การประท้วงของนักศึกษาในฝรั่งเศส: พาไปเยี่ยมชมคอมมูนเสรีแห่งโตลเบียก (La commune libre de Tolbiac)

หมายเหตุ: บางส่วนเรียบเรียงจากเฟสบุ๊คของ Din Buadaeng

จุดเริ่มต้นการประท้วงของนักศึกษา

การเมืองฝรั่งเศสดุเดือดมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม เพราะเรียกได้ว่าประธานาธิบดีมาครง “ประกาศสงคราม” กับฝ่ายซ้าย โดยการพยายามปฏิรูปการรถไฟ ซึ่งมีสหภาพที่เข้มแข็งมาก เมื่อวันที่ 22 มีนาคมมีการนัดชุมนุมใหญ่โดยฝ่ายซ้าย ทั่วประเทศคาดว่าประมาณ 4 แสนคน ในปารีสอย่างเดียวประมาณ 4 หมื่นคน ความรู้สึกของฝ่ายซ้ายก็คือ การที่รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามกับการรถไฟ ถือเป็นการทดลองก้าวแรกสู่การปฏิรูปบริการสาธารณะอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ฯลฯ หากเรายอมแพ้เวทีนี้ เวทีอื่นๆ ก็จะแพ้เช่นเดียวกัน ดังนั้น “เราทุกคนคือพนักงานการรถไฟ”

อย่างหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่ทราบ คือนักศึกษาฝ่ายซ้ายเขาก็เคลื่อนไหวมาซักพักแล้ว เรื่องการปฏิรูปมหาวิทยาลัย คร่าวๆ ก็คือรัฐบาลพยายามตั้งกฎเกณฑ์ให้การคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยต้องผ่านการคัดเลือกที่ยุ่งยากมากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัยให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ในขณะที่ทางฝ่ายซ้ายเห็นว่า การศึกษาขั้นสูงควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรเปิดให้คนเข้าถึงได้มากที่สุด ในราคาที่ถูกที่สุด

ที่น่าสนใจคือ ในฝรั่งเศส แทบทุกมหาวิทยาลัย ค่อนข้างชัดเจนว่า “คณะนิติศาสตร์” เป็นฐานที่มั่นของ “ฝ่ายขวา” ในขณะที่ “คณะสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์” มักเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายซ้าย เมื่อมีการประท้วงใหญ่ของพนักงานการรถไฟและสหภาพเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา นักศึกษาก็ยกระดับการประท้วงด้วยเช่นกัน ที่มหาวิทยาลัยมงเปลิเย (Montpellier) นักศึกษาฝ่ายซ้ายจากคณะสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ที่ยึดคณะตัวเองอยู่แล้ว ได้บุกเข้าไปยึด “ฐานที่มั่น” ของพวกฝ่ายขวา คือยึดห้องเรียนของคณะนิติศาสตร์ ไม่ให้มีการเรียนการสอน

ปรากฎว่าคืนวันที่ 22 มีกลุ่มชายชุดดำสวมหน้ากาก ถือไม้บุกเข้าไป “ปลดปล่อย” ห้องเรียนของคณะนิติศาสตร์จากการยึดครองของนักศึกษาฝ่ายซ้าย หลายคนได้รับบาดเจ็บหัวแตกกันไป นักศึกษาฝ่ายซ้ายบอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่นักเลงพวกนี้จะเข้าทางประตูหน้า เพราะพวกเขาคุมเอาไว้อยู่ แปลว่าพวกนี้เข้าทางประตูหลัง ซึ่งคนที่มีกุญแจคือคณบดีและเจ้าหน้าที่ของคณะ บางคนถึงขั้นบอกว่า ชายชุดดำบางคนหน้าตาคุ้นๆ น่าจะเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์!

ต่อมาดราม่ายิ่งขึ้นไปอีก เพราะคณบดีคณะนิติศาสตร์ ดันให้สัมภาษณ์สื่อว่าภูมิใจที่นักศึกษานิติศาสตร์ออกมาปกป้องสิทธิตัวเอง จึงนำไปสู่การชุมนุมของนักศึกษาฝ่ายซ้ายในหลายที่ ให้คณบดีลาออก ประเด็นใหญ่ก็คือ คาดว่าคณบดีจะอยู่เบื้่องหลังสนับสนุน “เปิดประตู” ให้พวกนักเลง เข้ามาทุบหัวพวกนักศึกษา

ปี 2018 เป็นปีครบรอบ 50 ปี พฤษภา 68 เหตุการณ์ครั้งนั้นภาพที่เห็นคือ นักศึกษาฝ่ายซ้ายออกมายึดมหาวิทยาลัย ออกมาเดินถนน ต้านทุนนิยม ต้านเผด็จการฝ่ายขวา ฯลฯ ปีนี้ หลายคนก็ออกมาพูดว่า ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอย

วันที่ 23 มีนาคม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Montpellier ยื่นใบลาออก

