สถาบันกษัตริย์ลาวในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชอาณาจักรมาเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1975 อันเป็นการปิดฉากระบอบกษัตริย์ที่สืบทอดมายาวนานกว่าเจ็ดร้อยปีนับแต่เจ้าฟ้างุ้ม (ค.ศ.1353-1372) ได้สถาปนาอาณาจักรล้านช้างขึ้น

อย่างไรก็ดี จากหลักฐานที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการล่มสลายของระบอบกษัตริย์ลาวมิได้เป็นสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์การเมืองลาวในขณะนั้นคาดการณ์ไว้เนื่องจากในช่วงที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มเข้ายึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1975 นั้น พวกเขายืนยันอย่างหนักแน่นต่อชนชั้นนำฝ่ายขวาที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ต่อไป อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การยึดอำนาจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นได้สร้างความประหลาดใจให้แก่นานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์ไทยซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับสถาบันกษัตริย์ลาว

ดังนั้น บทความนี้จึงพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากระบบกษัตริย์สู่สาธารณรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในลาว ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงบริบททางการเมืองในยุคสงครามเย็นที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในประเทศอื่น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

สำหรับบทความนี้จะเขียนชื่อเฉพาะในภาษาลาวที่เป็นชื่อบุคคล ชื่อแขวง (จังหวัด) นคร เมือง (อำเภอ) ตามรูปแบบการเขียนภาษาไทย

จากอาณาจักรล้านช้างสู่ราชอาณาจักรลาว

เมื่อ ค.ศ.1694 ภายหลังสิ้นสุดรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวงศา (ค.ศ.1637-1694) ซึ่งถือเป็นยุคทองของอาณาจักรล้านช้าง  อาณาจักรล้านช้างก็ได้เข้าสู่ยุคเสื่อมโทรม ชนชั้นศักดินาลาวชิงอำนาจกันเองจนทำให้ล้านช้างแตกออกเป็นสามอาณาจักรอันประกอบด้วยอาณาจักรหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ ทั้งสามอาณาจักรตกเป็นประเทศราชของสยามใน ค.ศ.1776 และ 1778 ต่อมาใน ค.ศ.1828 สยามมีชัยชนะในสงครามเจ้าอนุวงศ์และล้มเลิกราชวงศ์เวียงจันทน์เสีย เหลือเพียงราชวงศ์หลวงพระบางและจำปาศักดิ์ และเจ้านายหัวเมืองและชนชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น เจ้าเมืองพวนเชียงขวาง เจ้าฟ้าไทลื้อเมืองสิงห์[1]  

ต่อมาการแข่งขันขยายจักรวรรดิระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นผลให้ฝรั่งเศสยึดล้านช้างเป็นอาณานิคมใน ค.ศ.1893 และ 1904 เรียกว่า “ลาวในอารักขาฝรั่งเศส” (French protectorate of Laos) โดยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพอินโดจีนหรืออินโดจีนฝรั่งเศส (Indochinese Union; French Indochina)[2] เจ้ามหาชีวิต (กษัตริย์) หลวงพระบางได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากฝรั่งเศส เนื่องจากว่าพระเจ้ามหินทรเทพ หรือพระเจ้าอุ่นคำ (ค.ศ.1811-1895) เป็นผู้ช่วยเหลือให้ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาวแทนสยามได้ ส่วนเจ้ามหาชีวิตจำปาศักดิ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับราชสำนักสยามถูกลดบทบาทเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ แต่ก็ยังมีอิทธิพลในเขตพื้นที่ภาคใต้ลาวอยู่

จนกระทั่งปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ายึดลาวในเดือนเมษายน ค.ศ.1945 และบังคับให้พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ (ค.ศ.1885-1959) เจ้ามหาชีวิตหลวงพระบางประกาศเอกราชและเป็นประมุขของลาว แต่เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในเดือนสิงหาคม พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ตกลงที่จะกลับเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสตามเดิม

กลุ่มนักชาตินิยมลาวที่ใกล้ชิดกับขบวนการเสรีไทยสายอีสานรวมตัวกันจัดตั้ง “คณะลาวอิสระ” (Lao Issara; Free Lao) โดยมีจุดยืนต่อต้านการกลับมาของฝรั่งเศสและต้องการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พวกเขาเชิญเจ้าเพชรราช (ค.ศ.1890-1959) เจ้ามหาอุปราช (รองกษัตริย์) หลวงพระบางอีกทั้งเป็นข้าราชการลาวชั้นสูงสุดในเวียงจันทน์เป็นหัวหน้า พร้อมทั้งชักชวนเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ และปัญญาชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วม รวมไปถึงเจ้าสุวรรณภูมา (ค.ศ.1901-1984) วิศวกรใหญ่ประจำนครเวียงจันทน์ เจ้าสุภานุวงศ์ (ค.ศ.1909-1995) วิศวกรประจำเมืองญาจาง ผู้ที่ขบวนการเวียดมินห์ (Viet Minh Movement) ให้การสนับสนุน ซึ่งทั้งสองคนนี้เป็นน้องชายของเจ้าเพชรราชและจะมีบทบาทสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองลาวในภายหน้าด้วย

