุนแรงอย่างยากูซ่ามาตั้งแต่สมัยก่อนสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ปัญหากลุ่มหัวรุนแรงใน ค.ศ.​1992 ทำให้กลุ่มยากูซ่าหันมาหารายได้จากการรับจ้างทำงานให้กับกลุ่มทุนฝ่ายขวา จนเกิดชื่อเรียกว่าฝ่ายขวาปลอม (Gisou-Uyoku) หรือฝ่ายขวารับจ้าง (Eigyou-Uyoku)

จากการสัมภาษณ์ฝ่ายขวาไกเซนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่าโชคนจุกุ (Shoukonjuku) โดยบีบีซีไทย โชคนจุกุเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อสถาบันจักรพรรดิและกิจกรรมของศาลเจ้ายะสุกินิ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของจิตวิญญาณวีรชนนักรบชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขามองว่าการเคลื่อนไหวของเครือข่ายต่อต้านระบอบจักรพรรดิเป็นเรื่องไร้สาระ คนพวกนี้ไม่เข้าใจคุณค่าของความเป็นญี่ปุ่น และไม่ควรอยู่ในประเทศนี้ จักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาตั้งแต่ในอดีต การปฏิเสธจักรพรรดิและต้องการให้ล้มเลิก จึงเท่ากับการปฏิเสธความเป็นญี่ปุ่น ขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายขวาที่ใช้รถขยายเสียงเผยแพร่อุดมการณ์ เช่นกลุ่มโชคนจุกุ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในตัวเมืองโตเกียว แต่ก็ถือว่าลดลงจำนวนลงไม่น้อยตามความเสื่อมถอยของขบวนการฝ่ายซ้ายตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ กล่าวได้ว่าระบอบประชาธิปไตยและจักรพรรดิเชิงสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากตะวันตกและไม่ได้สมบูรณ์ดังที่เข้าใจกันทั่วไป เพราะเต็มไปด้วยพลวัตและความขัดแย้งตลอดช่วง 7 ทศวรรษหลังสงคราม แต่หากมองในแง่บวกแล้ว การที่ขบวนการทางการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและขวายังสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซงตราบเท่าที่ไม่เกิดความรุนเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการรับรองภายในระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

ในด้านหนึ่งแม้ระบอบประชาธิปไตยของญี่ปุ่นจะมิได้เกิดจากการต่อสู้หรือปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นในหลายประเทศ อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่ “ถูกยัดเยียด” จากสหรัฐในสายตาของฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่อย่างน้อยที่สุดรัฐธรรมฉบับปัจจุบันก็รับรองอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และป้องกันการย้อนกลับมามีอำนาจของฝ่ายอำนาจนิยมในช่วงหลังสงครามได้เป็นอย่างดี แตกต่างจากความเคลื่อนไหวในยุคประชาธิปไตยไทโชที่รัฐธรรมนูญเมจิระบุให้อำนาจอธิปไตยเป็นของจักรพรรดิ ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงก่อนสงคราม ขาดความสมบูรณ์ เป็นได้เพียงความพยายามในการตีความรัฐธรรมนูญเมจิเพื่อให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนเท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่ง หากมองในแง่ร้าย ประชาธิปไตยของญี่ปุ่นยุคหลังสงครามเปรียบได้ดั่งเสื้อคลุมที่สหรัฐมอบให้ประชาชนญี่ปุ่นสวมใส่ รอวันที่จะถูกถอดเปลี่ยนตามกาลเวลา ประชาชนส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นแม้ส่วนใหญ่จะมีจุดยืนในการรักษาสันติภาพ สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและจักรพรรดิเชิงสัญลักษณ์เช่นในยุคหลังสงคราม แต่นั่นก็เป็นเพราะระบบการศึกษาและระบบสังคมได้สร้างบรรทัดฐานบางอย่างเอาไว้เท่านั้น เหมือนดังที่มิชิมะกล่าวไว้ว่า คนญี่ปุ่นในปัจจุบันส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการหารายได้และมีความสุขไปวันๆ จนไม่เหลือความสนใจต่อการเมืองหรือจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว การเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองโดยภาคประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบดูจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดหวังได้ ตราบเท่าที่พรรค LDP ยังดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ให้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ  การเมืองร่วมสมัยของญี่ปุ่นจะมุ่งไปตามแรงผลักดันของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