การประท้วงขยายตัว

เวลาล่วงเลยไปเข้าสู่เดือนเมษายน เนื่องจากใกล้ถึงช่วงสอบแล้ว แต่ยังไม่ได้เรียนกันเท่าไหร่ นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยตูลูสเลยเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแจกคะแนนให้ทุกคนครึ่งนึง (คือ 10 เต็ม 20) แต่ถ้าใครไปสอบได้คะแนนมากกว่านั้น ก็ให้ใช้คะแนนนั้นแทน

แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องแจกเกรด เทศบาลเมืองตูลูสบอกว่า ถ้ามหาวิทยาลัยโดนปิด ไม่มีที่ให้สอบ ให้มาใช้ที่เทศบาลได้

มหาวิทยาลัยปารีส 1 ศูนย์ Tolbiac ซึ่งโดนยึดเหมือนกัน ก็เพิ่งเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแจกเกรด ตามรอยที่ตูลูส

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการปฏิรูปเกณฑ์การเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว บางแห่งอย่างที่ตูลูส ก็ประสบปัญหาเรื่องการยุบรวมมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ซึ่งคาดเดากันว่าจะทำให้ภาควิชาบางแห่งถูกยุบ งบประมาณน้อยลง โดยเฉพาะสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์

การประท้วงที่ล้อไปกับการประท้วงใหญ่ของภาคบริการสาธารณะ อันเริ่มมาจากกลุ่มพนักงานการรถไฟ กลุ่มหลายกลุ่มพยายามจะรวมตัวกันสู้ (convergence des luttes) ทำให้ความทรงจำเรื่องพฤษภา 68 ที่นักศึกษากับกรรมกรเคยร่วมกันประท้วงกลับมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวครั้งนี้อีกครั้ง

ที่ตูลูส นักศึกษาตกลงกันว่าจะยึดมหาวิทยาลัยอย่างน้อยถึงปลายเดือนพฤษภาคม ส่วนสหภาพต่างๆ และการรถไฟ ประกาศประท้วงยาวถึงเดือนมิถุนายน ในขณะที่โพลต่างๆ ก็ชี้ให้เห็นว่า ชาวฝรั่งเศสเริ่มสนับสนุนการประท้วงครั้งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

29683820_1843592662342114_7555564924361424564_n

มหาวิทยาลัยปารีส 1 Tolbiac มหาวิทยาลัย “ปิด” แต่ “เปิด” คือนักศึกษายึด ปิดการเรียนการสอนปกติ แล้วจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ให้คนมาเสนอกิจกรรมได้ ในภาพคือเชิญพวกพนักงานการรถไฟ พนักงานไปรษณีย์มาคุยกันว่าเราจะสู้ร่วมกันอย่างไร คลิกดูที่มาภาพ

29792556_1843587912342589_2794209531577274327_n

 

วันที่ 7 – 8 เมษายนที่ผ่านมา มีการประชุมใหญ่ของตัวแทนนักศึกษาทั่วประเทศประมาณ 150 คน (Coordination Nationale Etudiante) ที่มหาวิทยาลัยนองแตร์ (Nanterre) ชานเมืองปารีส นักศึกษาเข้ายึดห้องประชุมใหญ่คณะนิติศาสตร์โดยไม่ได้ขออนุญาตแต่อย่างใด

มหาวิทยาลัยนองแตร์มีประวัติศาสตร์และเป็นสัญลักษณ์สำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมนักศึกษายุคพฤษภา 68

นักศึกษาออกแถลงการร่วมกันให้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ยกเลิกการยุบรวมมหาวิทยาลัย ให้มีการลงทุนเกี่ยวกับการศึกษามากขึ้น สนับสนุนสวัสดิการของนักศึกษามากขึ้น ยกเลิกการปฏิรูปการรถไฟ ยกเลิกการปฏิรูปกฎหมายผู้ลี้ภัย (ดูแถลงการณ์ฉบับเต็มที่นี่)

เมื่อวันอาทิตย์มีข่าวว่านักศึกษาเดินทางกลับกันไปด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร (คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม) แต่พอวันจันทร์ที่ 9 เมษายนปรากฎว่าเป็นข่าวอีก เพราะนักศึกษาจำนวนหนึ่งทุบกระจกเข้าไปยึดตึกในตอนเช้า อธิการบดีสั่งปิดมหาวิทยาลัยและยกเลิกการสอบในวันดังกล่าว (ช่วงนั้นเป็นช่วงสอบ) จากนั้นก็เรียกหน่วยสลายม็อบ (CRS) เข้ามาช่วงเที่ยง และตลอดช่วงบ่ายมีการปะทะกัน ตำรวจค่อยๆ ลากนักศึกษาที่นั่งอยู่กับพื้นในตึกออกไปทีละคนๆ สุดท้าย 7 คนถูกคุมตัวไปที่สถานีตำรวจ

