ขบวนการนักศึกษากับจิตวิญญาณของการปฏิวัติ: จาก 1968, กลุ่มอิสระหลังปี 2553, สู่ข้อคิดเห็นบางประการต่อเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมัยที่ผมยังเล่นเฟสบุ๊คอยู่ ผมไปเขียนตอบโพสต์ของเพื่อนคนหนึ่ง ในทำนองว่าปรากฎการณ์การขายหนังสือของเนติวิทย์ รวมถึงกระแสตอบรับที่คนแห่กันไปซื้อจำนวนมากนี่ เป็นอะไรที่น่าสนใจ ลักษณะของเนติวิทย์ที่ขยันเขียน ขยันแปล ขยันพิมพ์หนังสือในปริมาณมาก เป็นลักษณะที่ลอกแบบมาจากสุลักษณ์อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ดูเหมือนว่าปรากฎการณ์ “ขายดี” ของหนังสือ จะไม่ได้มาจาก “คุณภาพ” ของหนังสือมากนัก กล่าวคือ เท่าที่ผมทราบ แทบจะไม่มีใครเอาเนื้อหาหนังสือของเนติวิทย์มาอภิปราย ถกเถียงต่อ หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่ออย่างเป็นจริงเป็นจัง นี่สะท้อนความจริงที่ว่า คนไปซื้อหนังสือเพราะต้องการสนับสนุนช่วยเหลือเนติวิทย์ ในฐานะ “คนรุ่นใหม่” และ “นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” อันเป็นภาพลักษณ์ที่เนติวิทย์สร้างขึ้นมา มากกว่าจะสนใจหนังสือและคุณภาพของหนังสืออย่างแท้จริง

หลังจากนั้นไม่นาน ราวกลางเดือนเมษายน จะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบ เนติวิทย์ก็ติดต่อผมมา เพื่อขอให้ผมช่วยเขียน “คำวิจารณ์ในเล่ม” ในหนังสือใหม่ที่เขาจะพิมพ์ หนังสือดังกล่าวนี้เป็นการรวบรวมจดหมายหลายฉบับที่เขาเขียนถึงประธานสโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เนื้อหาของจดหมายส่วนใหญ่เป็นการแนะนำและวิจารณ์การทำงานของสโมสรนิสิต เป้าหมายของหนังสือก็เพื่อหวังว่านิสิตในอนาคตจะเห็นความสำคัญของการทำกิจกรรมนิสิตมากขึ้น และหากมีนิสิตใหม่ที่สนใจจะไปทำงานสโมสรนิสิต ก็จะได้นำแนวทางของเนติวิทย์ไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสโมสรให้ดีขึ้น

ผมตัดสินใจเขียนวิจารณ์ ไม่ใช่เพื่อต้องการทำลายล้างเนติวิทย์ แต่เขียนด้วยความรู้สึกที่ว่า ปรากฎการณ์เนติวิทย์ที่เป็นอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ไม่ส่งเสริมการต่อสู้ของ “คนรุ่นใหม่” มากนัก การเชิดชูคนๆ หนึ่งให้กลายเป็น “ไอดอลประชาธิปไตย” โดยไม่ดูเนื้อหาและวิจารณ์ในสิ่งที่เขาทำ สุดท้ายแล้วจะไม่ช่วยให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขยายตัวได้

พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ ผมอยากจะชักชวนผู้ติดตามเนติวิทย์ ให้อ่านหนังสือเนติวิทย์อย่างจริงจัง และกล้าที่จะวิจารณ์หากไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ผมอยากจะชักชวน โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ที่สนใจการเมือง ให้ลองคิดอย่างจริงจังว่า การเมืองของนิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่นั้น สามารถทำได้ในหลายแนวทางและเราสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรได้เอง แทนที่จะฝากความหวังของการต่อสู้ไว้ที่เนติวิทย์หรือพรรคการเมืองใด เราต้องพยายามรวมกลุ่มกัน ใช้ความสร้างสรรค์ที่เรามี เพื่อไปให้ไกลกว่าเนติวิทย์ หากจะล้อกับชื่อหนังสือนี้ ผมคิดว่าเราควรจะ “ฝันให้ไกล” กว่าที่เนติวิทย์ชวนฝัน และต้องพยายาม “ไปให้ถึง”

บทความนี้ คือ “คำตาม” ที่ผมเขียนในหนังสือ “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง: ประชาธิปไตย​ในระดับนิสิต” ของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ซึ่งตีพิมพ์ช่วงปลายๆ เดือนพฤษภาคม ผมตัดสินใจเอามาลงในบล็อกนี้ เพราะเห็นว่าเนื้อหาบางส่วน เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของผมในฐานะนักเรียนที่เรียนอยู่ในต่างประเทศ