บทสรุป

ระบอบประชาธิปไตยของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีลักษณะแตกต่างไปจากประชาธิปไตยแบบสากลในประเทศะวันตกและเต็มไปด้วยความซับซ้อนจากบริบททางประวัติศาตสร์และอุมการณ์ชาตินิยม รากฐานของสถาบันจักรพรรดิที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และความเปลี่ยนแปลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจากอิทธิพลของสหรัฐในเอเชียแปซิฟิกเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างระบอบประชาธิปไตยหลังสงครามของญี่ปุ่น อีกทั้งยังก่อให้เกิดพลวัตของอุดมการณ์ทางการเมืองในขบวนการเคลื่อนไหวทั้งฝั่งนักการเมืองและภาคประชาชน

ตามความเชื่อของชินโต จักรพรรดิเป็นลูกหลานที่สืบทอดเชื้อสายจากเทพเจ้ามายาวนานมากว่าพันปี ความเชื่อนี้เป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างรัฐชาติและอุดมการณ์ชาตินิยมและ การปกครองแบบรัฐชาติสมัยใหม่ของญี่ปุ่นในยุคก่อนสงคราม ชาวญี่ปุ่นภาคภูมิใจในสายเลือดอันบริสุทธิ์ที่สืบทอดต่อมาจากเทพเจ้า ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากชนชาติอื่นด้วย ระบอบการเมืองของญี่ปุ่นภายใต้รัฐธรรมนูญเมจิที่มอบอำนาจสูงสุดทั้งหมดให้แก่จักรพรรดิ จึงเป็นทั้งเครื่องมือและอุดมการณ์ที่สำคัญที่สุดในการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ สามารถรีดเค้นศักยภาพของข้าราชการพลเรือนและ ทหารภายใต้ระบบราชการ จนทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทัดเทียมชาติตะวันตกได้ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐได้เข้ามาวางนโยบายเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้เป็นประเทศเสรี เปิดกว้างและรักสันติภาพ อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่พร้อมของชาวญี่ปุ่น รากฐานทางอุดมการณ์ชาตินิยม การประนีประนอมกับชนชั้นนำของญี่ปุ่น และความเห็นส่วนตัวของแม็คอาเธอร์ รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่จึงมุ่งไปที่การขจัดลัทธิทหารนิยมและลดทอนอำนาจของจักรพรรดิ โดยเปลี่ยนสถานะของจักรพรรดิให้เป็นสัญลักษณ์ของชาติ และวางโครงสร้างของระบอบการเมืองแบบผสมผสานระหว่างประชาธิปไตยภายใต้กลไกระบบราชการกับระบอบประชาธิปไตยที่มีจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของชาติ

หลังจากญี่ปุ่นได้รับอธิปไตยกลับคืนจากสหรัฐ พรรค LDP สามารถประสานประโยชน์กับกลุ่มข้าราชการและกลุ่มทุนก่อให้เกิดระบบ ค.ศ. 1955 ซึ่งพรรค LDP สามารครองเสียงส่วนใหญ่อย่างต่อเนื่องถึงค.ศ.​ 1993 จากการสร้างฉันทามติร่วมกันของคนในชาติผ่านทางการพัฒนาเศรษฐกิจได้สำเร็จ ในขณะเดียวกันพรรค LDP ก็รักษาความมั่นคงภายในประเทศโดยพึ่งพาการคุ้มครองจากกองทัพสหรัฐตามแนวคิดลัทธิโยชิดะ ช่วยให้ไม่สูญเสียค่าใช้ในทางการทหารและทุ่มงบประมาณในการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม นโยบายพึ่งพากองทัพสหรัฐได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์และความไม่พอใจเป็นวงกว้าง และเป็นชนวนความขัดแย้งทางการเมืองตลอดช่วงทศวรษ 1950-1970

ระบอบประชาธิปไตยหลังสงครามภายใต้รัฐธรรมนูญที่ชี้นำโดยสหรัฐและการบริหารของพรรค LDP ได้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากประชาธิปไตยของตะวันตก เนื่องจากบริบททางประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เปลี่ยนแปลงไป ในด้านหนึ่งประชาธิปไตยที่มีจักรพรรดิอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ให้ความสำคัญกับ “การรักษาสันติภาพ” ควบคู่ไปกับ “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้แก่ญี่ปุ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประชาธิปไตยซึ่งเกิดจาก “การยัดเยียด” จากสหรัฐได้ทำลายอัตลักษณ์และจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นที่ยึดโยงกับลัทธิชินโตและสถาบันจักรพรรดิลงไป นอกจากนี้ การคงอยู่ของกองทัพสหรัฐในประเทศญี่ปุ่นก็เป็นมูลเหตุสำคัญที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนทั้งฝ่ายซ้ายและขวา ด้วยบริบททางการเมืองในลักษณะเช่นนี้ จึงเกิดกลุ่มทางการเมืองซึ่งมีอุดมการณ์แตกต่างกันอย่างน้อย 4 ฝ่ายคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายซ้ายเก่า ฝ่ายซ้ายใหม่ และฝ่ายขวา

