โพ้นทะเลเสวนา ตอนที่ ๓: “ความ (ไม่) เข้าใจสถาบันกษัตริย์อังกฤษในการเมืองไทย”

การเสวนาเรื่อง “ความ (ไม่) เข้าใจสถาบันกษัตริย์อังกฤษในการเมืองไทย”  เป็นตอนที่ ๓ ของเสวนาชุด “สถาบันกษัตริย์ในสมัยเปลี่ยนผ่าน” โดยเป็นการคุยเกี่ยวกับบทความ “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความ (ไม่) เข้าใจสถาบันกษัตริย์อังกฤษในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย” ในบล็อกนักเรียนไทยโพ้นทะเล

ในตอนนี้ สุญญาตา เมี้ยนละม้ายและอติเทพ ไชยสิทธิ์ชวน “พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง” ผู้สนใจประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอังกฤษศตวรรษที่ ๑๘ มาคุยกันเรื่องการนำเอาประวัติศาสตร์หรือแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษโดยผู้ที่มีส่วนเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยมาใช้อย่างผิดฝาผิดตัว (รวมทั้งที่เข้าใจผิด) ทั้งในแง่ของบริบททางประวัติศาสตร์และห้วงเวลา โดยพลอยใจชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมือง ยุคจักรวรรดิ และยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องผ่านการต่อรองทางอำนาจกับระบอบรัฐสภา รวมถึงความสลับซับซ้อนของระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี (Common law) ที่ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้สนับสนุนฝ่ายกษัตริย์เสมอไป

การยกสถาบันกษัตริย์อังกฤษมาเปรียบเทียบกับไทย ดังที่หมอวรงค์ หรือไชยยันต์ ไชยพรมักนำมาใช้อ้างอิงนั้นมีปัญหาอย่างไร? กฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษเหมือนหรือต่างกับจารีตประเพณีเรื่องพระราชอำนาจของไทย? ทำไมการพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ โดยพิจารณาเรื่องความสลับซับซ้อนและบริบทของประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องจำเป็น? ขอเชิญผู้ที่สนใจติดตามรับชมรับฟัง “โพ้นทะเลเสวนา” ตอนที่ ๓ ได้ ผ่านทางช่อง Youtube, Spotify, และ Apple Podcasts

Leave a comment