คำตาม

ผมต้องขอออกตัวก่อนว่าอันที่จริงแล้ว ผมไม่เหมาะสมที่สุดที่จะเขียนอะไรเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากทุกวันนี้ผมเรียนอยู่ในต่างประเทศ ผมเข้าเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์เมื่อปี 2552 ซึ่งก็เกือบทศวรรษมาแล้ว ไม่ได้เป็น “สิงห์ดำ” และที่สำคัญไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับ “การเมืองในระบบ” ไม่ว่าจะเป็นอบจ. สภานิสิต หรือสโมสรนิสิตเลย ผมไม่ได้รู้จักเนติวิทย์เป็นการส่วนตัว และขอสารภาพว่าไม่ได้ติดตามงานหรือกิจกรรมของเนติวิทย์เท่าไหร่ ที่เนติวิทย์ชวนผมมาเขียน เข้าใจว่าต้องการให้ผมเขียนวิจารณ์ จากมุมมองของนิสิตที่เคยทำกิจกรรมในฐานะสมาชิกของ “กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน” และในฐานะของนักศึกษาในต่างประเทศ ดังนั้นแล้ว เนื้อหาต่อไปนี้ ก็จะเป็นไปตามกรอบดังกล่าว

 

เนติวิทย์ในฐานะ “นักปฏิรูป”

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ของเนติวิทย์ด้วยความนับถือในความอดทนและความพยายามในการวิจารณ์สโมสรนิสิต สำหรับผมแล้ว เนติวิทย์คือ “นักปฏิรูป” คือมุ่งวิจารณ์เพื่อหวังว่าสถาบันหรือองค์กรนั้นๆ จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น กลุ่มหลักที่เนติวิทย์วิจารณ์ (อย่างน้อยในหนังสือเล่มนี้) คือตัวแทนที่นิสิตรัฐศาสตร์เลือกเข้าไปให้ทำหน้าที่ในสโมสร เนติวิทย์มุ่งวิจารณ์โดยหวังว่าคนเหล่านี้จะรับฟังนำคำแนะนำมากมายเหล่านั้นไปถกเถียง คิดต่อ และนำไปปฏิบัติ เพื่อบรรลุความคาดหวังคือ “สโมสรนิสิตเป็นตัวแทนของนิสิตจริง ๆ ปกป้องผลประโยชน์ และอำนวยสวัสดิการต่าง ๆ ให้”

ความเป็น “นักปฏิรูป” ที่มุ่งวิจารณ์นี้ อยู่ในบริบทที่เนติวิทย์ถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิต ดังที่เขาเขียนว่าเขา “ถูกตัดสิทธิในการลงสมัครใดๆแล้ว และสโมสรชุดนี้ก็คงไม่ช่วยผม” พูดง่ายๆ ก็คือ เนติวิทย์จำต้องผันบทบาทตัวเองจาก “ตัวแสดง” ในการเมือง ไปสู่บทบาทของผู้วิจารณ์ ที่เว้นระยะห่างออกมามากกว่าเดิม ดังนั้นแล้ว หากใครจะตั้งคำถามกับเนติวิทย์ว่า วิจารณ์เยอะขนาดนี้ทำไมไม่มาทำเอง? คำตอบที่เขาให้ไว้ก็คือ เขาโดนกีดกันให้ลงมาทำเองไม่ได้นั่นแหละ

ผมรู้จักชื่อของเนติวิทย์ตั้งแต่สมัยทำกิจกรรมนักศึกษา ขณะนั้นเนติวิทย์เป็นนักเรียนซึ่งสร้างชื่อให้กับตัวเองด้วยท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา พวกนักศึกษา “ก้าวหน้า” ขณะนั้นที่เคลื่อนไหวเรื่องการเมืองในภาพใหญ่ ก็ไม่ได้เห็นความสำคัญของเนติวิทย์เท่าไหร่ พวกเรารู้สึกว่าเนติวิทย์เคลื่อนไหวในประเด็นเล็กๆ จำกัดเฉพาะเรื่องของนักเรียน ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่รู้กันดีว่าเนติวิทย์สนิทสนมกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งพวกเราไม่ค่อยชื่นชอบท่าทีทางการเมืองของเขาเท่าไหร่ ดังนั้นแล้ว ขบวนการนักศึกษาตอนนั้น ในความเข้าใจของผม ก็ไม่ไปสัมพันธ์กับเนติวิทย์มากนัก ในขณะเดียวกันเนติวิทย์เอง ก็ดูจะเว้นระยะห่างจากพวกเราอยู่เหมือนกัน