ความย้อนแย้งของเรื่องนี้คือ ผมลงทะเบียนไปฟังเสวนาที่มหาวิทยาลัยนองแตร์ตั้งแต่หลายเดือนก่อน เสวนาดังกล่าวจัดโดยหอจดหมายเหตุภาพและเสียงของฝรั่งเศส (INA) ในหัวข้อ “พฤษภา 68 จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ที่ต่อเนื่องยาวนาน” (Mai 68, début d’une lutte prolongée) (คลิกดูโปรแกรม) ในงานนี้จะวิเคราะห์สื่อต่างๆ สมัยพฤษภา 68 ไม่ว่าจะเป็นสกู๊ปข่าวโทรทัศน์หรือภาพจากกล้องส่วนตัวต่างๆ ที่หอจดหมายเหตุเก็บเอาไว้ การจัดที่นองแตร์สำคัญ เพราะถือว่านองแตร์คือ “จุดเริ่มต้น” ของพฤษภา 68 หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ ภาพและความทรงจำเกี่ยวกับพฤษภา 68 วนเวียนเกี่ยวข้องอยู่กับภาพของมหาวิทยาลัยนองแตร์อย่างมีนัยยะสำคัญ

ในวันที่ 9 เมษายน ฝนตกหนัก ผมอยู่บ้านรอเวลาเดินทางออกไปมหาวิทยาลัยนองแตร์ ต้องเผื่อเวลาล่วงหน้านานหน่อยเพราะรถไฟวันนี้วิ่งน้อยกว่าปกติ ช่วงบ่ายเพจเฟซบุ๊คของหอจดหมายเหตุที่นองแตร์โพสต์ว่าห้องสมุดและหอจดหมายเหตุปิดเพราะทางมหาวิทยาลัยขอความร่วมมือมา เริ่มมีลางสังหรณ์ไม่ดี ปรากฎว่าเมื่อสักครู่นี้มีอีเมลมาบอกว่างานเสวนา “พฤษภา 68 จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ที่ต่อเนื่องยาวนาน” ต้องยกเลิกในวันนี้ เพราะ “มีการเคลื่อนไหวชุมนุมของนักศึกษา”

30441721_1849027421798638_8394813810455116343_n

อีเมลยกเลิกการจัดงาน Mai 68 ที่มหาวิทยาลัยนองแตร์

Assemblée Générale และโครงสร้างของการประท้วง

คำว่า Assemblée Générale หมายถึงการประชุมที่ทุกฝ่ายทุกกลุ่มเข้าร่วมได้ อันนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกัน การจัด AG นั้นเป็นพื้นฐานขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพ ชมรม หรือบริษัท การประท้วงของนักศึกษาครั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วผู้เรียกประชุมคือสหภาพนักศึกษา (ฝ่ายซ้าย) ตัวแทนเยาวชนของพรรค (ฝ่ายซ้าย) วิธีการเรียกประชุมยังใช้วิธีการแบบเก่า เช่น ติดโปสเตอร์ หรือเดินไปตามห้องเรียนต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องการจัด AG เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ เทเลแกรม ก็ได้เอามาใช้บ้าง แต่ยังไม่มากเท่าที่ควร

การจัด AG ที่ผ่านมา บางแห่งคนมาน้อยหลักสิบ ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ เช่น การยึดมหาวิทยาลัยได้ ในขณะที่หลายแห่งประสบความสำเร็จ นักศึกษามาร่วมหลักร้อยหรือบางทีก็มีหลักพัน

ในบางแห่ง มีปัญหาพอสมควรเพราะนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการประท้วง ไม่สามารถพูดบนเวทีได้อย่างสงบ เนื่องจากโดนโห่ไล่ ไม่มีใครฟังประเด็นที่เขาต้องการเสนอ

กติกาของ AG แต่ละที่ต่างกันไป ที่ปารีส 4 เนื่องจากมีคนเข้าร่วมมาก จึงให้เวลาคนพูดแค่คนละ 2.30 นาที ในระหว่างที่พูด ห้ามคนฟังพูดตะโกนแทรก หากเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ให้ใช้สัญญาณมือแทน

หลังจากผลัดกันพูดหน้าเวที 3-5 ชั่วโมงแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องโหวต วิธีการโหวตคือยกมือ แล้วนับเสียง ใน AG ที่มีคนเข้าประชุมมากๆ บางทีก็มีปัญหาว่าการยกมือนั้นนับได้ครบถ้วนยุติธรรมหรือเปล่า

blocage-de-rennes-2-tous-les-controles-continus-sont-suspendus_0
AG ที่มหาวิทยาลัย Rennes 2 โหวตให้ยึดมหาวิทยาลัยจนถึงวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ภาพจาก https://saint-brieuc.maville.com/

 

การมี AG นั้นคือการสร้างมติร่วมกันขององค์กร ที่ผ่านมาแต่ละมหาวิทยาลัยจัด AG สัปดาห์ละหลายครั้ง เพื่อประเมินสถานการณ์ ออกแถลงการณ์ ยกระดับการเคลื่อนไหว ไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยอื่น หรือสหภาพอื่น จำพวกการรถไฟ หรือสุดท้ายแล้วก็เพื่อลดระดับการเคลื่อนไหว (บางที่ตัดสินใจยกเลิกยึดมหาวิทยาลัย)