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประท้วงอย่างรุนแรงของขบวนการฝ่ายซ้ายนำโดยนักศึกษา ขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายใหม่โดยนักศึกษาได้เลื่อมความนิยมลง เช่นเดียวกับขบวนการฝ่ายขวาที่ส่วนใหญ่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านขบวนการฝ่ายซ้าย ขณะเดียวกันพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในสภาก็พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งให้แก่พรรคฝ่ายอนุรักษ์มาเกือบตลอด 7 ทศวรรษ จึงกล่าวได้ว่าการเมืองญี่ปุ่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ดำเนินไปตามการผลักดันของพรรค LDP  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะหวนกลับไปหาอุดมการณ์ชาตินิยมแบบดั้งเดิมที่อ้างความชอบธรรมจากสถาบันจักรพรรดิดังเช่นในอดีต  

อ้างอิง

ไชยวัฒน์ ค้ำชู (2007 ).    ระบบเศรษฐกิจการเมืองญี่ปุ่น : ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง

ไชยวัฒน์ ค้ำชู และ นิธิ เนื่องจำนงค์ (2018).   ‘ประชาธิปไตยและกระแสอนุรักษนิยมในเอเชียตะวันออก

บีบีซีไทย (2019)    “จักรพรรดิญี่ปุ่น : 35 ปีแห่งการต่อต้าน กับขบวนการที่ถดถอย”  สืบค้นจาก www.bbc.com/thai/international-48079782

นภดล ชาติประเสริฐ (2020)   พรรคสังคมนิยมญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ. 1945 ถึง 1996:51 ปีแห่งความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลง , วารสารญี่ปุ่นศึกษา ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 (2020): July – December 2020

เพ็ญศรี กาญจนโนมัย (1995) ญี่ปุ่นสมัยใหม่ โรงพิมพ์เนติกุลการพิมพ์

อภิเชษฐ กาญจนดิฐ (2007) “กองทัพ ความมั่นคง และความสัมพันธ์” ,วารสารปริชาต ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 หน้า 15-30

安田浩 (2011)                   『近代天皇制国家の歴史的位置 普遍性と特殊性を読みとく視座』 大月書店

猪野健治(2005)               『日本の右翼』 筑摩書房

齋藤英之(2003) 『ポピュリズムと現代日本政治』 上智短期大学紀要23号,pp.75-100

鈴木邦男 (1993)              『これが新しい日本の右翼だ 「恐い右翼」から「理解される右翼」へ』日新報道

諸橋卓 (2009)                   「60年安保以後における『戦後民主主義』思想の展開 : 松下圭一の政治理論を中心に」、北大法政ジャーナル,16,pp.79-111

丸山 眞男  (2006)             『現代政治の思想と行動』  未来社

Andrews, William ( 2016). Dissenting Japan: A History of Japanese Radicalism and Counterculture from 1945 to Fukushima. C Hurst & Co Publishers

Dower, John. (2003 ed.), Embracing Defeat: Japan in the wake of World War II, W.W. Norton & Company, New York.

Kazuhito, Takii. (2003), The Meiji Constitution: the Japanese Experience of the West and the Shaping of the modern state, Kodansha, Tokyo.

Mark Lincicome (1999) Nationalism, Imperialism, and the International Education Movement in Early Twentieth-Century Japan,The Journal of Asian Studies Vol. 58, No. 2 (May, 1999), pp. 338-36

Okazaki Hisahiko (1986) A Grand Strategy for Japanese Defense, University Press of America

https://japan.kantei.go.jp/constitution_and_government_of_japan/constitution_e.html

One thought on “ซามูไร ศักดินา และพญาอินทรี: กำเนิดและพัฒนาการของอุดมการณ์ชาตินิยมกับระบอบประชาธิปไตยที่มีจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ในญี่ปุ่น”

Leave a comment