นอกจากนี้ คงเป็นเพราะเนติวิทย์คลุกคลีกับสุลักษณ์มาก ภาษาพูด ภาษาเขียน วิธีคิดอะไรหลายอย่างจึงเหมือนสุลักษณ์มากจนพวกเรารู้สึกว่าเด็กคนนี้แก่ เข้าไม่ถึง “คนรุ่นใหม่” ยังไงชอบกล ยกตัวอย่างตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ เนติวิทย์พูดถึงมโนทัศน์เรื่อง “กัลยาณมิตร” ซึ่งหากใครอ่านสุลักษณ์มาบ้างคงทราบกันดีว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่สุลักษณ์มักจะเขียนถึงบ่อยๆ แถมเนติวิทย์ยังอ้างถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อด้วยว่า “กัลยาณมิตรคือ ปรโตโฆษะ เสียงกระตุ้นจากภายนอกที่เตือนภายใน เป็นทั้งชีวิตของมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด และพูดในสิ่งที่เราไม่อยากจะฟัง” ผมนึกไม่ออกว่านักกิจกรรมรุ่นใหม่สมัยนี้ จะมีใครอีกที่จะอ้างพระพุทธเจ้ามาใช้ในทางการเมือง

ความรู้สึกส่วนตัวของผม คือ สำนวนภาษาและวิธีการคิดของเนติวิทย์แบบนี้ มันไม่เท่ ไม่ร่วมสมัย รู้สึกไปกันไม่ได้กับภาษาของ “ฝ่ายซ้าย” “ประชาธิปไตย” และ “ความเป็นสมัยใหม่” ที่พวกนักกิจกรรมและขบวนการนักศึกษาใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่างตอนที่เนติวิทย์เข้าไปถกเถียงเรื่องการยกเลิก “หมอบกราบ” เขาก็เลือกใช้เหตุผลว่า เพราะรัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกหมอบกราบแล้ว ดังนั้นแล้วจึงไม่ควรทำ ผมนึกถึงสมัยผมทำกิจกรรม พวกเราไม่มีทางจะยกรัชกาลที่ 5 มาเป็นเหตุผลในการต่อสู้เรื่องทำนองนี้แน่ ภาษาแบบเนติวิทย์จึงเป็นภาษาแบบนักปฏิรูป ซึ่งในกรณีนี้ แทนที่จะตั้งเป้าต่อสู้ โค่นล้ม เลิกพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ ก็ใช้วิธี “กระตุ้นจากภายนอกที่เตือนภายใน” เพื่อให้ระบบมันปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น โดยการขอจัดพื้นที่ให้สำหรับคนที่ต้องการโค้งคำนับแทน

กระนั้นก็ตาม เนติวิทย์ก็ไม่ได้ใช้เจ้าและศาสนาพุทธเป็นฐานคิดและวิจารณ์แบบที่สุลักษณ์ทำเสมอไป เนติวิทย์เติบโตมากับความขัดแย้งเหลือง-แดง ในยุคของอินเตอร์เน็ต หลายเรื่องที่เขาผลักดัน เช่น เรื่องทรงนักเรียน เรื่องการลดชั่วโมงเรียน เรื่องปัญหาของการบังคับยืนตรงเคารพธงชาติ เรื่องปัญหาของการเกณฑ์ทหาร ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นไปในแนวทางเสรีนิยม ที่แม้แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมรวมถึงคนที่กลางๆ ในประเทศหลายส่วนก็เห็นตรงกันว่าควรมีการแก้ไข และต่อมาเมื่อเข้าเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เนติวิทย์คงได้อ่านหนังสือ ถกเถียง พบปะผู้คนที่ก้าวหน้าของยุคสมัยอยู่มาก

ความเป็นนักปฏิรูปของเนติวิทย์เป็นอะไรที่ประหลาดสำหรับผม นอกจากความเป็นปัจเจก ไม่สังกัดกลุ่มใดๆ ซึ่งในแง่หนึ่งมีฐานมาจากความศรัทธาในระบบแล้ว เขายังเป็นส่วนผสมที่อาจจะยังไม่ลงตัวระหว่างความอนุรักษ์นิยมในเชิงภาษาและในเชิงความคิดบางประการอันเป็นมรดกจากสุลักษณ์ กับความเป็น “คนรุ่นใหม่” ในยุคดิจิตอล ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ที่ใฝ่ฝันจะผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ทางการเมืองแบบสากล