กระแสการประท้วงที่ผ่านมา รวมถึงความรุนแรงที่ Montpellier และ Nanterre นำไปสู่ความตื่นตัวในหมู่นักศึกษาที่เคลื่อนไหวในการจัด AG อย่างต่อเนื่อง นักศึกษาที่ไม่ได้สนใจการเมืองเป็นพิเศษหลายคนก็เริ่มรู้สึกเริ่มตื่นเต้นขึ้นมาบ้าง

คอมมูนเสรีแห่งโตลเบียก (La commune libre de Tolbiac)

มหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสหลายแห่ง ยึดง่าย เพราะไม่มีลักษณะเป็น campus แต่มีลักษณะเป็นตึกๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วเมือง ยกตัวอย่างเช่น ปารีส 1 เองมีหลายตึกทั่วปารีส ตึกที่จะพูดถึงนี้คือตึกที่อยู่เขต Tolbiac การยึดทำได้โดยการยึดทางเข้าและชั้นแรกของตึก ไม่ให้คนเข้าออกขึ้นลงตึก ไม่ให้มีการเรียนการสอน หรือการบริหารมหาวิทยาลัยแบบปกติ

IMG_3275

การยึดมหาวิทยาลัย ต้องผ่านการประชุมสภานักศึกษา (Assemblée générale) ของมหาวิทยาลัย ปกติแล้ว คนจัดโหวตก็เป็นพวกสหภาพหรือตัวแทนของนักศึกษา บางทีพวกนี้ก็จัดประชุมแล้วก็โหวตกันเอง คนไม่เห็นด้วยก็ไม่รู้เรื่องว่ามีประชุมหรือไม่ก็ไม่ไปโหวต มันเลยมีปัญหาว่ามติยึดมหาวิทยาลัยมันไม่ได้มาจากมติของนักศึกษาจริงๆ คนที่ไปโหวตไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของนักศึกษา ก็เลยมีนักศึกษาหลายคนที่อยากเรียนหนังสือ อยากสอบ ออกมาคัดค้านออกสื่อหลายสำนัก แต่ก็คัดค้านไม่สำเร็จ

IMG_3280

IMG_3278

บรรยากาศหน้าทางเข้าตึก นักศึกษาพูดคุย กินเหล้าสูบบุหรี่ (และกัญชา)

ผมได้ไปเยี่ยมชม “คอมมูนเสรีแห่งโตลเบียก” เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2018 ตอนนั้นมหาวิทยาลัยก็โดนยึดมากว่าสองสัปดาห์แล้ว การยึดมหาวิทยาลัย ทำอย่างมืออาชีพ ดูแล้วก็รู้ว่าเคยยึดมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะคณะเก่าๆ หน่อยอย่าง Tolbiac เห็นได้ว่ามีการจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น มีห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องประชุม มีการจัดทำตารางกิจกรรมแต่ละวัน ฯลฯ

IMG_3289

ตารางเวรทำกับข้าวกับทำความสะอาด ยังไม่มีคนมาลงชื่อ

ความจริงแล้ว การยึดนี้ก็ไม่ถูกกฎหมายเท่าไหร่ เขาระวังมากไม่ให้ถ่ายรูปติดหน้าพวกนักศึกษา เพราะอาจถูกเอาไปดำเนินคดีได้ ตอนผมเข้าไป บรรยากาศตึงเครียดนิดหน่อย เพราะเพิ่งมีนักข่าวเข้าไปถ่าย พอนักศึกษาบอกให้ลบภาพที่ติดหน้าออก กลับไม่ยอมลบ เลยโดนไล่ออกไป หลังจากนั้นพวกนักศึกษาก็พากันเอาเทปดำไปพันรอบรั้วรอบๆ ตึก เพื่อไม่ให้นักข่าวถ่ายเข้ามาเห็นข้างในมหาวิทยาลัย ทีนี้กระแสโดยทั่วไปเลยกลายเป็นว่านักศึกษาพวกนี้เป็นศัตรูกับนักข่าว

นักศึกษาออกคลิปมาชี้แจงวัตถุประสงค์ในการยึด บอกว่าต่อต้านการปฏิรูปกฎการเข้ามหาวิทยาลัยที่ทำให้มีการแข่งขันมากขึ้น เป็นการร่วมสู้ไปกับพนักงานการรถไฟที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเสรีนิยมของรัฐบาล และสุดท้ายถึงขั้นเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมาครงลาออก ปรากฎว่าข้อเรียกร้องนี้ก็ไม่มีใครอ่านอย่างซีเรียส เพราะคลิปที่ออกมามันทำแบบเด็กๆ คือทุกคนใส่หน้ากาก (เหตุผลคือไม่ต้องการให้มีโฆษก) แถมมีหมาหนึ่งตัวนั่งอยู่ในโต๊ะแถลงข่าวนี้ด้วย เรื่องนี้เลยกลายเป็นมีมไป มีคนทำบัญชี twitter ของหมาตัวนั้น ตั้งชื่อให้พร้อมว่า เกวารา ขณะนี้มีคนติดตามบัญชีดังกล่าวมากกว่าบัญชีของนักศึกษาที่ยึดมหาวิทยาลัยจริงๆ ซะอีก มุขของทวีตจะเล่นกับความบ้า “Political correctness” ของพวกฝ่ายซ้าย ตัวอย่างของมุขในทวีต เช่น ฉันเห่าเพราะฉันหิว มาร์โกพูดกับฉันว่า “นี่มันพฤติกรรมของพวกผู้ชายชัดๆ” จูลีอธิบายกับมาร์โกว่า “แต่เธอทำอยู่นี่มันเป็น humansplaining นะ” มาร์โกร้องไห้ (ดู https://twitter.com/guevara_tolbiac)

asdasdasdasd

(ดูคลิป)

นักศึกษาทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็น “มหาวิทยาลัยเปิด” คือให้เสนอจัด workshop หรือเสวนาในเรื่องที่สนใจได้ ที่ผ่านมามีอาจารย์ดังๆ เข้าร่วมหลายคน มาพูดในเรื่องซ้ายๆ เช่น ปฎิวัติรัสเซีย คอมมูนปารีส ฯลฯ บางทีก็มีการชวนตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เช่น พนักงานไปรษณีย์และการรถไฟ มาพูดด้วย นอกจากนี้ ก็มีกิจกรรมส่งคนไปช่วยยึดมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย มหาวิทยาลัยที่อื่นก็จัดเสวนาในเรื่องที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ เชี่ยวชาญ เช่น มหาวิทยาลัยปารีส 3 ซึ่งมีสาขาวรรณคดีและภาพยนตร์ ก็จัดฉายหนังฝ่ายซ้าย มหาวิทยาลัยปารีส 1 Saint Charles จัด workshop เกี่ยวกับศิลปะ เป็นต้น

IMG_3282

กิจกรรมทั้งหลาย เขียนบนกระดาษ แปะไว้บนตารางกิจกรรม ภายในมหาวิทยาลัยใช้กระดาษเยอะมาก ทั้งทำโปสเตอร์ เขียนด่ารัฐบาล เขียนเกร็ดต่างๆ เช่น “หนึ่งในสามของชาวนาได้รับเงินเดือนเฉลี่ยน้อยกว่า 350 ยูโรต่อเดือน” การใช้กระดาษเยอะๆ บวกกับหลายคนแต่งตัวฮิปปี้ ไว้ผมยาว ไม่อาบน้ำ (มหาวิทยาลัยไม่มีห้องอาบน้ำ) กินเหล้าสูบกัญชา ชวนให้รู้สึกเหมือนย้อนเวลาไปยุคพฤษภา 68 เหมือนกัน

IMG_3284IMG_3285

ตารางกิจกรรม

ตอนดึกคืนเดียวกันนั้น มีพวกฝ่ายขวาจัด พกพวกกระบองเหล็กและประทัด พยายามบุกเข้าไปแต่ไม่สำเร็จ พวกที่อยู่ข้างในบาดเจ็บไปหนึ่งคน

ท่าทีของมหาวิทยาลัยเรื่องนี้ คือระวังมาก เพราะความจริงแล้ว พวกนักศึกษาก็มีความเป็นตัวแทนอยู่ในระดับหนึ่ง คือมีพวกสหภาพหนุนหลังมาก อีกทั้งจากประสบการณ์ในอดีต ท่าทีที่เป็นปฏิกิริยาของผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม้เพียงน้อยนิด มันก็เหมือนสาดน้ำมันเข้าไปในกองเพลิง มันเข้าทางนักศึกษา ทำให้นักศึกษายกระดับการต่อสู้ได้ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้ใช้น้ำใช้ไฟของมหาวิทยาลัยได้ปกติ คืนก่อนที่มีการปะทะ มหาวิทยาลัยก็ออกมาประณามพวกที่พยายามบุกเข้าไปใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา เป็นต้น

IMG_3283

ข้อครหาอย่างหนึ่งที่โดนวิจารณ์มากก็คือ พวกมายึดส่วนใหญ่ไม่ใช่นักศึกษา จากประสบการณ์ที่ไปทัวร์มาแล้ว ก็พบว่าจริงในระดับหนึ่ง ตอนเข้าไปก็พบหนุ่มน้อยน่าจะอยู่ในวัย ม.ต้น หรือม. ปลาย มาแจกใบปลิวให้ และอาสาพาเดินทัวร์ มีห้องประชุมใหญ่แบบ slope ที่จัดเสวนา จัดประชุมอยู่ 3 ห้อง ส่วนห้องที่สี่เป็นห้องนอน หนุ่มน้อยโอมาร์ถามว่า คุณจะนอนที่นี่ไหม นอนได้ แล้วก็ชี้ไปที่ฟูกอันใหญ่ บอกว่าฟูกนั้นยังไม่มีใครนอน ไปนอนได้เลย พอถามโอมาร์ว่าคุณเป็นนักศึกษาที่นี่เหรอ โอมาร์บอกว่าผมไม่ใช่นักศึกษา แต่เป็นนักยึด

IMG_3288

ทางเข้าห้องนอน ขอให้ทุกคนเงียบเสียง และห้ามตื่นก่อน 9 โมงเช้า

ความจริงแล้ว นักยึดอาชีพแบบนี้ คงมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ดูๆ แล้วจากสายตา เดาได้ว่าหลายคนก็เป็นนักศึกษาจริงๆ ข้อครหานี้จึงน่าจะไม่ยุติธรรมต่อพวกเขาเท่าไหร่

