Hansken: ช้างเอเชียในสาธารณรัฐดัตช์ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17

“ในปี 1633 ช้างตัวหนึ่งได้เดินทางมาถึง Holland พร้อมกับเรือจากอินเดียตะวันออก ข้าพเจ้าและลูกชายนามว่า Ludovico ได้เห็นช้างตัวนี้ที่เมือง Amsterdam ในเวลานั้นช้างตัวนี้มีอายุ 3 ปี สูง 7 ฟุต มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะ Ceylon และแม่ของมันสูงกว่า 17 ฟุตครึ่ง ตามที่ผู้ดูแลช้างตัวนี้ได้บอกไว้”[1]

ข้อความข้างต้นมาจากบันทึกของ Ernst Brinck เทศมนตรีแห่งเมือง Harderwijk ในเนเธอแลนด์ (ภาพ 1) ผู้ซึ่งได้เห็นช้างตัวนี้ที่เมือง Amsterdam ช้างตัวนี้เป็นช้างเพศเมียนามว่า Hansken และมาถึงสาธารณรัฐดัตช์ด้วยเรือของ Dutch East India Company (VOC) หลังจากมาถึงสาธารณรัฐดัตช์ Hanken เดินทางเพื่อแสดงตัวไปทั่วเนเธอแลนด์และยุโรป Hansken อยู่ในเนเธอแลนด์ระหว่างปี 1633-1637 1640-1641 และ 1646-1648 เรื่องราวของ Hansken ทิ้งรอยประทับทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาในช่วงต้นสมัยใหม่หรือ early modern ในสังคมยุโรป

Continue reading “Hansken: ช้างเอเชียในสาธารณรัฐดัตช์ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17”

โพ้นทะเลเสวนา ตอนที่ ๕: “กษัตริย์นักประชาธิปไตย (?) : สถาบันกษัตริย์สเปนในช่วงเปลี่ยนผ่าน”

การเสวนาเรื่อง “กษัตริย์นักประชาธิปไตย (?) : สถาบันกษัตริย์สเปนในช่วงเปลี่ยนผ่าน” เป็นตอนที่ ๕ ของเสวนาชุด “สถาบันกษัตริย์ในสมัยเปลี่ยนผ่าน” โดยเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับบทความชื่อเดียวกันในบล็อกนักเรียนไทยโพ้นทะเล

ในตอนนี้ พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง และ อติเทพ ไชยสิทธิ์ ชวน “พีรวิชญ์ ขันติศุข” ผู้ศึกษาเรื่องการเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านและผู้หลงใหลในการเมืองสเปนร่วมสมัยมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในคำถามที่ว่า “กษัตริย์สเปนเป็นผู้สร้างประชาธิปไตยจริงหรือ?” และ “ทำไมผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากระบอบเผด็จการถึงยอม “ฆ่าตัวเองตาย” เพื่อการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตย?”

โพ้นทะเลเสวนาในตอนนี้ จะพาทุกท่านย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๗๐-๑๙๘๐ ของสเปนในฐานะประเทศที่ประชาธิปไตยกำลังก่อร่างสร้างตัว เพื่อสำรวจการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการปรับตัวของสถาบันทางการเมืองจากระบอบ “ผู้นำเผด็จการทหารทำตามอำเภอใจที่สุดในโลก” ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่มั่งคงได้อย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร

ขอเชิญผู้ที่สนใจติดตามรับชมรับฟัง “โพ้นทะเลเสวนา” ตอนที่ ๕ ได้ ผ่านทางช่อง YoutubeSpotify, และ Apple Podcasts

กษัตริย์นักประชาธิปไตย (?) : สถาบันกษัตริย์สเปนในช่วงเปลี่ยนผ่าน

“…สถาบันกษัตริย์ สัญลักษณ์แห่งความสถาพรและเอกภาพของชาติ มิอาจยอมรับการกระทำหรือทัศนคติใด ๆ ของบุคคลที่ใช้กำลังเข้าขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญที่ชาวสเปนได้ออกเสียงรับรองผ่านการทำประชามติ [1]