กลุ่มนักศึกษาอิสระหลังปี 53

จากประสบการณ์และทัศนะส่วนตัวของผม ความแตกต่างระหว่างเนติวิทย์กับตัวผมเอง รวมถึงขบวนการนักศึกษาและกลุ่มอิสระต่างๆ หลังพฤษภา 53 คือ สมัยนั้นพวกเราส่วนใหญ่ยัง “ปฏิวัติ” อยู่ พวกเรารับมรดก “เดือนตุลา” มาทั้งในแง่การจัดตั้งองค์กร การวางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี รวมไปถึงทางด้านวัฒนธรรม เพลงโปรดเพลงหนึ่งของผมและเพื่อนๆ หลายๆ คนสมัยนั้น คือเพลง “ถั่งโถมโหมแรงไฟ” ของคาราวาน ที่ขึ้นต้นว่า “ปฏิวัติโค่นล้มสังคมแบบเก่า…”

ถึงที่สุดแล้ว ขบวนการนักศึกษาในประเทศไทย ก็เริ่มต้นที่ “เดือนตุลา” ไม่ใช่หรือ? เดือนตุลามันช่างมีเสน่ห์อะไรบางอย่างที่ยากจะก้าวพ้น เราอ่านบันทึกของเสกสรรค์ จิรนันท์ ด้วยความตื่นเต้น และติดตามผลงานของสมศักดิ์ ธงชัย เกษียร อย่างใกล้ชิด ประสบการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนและฝังใจจนกระทั่งสร้างนักวิชาการชั้นนำของประเทศเหล่านี้จะคืออะไร หากไม่ใช่ประสบการณ์ “เดือนตุลาฯ”? ในตอนนั้นเราจึงจินตนาการกันไปเองว่าเรากำลังสานต่ออุดมการณ์ของนักศึกษาเดือนตุลา

ถึงกระนั้น การปฏิวัติของพวกเรา ก็ไม่ได้เป็นระบบ ความหมายของการปฏิวัตินั้น กว้างกว่าความหมายที่เรามักจะเข้าใจกันในภาษาไทยว่าคือการยึดอำนาจรัฐอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินแบบพรรคคอมมิวนิสต์ พวกเราไม่ได้มีคนเดือนตุลาฯ เป็นแรงบันดาลใจเพียงอย่างเดียว แต่เราได้รับอิทธิพลของการเมืองแบบภาคประชาสังคม การเมืองวัฒนธรรมแบบปัญญาชน รวมถึงการเมืองแบบใหม่ที่ใช้การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ใช้โซเชี่ยลมีเดียเพื่อให้เข้าถึงคนจำนวนมาก ดังนั้นแล้ว ความหมายของการปฏิวัติที่พวกเรามีนั้น คือความหมายแบบกว้างที่สุด คือการมีอุดมคติและมีความหวังที่จะล้มสิ่งเก่าและสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม แม้ว่าสิ่งใหม่ที่ว่า อาจจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยหรืออาจจะยังไม่ค่อยแน่ชัดก็ตาม (ประเด็นนี้จะขยายความต่อไปในส่วนถัดไป)

ในบริบทของความขัดแย้งทางการเมืองแบบสุดขั้วในขณะนั้น บรรยากาศทางการเมืองกลับมีเสรีภาพเต็มที่ ขบวนการนักศึกษา “เลือกข้าง” ฝ่ายก้าวหน้า พวกเราเกาะและเป็นส่วนหนึ่งของ “กระแสสูง” เรื่องการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ หลังพฤษภา 53 เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มอิสระของนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย งานแรกๆ ที่เราจัดร่วมกันระหว่างกลุ่มอิสระจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตร ศิลปากร มหิดล คืองานรำลึก 6 ตุลาฯ “ใครฆ่าพี่ เราไม่ลืม” กลุ่มอิสระเหล่านี้มีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เป็นผู้ประสานงาน งานรำลึก 6 ตุลาฯ นี้ต่อมาก็กลายเป็นงานที่เราเข้าไปร่วมจัดทุกปี

539200_531153603573286_724781671_n

376301_531244373564209_354315332_n
การเดินขบวนและชูป้ายผ้าในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อให้ปล่อยสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารการเมืองและจำเลยในคดีมาตรา 112 ที่เพิ่งถูกตัดสินโทษจำคุกไป 10 ปี ดูรายงานเพิ่มเติมได้ที่ เว็ปไซต์ประชาไท https://prachatai.com/journal/2013/02/45072

การเกิดขึ้นของกลุ่มอิสระ เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกว่าองค์กรและสถาบันเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์การเคลื่อนไหวยุคใหม่อีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรนักศึกษาเดิมๆ เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าด้วยซ้ำไป เช่น มีอยู่ครั้งหนึ่งที่องค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามขัดขวางไม่ให้พวกเราจัดงานรำลึก 6 ตุลาฯ เหตุผลหนึ่งคือหมิ่นเหม่เรื่องสถาบันกษัตริย์ และ “คนเสื้อแดง” มาเยอะ เป็นต้น พวกกลุ่มอิสระตอนนั้นถือว่าตนเป็นกลุ่มเดียวที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในแต่ละมหาวิทยาลัย และมองว่าทั้งๆ ที่เราอยู่ใน “กระแสสูง” การเมืองกำลังแหลมคมขึ้นทุกขณะ องค์การนักศึกษา รวมถึงสโมสรนักศึกษากลับไม่สนใจ ไม่รู้เรื่อง และไม่ประสีประสาทางการเมือง พวกเราจึงเห็นว่าองค์การนักศึกษานั้น เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายเรียกว่า พวก “สายลมแสงแดด” จนเกินจะเยียวยา เสียเวลาเปล่าที่จะไปสนทนาด้วย