การเดินขบวนของนักศึกษาในปารีส วันที่ 10 เมษายน

การเดินขบวนครั้งนี้เป็นการตอบรับต่อข้อเสนอของประชุมใหญ่ของตัวแทนนักศึกษาทั่วประเทศที่ประชุมกันสามวันก่อนหน้านี้ ว่าให้มีการยกระดับการประท้วง สร้างแนวร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย และออกมาเดินบนถนนไปพร้อมๆ กันกับสหภาพอื่นๆ

สถานที่ประท้วง คือลานหน้ามหาวิทยาลัยซอร์บอน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในปี 1968 จากจุดนั้นนักศึกษาจะเดินไปที่ Jussieu ซึ่งเป็นเขตของมหาวิทยาลัยปารีส 4 และ 6

DSC08420

นักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยทยอยกันมา ที่โดดเด่นคือมหาวิทยาลัยปารีส 3 ซึ่งเพิ่งมีมติยึดมหาวิทยาลัยไป และเนื่องจากเป็นนักศึกษาสายวรรณคดี จึงเป็นนักศึกษาผู้หญิงจำนวนมาก ที่ความสามารถทางภาษาดี การประท้วงที่นี่ไม่มีการกล่าวปราศรัย แต่เดินไปจะตะโกนสโลแกนที่เป็นคำคล้องจองไปด้วย หรือไม่ก็ร้องเพลง ตัวอย่างสโลแกนเช่น Ni CRS ni sélection, mobilisation! (ไม่เอาตำรวจ ไม่เอาระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย พวกเราระดมกำลังกันออกมา!) Macron t’es foutu, la jeunesse est dans la rue! (มาครง มึงแย่แน่ คนหนุ่มสาวออกมาบนถนนแล้ว!)

ระดับนำของการประท้วง หลายคนน่าจะมาจากสหภาพนักศึกษา UNEF คือสหภาพนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส

นอกจากนักศึกษาแล้ว หน้าขบวนเป็นเหล่าสหภาพแรงงาน หลังขบวนก็มีกลุ่มอาจารย์และพนักงานของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมด้วย ก่อนขบวนจะออกจากซอร์บอน มีขบวนเล็กๆ ของพนักงานการรถไฟจากสถานี Saint Lazare มาร่วมด้วยเช่นกัน

DSC08470

พนักงานการรถไฟจาก St Lazare

DSC08487

ชายสูงอายุพูดกับผู้นำนักศึกษาว่าสมัยปี 68 ก็เป็นแบบนี้

หากประเมินจากสายตาแล้ว จำนวนผู้ประท้วงน่าจะเป็นพันอยู่ เมื่อเดินไปถึงเขต Jussieu ปรากฎว่าประตูปิดหมด นักศึกษาข้างในออกมาไม่ได้ ข้างนอกก็เข้าไม่ได้ ต่อมาก็มีตำรวจมายืนกั้นประตูเพื่อกันไม่ให้คนเข้า

จากนั้นนักศึกษาก็ปักหลักกันบนถนน มีการกล่าวปราศรัยเล็กน้อย มีนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งมากล่าวให้กำลังใจด้วย

คลิปที่ผมถ่ายในวันประท้วง

DSC08624

DSC08617

DSC08660

การยึด “ซอร์บอนแม่” วันที่ 12 เมษายน

มหาวิทยาลัยปารีส 1 โตลเบียก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแรกในปารีสที่นักศึกษายึด กลายเป็นสัญลักษณ์และศูนย์กลางของการยึดมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในปารีสไปโดยปริยาย

เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา มีตัวแทนของเทศบาลปารีสเดินทางเข้าไปใน “คอมมูนเสรีแห่งโตลเบียก” เพื่อขอเจรจา ปรากฎว่าโดนปาสิ่งของใส่ แถมยังโดนขโมย Tablet อีกด้วย

วันที่ 11 เมษายน นักศึกษาโตลเบียกประกาศจัด AG ร่วมกันระหว่างหลายมหาวิทยาลัยที่ลานด้านในมหาวิทยาลัยซอร์บอน แต่ปรากฎว่าเพราะเหตุการณ์วันที่ 9 ทำให้อธิการบดียกอำนาจในการจัดการมหาวิทยาลัยให้ตำรวจจัดการ โดยอ้างว่าสถานการณ์เกินกว่าที่ตนจะควบคุมได้ ด้วยเหตุนี้ แผนการจัด AG (และคงยึด Sorbonne) จึงเลื่อนไปวันถัดไป โดยขอให้ทุกคนไปรวมตัวกันที่ Tolbiac แทนเพื่อไม่ให้ตำรวจเข้ามาสลายการชุมนุมได้ ตัวเลขที่นักศึกษาประเมินคืนนั้น เห็นว่าเกิน 2,000 คน