ในหลายประเทศ การได้มาซึ่งประชาธิปไตยมักจะมาจากการต่อสู้และเรียกร้อง-ของชนชั้นกลางถึงล่างต่อชนชั้นนำทางการเมือง โดยเฉพาะต่อสถาบันกษัตริย์ หรือกล่าวโดยสั้นว่า กษัตริย์ถูกมองเป็นคู่ขัดแย้งของการเดินทางสู่ประชาธิปไตย แต่คำกล่าวด้านบนนี้อาจทำให้หลายคนต้องหยุดคิดและพยายามจินตนาการถึงสิ่งที่เหมือนจะขัดต่อความรู้สึกว่า “สถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและปกปักรักษาประชาธิปไตย” ทว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศสเปน และได้กลายเป็นต้นแบบของการสร้างประชาธิปไตยให้กับหลายกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกในเวลาต่อมา

การสร้างประชาธิปไตยโดยชนชั้นนำและสถาบันกษัตริย์ในสเปนนั้นได้รับความสนใจจากแวดวงวิชาการที่ศึกษาชนชั้นนำและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบัน นี่จึงเป็นที่มาของงานเขียนชิ้นเล็กๆ นี้ที่พยายามลากเส้นความสัมพันธ์และสร้างคำอธิบายเพื่อตอบและตั้งคำถามชวนคิดเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์สเปนในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน โดยงานชิ้นนี้จะชวนกลับไปยังสเปนในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 เพื่อตอบคำถามว่า “ทำไมสเปนถึงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงทั้งๆ ที่เพิ่งออกจากระบอบเผด็จการได้ไม่นาน ?”  และ “สถาบันกษัตริย์สเปนมีตำแหน่งแห่งหนใดในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ ?”

Continue reading “กษัตริย์นักประชาธิปไตย (?) : สถาบันกษัตริย์สเปนในช่วงเปลี่ยนผ่าน”

มิซาเอะ: แม่บ้านปลดแอก

ในสังคมญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพจำของผู้หญิงในยุคเบบี้บูม (baby boom) คือภาพที่ต้องเกี่ยวข้องกับบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัย ผลสำรวจในปี 2013 (68 ปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2) ชี้ว่าหนึ่งในสามของผู้หญิงญี่ปุ่นต้องการที่จะแต่งงานและใช้เวลาทั้งหมดให้กับความเป็นแม่บ้าน (housewife)[1] จากความคาดหวังของสังคม ภาพแม่บ้านญี่ปุ่นจึงประกอบสร้างเข้ากับบทบาทของผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัว และกลายเป็นภาพจำของผู้คนในสังคม ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่ามุขปาถะ ภาพยนตร์ หนังโป๊ รวมไปถึงในมังงะ (การ์ตูนช่องวาดด้วยลายเส้นของญี่ปุ่น) ภาพของแม่ของตัวละครหลักในมังงะหลายเรื่องก็จะมีลักษณะที่เป็นแม่บ้านแม่เรือน คอยดูแลลูกและสามี ทำกับข้าว ทำความสะอาด เช็ดครัว เก็บที่นอน ตากผ้า ไปจนถึงให้อาหารสุนัข

เครยอนชินจัง (Kureyon Shinchan) หนึ่งในมังงะที่ได้ทำเป็นแอนิเมะในสังคมญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1990 ก็ปรากฏภาพของแม่บ้านอยู่ในหลายตัวละคร ครอบครัวโนะฮาร่าของชินจังก็ดูเหมือนจะเป็นครอบครัวตามขนบธรรมเนียมของสังคมญี่ปุ่นทั่วไป พ่อทำงาน แม่เลี้ยงลูก ลูกเรียนหนังสือ แต่แม่บ้านโนะฮาร่านามว่า มิซาเอะ (Nohara Misae) ผู้เป็นแม่ของชินจัง มีลักษณะที่ผิดแผกไปจากภาพจำของแม่บ้านที่สังคมญี่ปุ่นคาดหวัง แม้ว่าวาทกรรมของความเป็นหญิงที่เชิดชูความเป็นแม่บ้านเมื่อแต่งงานมีครอบครัวจะเข้ากระทำการกับมิซาเอะเช่นกัน แต่ในบางครั้งมิซาเอะกลับไม่สนุกกับวาทกรรมนี้อีกต่อไปและได้แสดงออกมาผ่านเรื่องราวกว่าสองพันตอนของเครยอนชินจัง มิซาเอะคือผู้ที่พยายามต่อรองและสร้างความซับซ้อนให้กับความหมายของแม่บ้านตามภาพแบบฉบับของสังคมญี่ปุ่น

Continue reading “มิซาเอะ: แม่บ้านปลดแอก”