378972_334645599896887_760473651_n
โปสเตอร์เสวนา “นิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย” จัดโดยกลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน (CCP) ช่วงปลายปี 2554

ในจุฬาฯ ตอนนั้น มีกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) ที่อยู่ในกระแส “กลุ่มอิสระ” ที่ว่านี้ ทางกลุ่มประกอบด้วยนิสิตจากหลายคณะที่สนใจการเมืองและอยากจะทำอะไรซักอย่าง การมี CCP ขึ้นเป็นการก้าวผ่านข้อจำกัดของสโมสรนักศึกษาที่ไม่สนใจการเมืองและจำกัดตัวเองอยู่แต่ในคณะของตน พวกเราไม่คิดจะเข้าไปปฏิรูปหรือเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรนักศึกษา อบจ. หรือสภานิสิต เพราะเรามองว่าองค์การพวกนี้คือฝ่ายอนุรักษ์นิยม เป็นแขนขาทำงานให้กับทางมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นตัวแทนของนิสิตและไม่ได้ตอบสนองความต้องการของนิสิตอย่างแท้จริง การเข้าไปเพื่อพยายามแก้ไขหรือผลักดันอะไรบางอย่าง ดูท่าจะยากกว่าตั้งกลุ่มอิสระขึ้นมาใหม่ซะอีก นอกจากนี้ การเป็นกลุ่มอิสระยังข้ามพ้นข้อจำกัดของระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขียนโครงการขอทำกิจกรรม ของบประมาณ ขอสถานที่ ฯลฯ พวกเราในฐานะกลุ่มที่เคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ จุฬาฯ หากจะเขียนโครงการของบประมาณจากจุฬาฯ ก็กระไรอยู่

หลายอย่างที่ CCP เคลื่อนไหว คือการยกเลิกสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเก่าและล้าหลัง แต่จะให้มีอะไรขึ้นมาใหม่ เรื่องนี้ยังไม่ลงตัว ยกตัวอย่างเช่น พวกเรารณรงค์ให้ยกเลิกรับน้อง รวมถึงรณรงค์ให้ยกเลิกงานฟุตบอลประเพณี (ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ เนติวิทย์เขียนไว้ว่าไม่เห็นด้วย) แต่เราก็ไม่ได้เสนอว่ายกเลิกไปแล้วควรจะมีอะไรแทนอย่างเป็นระบบ สำหรับผมแล้ว การกล้าคิด กล้าทำในลักษณะนี้ คือเสน่ห์ของขบวนการนักศึกษาโดยตัวมันเอง เป็นจิตวิญญาณแบบ “ปฏิวัติ” ซึ่งหลายคนอาจมองว่านี่คือความไร้เดียงสาและเป็นข้อจำกัดของกลุ่ม “ก้าวหน้า” ทั้งหลาย

Ball68
โปสเตอร์งานเสวนา “เรายังจะจัดงานบอลกันอีกหรือ?” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ไม่นาน ในงานสามารถรับหนังสือของคณะนิติราษฎร์และลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ของกลุ่มครก. 112 ได้ด้วย

หลังการรัฐประหารปี 2557 ก็เข้าสู่ “กระแสต่ำ” ทางการเมือง นักศึกษารุ่นที่เติบโตมาจากพฤษภา 53 เริ่มเรียนจบกันไป กลุ่มอิสระต่างๆ ก็ทยอยหายไป นักศึกษาบางแห่งถูกคุกคาม และบางแห่งก็งดจัดกิจกรรมภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัว แนวทางการปฏิรูปแบบเนติวิทย์ จึงประสบความสำเร็จในบริบทเช่นนี้ ตัวอย่างสำคัญคือกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสมาชิกกลุ่มตัวเองเข้าสู่องค์การต่างๆ เช่น อมธ. ล้อการเมือง และล่าสุดจำนวนหนึ่งก็เข้าไปร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ เนติวิทย์เองเข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ ในบรรยากาศเช่นนี้ และเมื่อเข้าไปไม่นานก็มีบทบาทสำคัญในสภานิสิต จนถึงจุดสูงสุดที่กรณี “ล็อคคอนิสิต” ที่หน้าลานพระบรมรูปสองรัชกาล