วันที่ 12 เมษายน นักศึกษาทยอยเข้าไปใน “ซอร์บอนแม่” แต่เข้าได้จำนวนหนึ่ง ไม่นานตำรวจก็มาขวางทางเข้าทั้งหมด นักศึกษาที่เข้าไปได้จึงมีมติว่าจะยึดซอร์บอนจนกว่าอธิการบดีจะยอมให้นักศึกษาทั้งหมดเข้ามาเพื่อจัดประชุม Assemblée Générale

30712397_349836618754006_5209476299877253120_o

ภาพด้านใน Sorbonne จากเฟสบุ๊ค LaMeute

สุดท้ายตลอดทั้งคืน การเจรจาไม่เป็นผล ตำรวจส่งกองกำลังชุดหนึ่งไปที่ Tolbiac ทำให้ซ้ำรอยกับวันที่ 11 เมษายนอีก คือนักศึกษาที่ออกันอยู่หน้า “ซอร์บอนแม่” กลับไปฐานที่มั่น Tolbiac รวมถึงนักศึกษาที่รวมตัวกันอยู่ด้านใน ก็ค่อยๆ โดนตำรวจลากออกไป บางส่วนทยอยออกไปเองเพื่อปกป้องฐานที่มั่นเดิมไว้ก่อน

การเข้าไปยึด Sorbonne แม้จะชั่วครู่ สำหรับนักศึกษาหลายคนถือเป็นความสำเร็จเชิงสัญลักษณ์แล้ว ความทรงจำเกี่ยวกับพฤษภา 68 หวนคืนกลับมา เรากำลังสร้างประวัติศาสตร์พฤษภา 2018 ของเราเอง

บทส่งท้าย

การประท้วงของนักศึกษาและความทรงจำของพฤษภา 68 มีเสน่ห์ ล่าสุดมีการโพสต์จดหมายขององค์การนักศึกษาในประเทศเยอรมันที่เขียนมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวในฝรั่งเศส ดังนี้

Hi,

my name is Jonas and i´m from the student representation at the university of Siegen in Germany. We want to express our solidarity with your movement in Nanterre. For us it is a matter of international solidarity and if you want, you can share the following statement:

The Students Union of the University of Siegen shows its solidarity with the student’s protests in France against the intended academic reform. The evacuation of the University of Nanterre seems out of proportion. There’s no way to explain why a group of students had to be evacuated, they only wanted to express their worries about the changes in favor of an elitist access to university.

It’s not only in France where they try time and again to make studies more exclusive. Elites try more and more to encapsulate themselves and refuse to take note of poverty. Therefore no affords are spared.

The repression by the state recalls 1968. This was the last time that the police was called to evacuate student’s protests. Exactly 50 years before today (11.4.2018), Rudi Dutschke had been attacked by neo-Nazis. Both then and today we live in a system that uses state repression as political mean and wants to use it even more. The fear of a repressive police state is justified.

The protests also recall ’68. The University of Nanterre was one of the points of origin – as well as the attack on the SDS spokesman Dutschke – of the protests fifty years ago. The students also show solidarity with striking people and vice-versa. We hope that also the actual protests help to get a social discussion and change started – in France and everywhere else.

Thanks and vive la solidarité internationale”

1084393-000_p57km

สมัยพฤษภา 68 นักศึกษาปาก้อนอิฐใส่ตำรวจ กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเหตุการณ์ดังกล่าว ภาพนี้ถ่ายที่ถนน St Jacques ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยซอร์บอน ที่มาภาพ: เว็ป liberation.fr

ในขณะที่ตัวเลขประเมินของฝ่ายซ้าย คือมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 44% ถูกยึดแล้ว ความเป็นจริงแล้วตัวเลขน่าจะต่ำกว่านั้นมาก เพียงแต่ว่ายังหาตัวเลขแน่ชัดไม่ได้ หลายแห่งการยึดทำได้แค่ยึดห้อง ไม่สามารถยึดได้ทั้งตึก หรือหลายแห่งเคยยึดก็มีมติใหม่ว่าจะเลิกยึดอยู่เหมือนกัน (ดูแผนที่ อัพเดตล่าสุดวันที่ 11 เมษายน มหาวิทยาลัยที่โดนยึดคือสีแดง)

ถ้าให้ประเมินตอนนี้ คาดว่าข้อเรียกร้องต่างๆ คงไม่สำเร็จ ความจริงแล้วกลุ่มคนที่เห็นต่างจากนักศึกษามีมาก ท่าทีที่ไม่เป็นมิตรของนักศึกษาบางที่ ทำให้หลายกลุ่มถอยห่างออกไป นักศึกษาหลายคนรู้สึกว่า โดน “จับเป็นตัวประกัน” คืออยากเรียนหนังสือ แต่มหาวิทยาลัยโดนยึดไป ทำอะไรไม่ได้