ขบวนการนักศึกษากับจิตวิญญาณของการปฏิวัติ

นักวิชาการอเมริกันท่านหนึ่งเคยพูดไว้ว่า ความแตกต่างระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาในสมัยนี้ ดูได้จากท่าทีต่อเรื่องอำนาจและเรื่องการปกครอง ฝ่ายซ้ายนั้นมักจะรังเกียจอำนาจ การเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายจึงเป็นไปในลักษณะของการประท้วงต่อความไม่เป็นธรรม อันเป็นปฏิกิริยาต่อการใช้อำนาจ แทนที่จะคิดเข้าสู่อำนาจเสียเอง ดังนั้นแล้ว ฝ่ายซ้ายจึงไม่มีทักษะเรื่องการปกครอง เรื่องการบริหาร หรือถ้ามีก็สู้ฝ่ายขวาไม่ได้ เพราะฝ่ายขวาคิดเรื่องนี้เป็นหลัก มองในแง่นี้ ท่าทีแบบเนติวิทย์คงจะเป็นท่าทีแบบฝ่ายขวา (ในความหมายสากล ซึ่งไม่ได้มีนัยที่แย่แบบในภาษาไทย) ที่ไม่รังเกียจอำนาจ ไม่รังเกียจระบบ แต่พร้อมจะเข้าหามัน เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้อุดมคติของตนเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าอุดมคตินั้นจะเป็นเรื่องการศึกษาหรือเรื่องประชาธิปไตยก็ตาม

ในที่นี้ ไม่ได้ต้องการบอกว่า การปฏิรูปหรือการทำงานในระบบ เป็นสิ่งที่ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า เพราะการทำงานในระบบย่อมมีข้อดีของมัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการจะเน้นในที่นี้ คือข้อจำกัดของท่าทีแบบปฏิรูป โดยเฉพาะในหมู่ “คนรุ่นใหม่” กล่าวคือ ถึงที่สุดแล้ว การเข้าไปทำงานในระบบก็จำต้องประนีประนอมละทิ้งหลักการหลายประการ จนสุดท้ายละเลยจิตวิญญาณของขบวนการนักศึกษา อันเป็นจิตวิญญาณที่ปฏิวัติ ล้มล้างสิ่งเก่า สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา

ปีนี้เป็นปีครบ 50 ปีพฤษภา 1968 ในฝรั่งเศส อันเป็นประเทศที่ผมศึกษาอยู่ เหตุการณ์ดังกล่าวคือการประท้วงใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส นำโดยนักศึกษาร่วมกับสหภาพกรรมกร หากสรุปอย่างผิวเผิน การประท้วงของนักศึกษามีสาเหตุมาจากสภาวะอัดอั้นต่อการเมืองแบบ “คนรุ่นเก่า” ที่มีประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกลเป็นตัวแทน ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเปิดกว้างทางความคิด มีการประท้วงใหญ่หลายแห่งทั่วโลกเพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม ในฝรั่งเศสมีกระแสการประท้วงต่อต้านสงครามอัลจีเรีย นอกจากนี้ ก็ยังเป็นยุคของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี รวมถึงการต่อต้านการเหยียดผิวด้วย ในขณะนั้นนักศึกษาเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับการเมืองของคนรุ่นเก่าที่ริดรอนเสรีภาพและเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพในโลก ในประเทศฝรั่งเศส นักศึกษาเข้ายึดมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีการปะทะกันกับตำรวจอย่างรุนแรงหลายหนที่ในใจกลางกรุงปารีสในเดือนพฤษภาคม 1968 แต่สุดท้ายการประท้วงก็สิ้นสุดลงเมื่อสหภาพกรรมกรและพรรคคอมมิวนิสต์ยอมรับข้อตกลงของรัฐบาล และภายหลังมีการเลือกตั้งใหม่ที่ทำให้ฝ่ายขวามีความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจมากขึ้น

ปีนี้ผมได้มีโอกาสสัมผัสการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในฝรั่งเศสด้วยตัวเอง พวกเขาเองก็ไม่ได้ต่างอะไรจากนักศึกษาไทยมากนัก คือส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจการเมือง การเลือกตั้งตัวแทนนักศึกษาก็มีผู้ไปใช้สิทธิน้อยมาก บางครั้งต่ำกว่า 10% สาเหตุมาจากโครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยนั้น เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปร่วมตัดสินใจได้น้อย ในที่ประชุมที่มีตัวแทนของคณะและผู้บริหารหลายสิบคน อาจมีตัวแทนของนักศึกษาไปร่วมได้เพียงคนสองคน ทำให้เสียงของนักศึกษาไม่ได้มีความสำคัญอะไร ดังนั้นแล้ว ที่นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจการเมืองในระบบ ก็เพราะระบบเองไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาส่วนใหญ่เข้าไปมีอำนาจในการตัดสินใจอะไรได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากที่จะแก้ไขหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

กระนั้น ปีนี้ก็เป็นปีที่นักศึกษาจำนวนมหาศาลออกมาประท้วงเรื่องการปฏิรูปการศึกษา มีการลุกฮือยึดมหาวิทยาลัยหลายสิบแห่งทั่วประเทศ ยกเลิกการเรียนการสอน ยกเลิกการสอบ แล้วจัดการตารางสอนเองโดยเชิญให้คนที่ตนสนใจมาพูด แรงบันดาลใจสำคัญอย่างหนึ่งคือการประท้วงใหญ่ของ “รุ่นพี่” ของเขาเมื่อ 50 ปีก่อน กิจกรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยด้วยการจัดประชุมสภานักศึกษา (Assemblée Générale) ในแต่ละมหาวิทยาลัย การประชุมนั้นอาจจะมีตัวแทนของสหภาพนักศึกษาเป็นคนเรียกประชุม ทุกคนที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีสิทธิเข้าร่วมประชุมโดยผู้จัดกำหนดวาระต่างๆ เอาไว้ล่วงหน้า ทุกคนสามารถออกมาพูดหน้าเวทีได้โดยให้เวลาจำกัด ช่วงท้ายของการประชุมมีการโหวตโดยการยกมือ การจัดประชุมลักษณะนี้ ทำได้รวดเร็ว ก้าวพ้นข้อจำกัดของระบบ และที่สำคัญ ไม่ได้ทำในนามกลุ่มหรือองค์กรใด เป็นการประชุมที่เปิดให้นักศึกษาทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมได้และทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ การยึดมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ก็ผ่านการประชุมดังกล่าวนี้ บางแห่งต้องนัดประชุมหลายครั้งกว่าจะมีคนมากพอเข้าร่วมและยกมือเห็นด้วยกับการยึดมหาวิทยาลัย หลายแห่งหลังจากยึดแล้วก็โหวตเปลี่ยนใจไม่ยึดก็มี (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบล็อกที่ผมเขียน https://thaistudentsoverseas.wordpress.com/2018/04/12/รีวิวคอมมูนเสรีแห่งโตล/)

ปรากฎการณ์การยึดมหาวิทยาลัย ชวนให้ตั้งคำถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้นักศึกษาทั่วไปจำนวนมาก ซึ่งปกติไม่ได้สนใจการเมือง เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน คำตอบนั้นนอกจากการมีโครงสร้าง “นอกระบบ” อันเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากเข้าร่วมถกเถียงอย่างอิสระแล้ว ที่สำคัญคือการมี “จิตวิญญาณของการปฏิวัติ” นอกจากการเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาซึ่งพวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรง พวกเขายังเรียกร้องในประเด็นที่เกินกว่าเรื่องตัวเอง พวกเขาก่นด่าทุนนิยม เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก จนกระทั่งเรียกร้องสนับสนุนชาวเคิร์ดในประเทศตุรกี ข้อเรียกร้องแต่ละอย่างเหล่านี้แทบเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ แต่นี่ไม่ใช่หรือ คือความงดงามของขบวนการนักศึกษา? มันคือพลังของวัยหนุ่มสาวที่กล้าคิด กล้าพูด กล้าลงมือทำ พวกเขาไม่ยอมจำนนต่อระบบ ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและกล้าเสนออุดมคติให้ถึงที่สุด

ชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่สั้น แต่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ ผมอาจจะโชคดีที่เข้ามหาวิทยาลัยในยุคหลังพฤษภา 53 ที่บรรยากาศของสังคม ของมหาวิทยาลัย และของนักศึกษานั้นตื่นตัวทางการเมือง สำหรับผม มันอาจเป็นช่วงเวลาเดียวในชีวิต ที่ปัญญาชนหนุ่มสาวไฟแรง จะได้มีอุดมคติวิพากษ์วิจารณ์ระบบและสถาบันต่างๆ อย่างถึงที่สุดโดยกล้าทำสิ่งใหม่ๆ หลุดจากกรอบเดิมๆ เราตั้งกลุ่มกันขึ้นมาใหม่ เรากล้าจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุกและหลากหลาย เราสร้างพื้นที่ใหม่ให้กับคนที่สนใจการเมืองได้มาร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นทั้งการพัฒนาตัวเองและเผยแพร่ความรู้ให้เพื่อนนักศึกษาและสังคมไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ต้องพึ่งพาสถาบันทางการเมืองในระบบอย่าง อบจ. สภานิสิต หรือสโมสรนิสิต พวกเราเห็นว่า มหาวิทยาลัยเป็นเวทีทดลอง ฝึกหัด เรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะมีทุน มีบุคลากรที่พร้อมจะสนับสนุน มีเสรีภาพในการจัดเสวนาถกเถียงเรื่องการเมือง ไปจนถึงการประท้วงที่ยากที่จะจัดขึ้นภายนอกมหาวิทยาลัยได้