อีกประเด็นสำคัญ คือรู้สึกว่านักศึกษาพวกนี้ “ห่างชั้น” กับพวกพฤษภา 68 เยอะ มีบางคนวิเคราะห์ว่า นักศึกษายุคนี้ขาด “ยูโทเปีย” หรืออุดมคติร่วมบางอย่าง ขาดข้อเรียกร้องที่นำไปสู่การ “ก้าวไปข้างหน้า” มีเพียงแต่ข้อเรียกร้องที่ตอบโต้มาตรการของรัฐบาลเสียมากกว่า นอกจากนี้ ยังขาดองค์กรจัดตั้งกลางอย่างพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคทรอตสกิส แบบเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เห็นได้ชัดว่าการประท้วงครั้งนี้ไม่มีองค์กรกลางที่เข้มแข็ง ที่จะรวบรวมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาเคลื่อนไหวร่วมกันอย่างเป็นระบบ การประท้วงทุกวันนี้ดูจึงเหมือนแก้ไขปัญหากันไปเฉพาะหน้า เช่น ระดมพลกันไปที่ปารีส 1 เพื่อกันมิให้ตำรวจบุกเข้ามาสลายการยึด

นี่สะท้อนปัญหาของขบวนการ occupy ทั้งหลาย อย่าง Nuit debout ในฝรั่งเศสเมื่อปี 2016 ซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่รู้ว่าเรียกร้องอะไรกันแน่ ไม่มีองค์กรชัดเจน ไม่มีแกนนำชัดเจน พอผ่านไปไม่กี่เดือนขบวนการก็สลายไป แต่พอมีเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็ค่อยรวมตัวกันใหม่อีก

ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งกับพฤษภา 68 ก็คือ ความนิยมของมาครง เมื่อผ่านไป 1 ปีนี้ ยังไม่ถึงกับตกต่ำลงมากเท่าไหร่ เทียบกับเมื่อ 50 ปีก่อนที่ประธานาธิบดีเดอโกลมีบทบาทชี้ขาดทางการเมืองมานานหลายปีแล้ว ความอัดอั้นทางการเมือง บวกกับสถานการณ์โลกเรื่องอาณานิคมต่างๆ และสงครามเวียดนาม เป็นเหตุให้ขบวนการนักศึกษาเติบโตและขยายได้อย่างรวดเร็ว

แม้แต่พฤษภา 68 ทุกวันนี้ก็ยังประเมินยากว่าตกลงประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ในวันนี้ที่บริบทต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นบริบทที่ค่อนข้างจะเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งขบวนการนักศึกษาและต่อต้านอำนาจรัฐด้วยซ้ำไป หากประเมินคร่าวๆ แล้วก็ดูท่าว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษาจะเป็นจริงได้ยาก

แม้ข้อเรียกร้องอาจไม่สำเร็จ แต่การประท้วงครั้งนี้ของนักศึกษา ก็อาจให้บทเรียนบางประการกับการเคลื่อนไหวในไทยได้ การเคลื่อนไหวของนักศึกษา สะท้อนวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยที่ลงลึกถึงรากฐาน กล่าวคือ การจัด Assemblée Générale นั้นถือเป็นประชาธิปไตยทางตรง ที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมตัดสินใจอนาคตของขบวนการได้ โครงสร้างเช่นนี้มีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับภาควิชา ระดับมหาวิทยาลัย จนถึงระดับภูมิภาค และระดับประเทศ การสร้างประชาธิปไตยตั้งแต่รากฐานนี้ ส่งผลให้มีคนเข้าร่วมและรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการมากขึ้น ถือว่าเป็นกระบวนการที่ช่วยขยายแนวร่วมได้ไปในตัว

ประชาธิปไตย ต้องเริ่มจากกระบวนการ ต้องมีพื้นที่ชักชวนให้ปัจเจกเข้าไปมีส่วนร่วมถกเถียง นำเสนอ และตัดสินใจอนาคตของตัวเองและของขบวน

เงื่อนไขสำคัญหนึ่งคือ โครงสร้างดังกล่าวถูกเอามาใช้ในบริบทที่สหภาพนักศึกษาทั่วประเทศที่ค่อนข้างเข้มแข็ง เป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกประชุมเมื่อรัฐออกมาตรการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษา โครงสร้างแบบนี้ช่วยเอื้อในการระดมคนและตอบโต้มาตรการต่างๆ ของรัฐได้อย่างรวดเร็ว สหภาพนักศึกษาบางสหภาพก็เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงานที่ใหญ่กว่า ดังนั้นแล้วจึงง่ายที่จะสร้างแนวร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ เช่น กลุ่ม Union Syndicale Solidaires ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของฝ่ายซ้าย มีปีกหนึ่งที่เป็นสหภาพนักศึกษา เรียกว่า Solidaires étudiant-e-s เป็นต้น นอกจากสหภาพแล้ว ก็มีหน่วยยุวชนของพรรคต่างๆ เช่น Nouveau Parti Anticapitaliste (NPA) ซึ่งมีหน่วยยุวชนที่เรียกว่า NPA Jeune สังกัดอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย

RETRO-MAI 1968-SORBONNE

ภาพภายในมหาวิทยาลัยซอร์บอนสมัยพฤษภา 68 ป้ายเขียนว่า “รับใช้ประชาชน” ที่มาภาพ: เว็ป asialyst.com

Author: Din Buadaeng

A History Student

Leave a comment