คำขวัญหนึ่งของนักศึกษาฝรั่งเศสสมัยปี 1968 คือ “Soyons realistes, demandons l’impossible!” แปลคร่าวๆ ว่า “จงอยู่กับความเป็นจริง โดยเรียกร้องสิ่งที่เป็นไปไม่ได้!” ซึ่งมีความหมายว่า ทุนนิยมเสรีที่หลอกล่อให้เราคิดว่ามันจะอยู่ตลอดไปและ “เป็นไปไม่ได้” ที่เราจะโค่นล้มมันนั้น เราต้องคิดใหม่และอยู่กับ “ความจริง” ซึ่งก็คือ เราโค่นล้มมันได้และเราต้องทำด้วยตัวเราเอง

0_0Wo0hQbeG_Y3e5CY
ภาพจาก Gérard Aimé. “Mai 68, Les Murs Ont La Parole”

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้โดยการปลุกจิตวิญญาณกบฎ หรือ “จิตวิญญาณปฏิวัติ” ในตัวนักศึกษาขึ้นมา โดยมีเงื่อนไขแรกคือการไม่จำนนต่อระบบ เราต้องพยายามมองเห็น “ความจริง” กล่าวคือ สิ่งที่เสมือนว่าคงทนถาวรนั้นอันแท้จริงแล้วล่มสลายลงไปได้ด้วยมือของเรา เราต้องเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทุกคนคือปัจจัยของความเปลี่ยนแปลง เรารวมกลุ่มกันได้ เราสร้างประวัติศาสตร์ได้ และสามารถจะสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมาได้

วิธีคิดเช่นนี้ไม่มีช่วงใดในชีวิตที่เหมาะกว่าช่วงเวลาของการเป็นนักศึกษาวัยหนุ่มสาวอีกแล้ว แม้ชัยชนะอาจจะยังมองไม่เห็นในเร็ววัน แต่สิ่งสำคัญคือการมีอุดมคติ และหากเรามีความมุ่งมั่นมากพอ อุดมคติและ “จิตวิญญาณปฏิวัติ” ที่ว่านี้ก็จะอยู่กับเราตลอดไป

ดิน บัวแดง

ชานกรุงปารีส กลางเดือนพฤษภาคมปี 2018 ที่กลิ่นอายของการปฏิวัติยังคุกรุ่น

Author: Din Buadaeng

A History Student

2 thoughts on “ขบวนการนักศึกษากับจิตวิญญาณของการปฏิวัติ: จาก 1968, กลุ่มอิสระหลังปี 2553, สู่ข้อคิดเห็นบางประการต่อเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล”

  1. การประชุม General assembly ของนักศึกษาตอนยึดมหาลัยนี่ทำให้นึกถึงตอนอ่านเรื่องการเลือกผู้แทน the third estate ใน General assembly สมัยปฏิวัติใหญ่ การเลือกผู้แทนสมัยนั้นมีความหลากหลายมาก บ้างก็อาศัยจัดในที่คนสามารถมาชุมนุมเยอะๆ ได้ เช่น ในโบสถ์ ตามกิลด์ หรือไม่ก็ในที่ประชุมสภาอภิชนท้องถิ่น (ซึ่งพวกหัวหน้ากิลด์ พ่อค้า ทนายความ เริ่มเข้าไปมีที่นั่งบ้างแล้ว) ใครที่อยู่แถวๆ นั้น จะเป็นคนในท้องถิ่นหรือคนต่างถิ่นก็มาร่วมแล้วยกมือได้เลย

    Like

    1. ผมก็คิดอยู่เหมือนกัน ว่าไอเดียเรื่อง General Assembly นี่ อาจจะมีฐานมาจากสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ก็ไม่ได้ค้นจริงจัง เท่าที่รู้คือมันเป็นระบบที่สหภาพแรงงาน และพวกบริษัททั้งหลายในปัจจุบันใช้อยู่ เช่นเดียวกับพวกนักศึกษา มันไม่ได้มีความหมายแบบ General จริงๆ ในทำนองที่ว่าใครมาร่วมก็ได้ แต่มัน scope แคบลงไป เช่น AG ของกรรมการโรงงานนั้นๆ AG ของนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นๆ AG ของพนักงานบริษัทนั้นๆ เป็นต้น

      Like

Leave a comment