ภาพที่ 1 พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์องค์แรกของราชอาณาจักรลาว (ที่มา: https://i.pinimg.com/originals/54/d4/fe/54d4fe1b246de2ebfbf7be47cec27719.jpg)

คณะลาวอิสระประกาศเอกราชและจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1945 รัฐบาลลาวอิสระขอร้องพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ให้เป็นกษัตริย์ของรัฐบาลลาวอิสระแต่พระองค์ไม่ยอมรับ

ในช่วงเวลาเดียวกัน ฝรั่งเศสส่งกองทหารมาในภาคใต้ลาวเพื่อรื้อฟื้นอำนาจขึ้นใหม่โดยความร่วมมือของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ (ค.ศ.1912-1980) เจ้านครจำปาศักดิ์ แล้วเคลื่อนทัพขึ้นสู่เวียงจันทน์และหลวงพระบาง

พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ฉวยโอกาสรับเป็นกษัตริย์ของรัฐบาลลาวอิสระเพื่อสั่งให้กำลังลาวอิสระยอมจำนนต่อฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1946 คณะลาวอิสระจึงต้องลี้ภัยมาไทยและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นโดยมีเจ้าเพชรราชเป็นประมุขชั่วคราว

ภาพที่ 2 เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ประมุขราชวงศ์จำปาศักดิ์ (ที่มา: https://alchetron.com/cdn/boun-oum-8bf4175a-2e20-4f08-be5a-c3b1fc700b5-resize-750.jpeg)

การเสื่อมอำนาจของฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่สองและการกำเนิดขึ้นของขบวนการชาตินิยมเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ส่งผลให้ฝรั่งเศสต้องปรับรูปแบบการปกครองเสียใหม่โดยมอบอำนาจในการปกครองตนเองในระดับหนึ่งให้แก่สามประเทศอินโดจีนเป็นสหพันธรัฐภายใต้ “สหภาพฝรั่งเศส” (French Union) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1946 ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสบรรลุข้อตกลงกับเจ้าสว่างวัฒนา (ค.ศ.1907-1978?) มกุฎราชกุมารหลวงพระบางในฐานะผู้แทนเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบางที่จะให้พระเจ้าศรีสว่างวงศ์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาว

จากนั้น ทั้งสองไปพบกับเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ให้ลงนามในสัญญาต่อท้ายข้อตกลงเพื่อสละการอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ลาว โดยหลวงพระบางให้คำมั่นว่าจะยังคงราชวงศ์จำปาศักดิ์ไว้ดังเดิมและให้ประมุขราชวงศ์จำปาศักดิ์รับตำแหน่งผู้ตรวจราชการแผ่นดินแทนกษัตริย์และมีฐานะเป็นพระราชวงศ์ลาวลำดับที่ 3 รองจากกษัตริย์และรัชทายาท[3] ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้สร้างความขมขื่นในใจเจ้าบุญอุ้มต่อราชวงศ์หลวงพระบางเป็นอันมาก พระเจ้าศรีสว่างวงศ์จึงแต่งตั้งเจ้าบุญอุ้มเป็นประธานสภาราชมนตรีและนายกรัฐมนตรีในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อปลอบใจและรักษาความสัมพันธ์กับฝ่ายจำปาศักดิ์ อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ของทั้งสองราชวงศ์ก็ยังมีระยะห่างระหว่างกันอย่างเห็นได้ชัด[4]

ในที่สุด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรลาวซึ่งร่างโดยกลุ่มกษัตริย์นิยมหลวงพระบางได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.1947 ให้ลาวปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและ “ระบอบมีพระมหากษัตริย์” โดยให้การสืบทอดราชบัลลังก์ลาวมาจากพระราชวงศ์ชายที่เป็นเชื้อสายของพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ และให้ใช้ธงประจำอาณาจักรหลวงพระบางกับตราพระราชวงศ์หลวงพระบางเป็นธงชาติและตราแผ่นดินของราชอาณาจักรลาว รัฐบาลตั้งอยู่ที่นครเวียงจันทน์[5]แต่กษัตริย์ยังคงประทับอยู่ที่หลวงพระบาง

จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1949[6] พระเจ้าศรีสว่างวงศ์กับแว็งซ็อง โอรียอล (Vincent Auriol, ค.ศ.1884-1966) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ลงนามในอนุสัญญาทั่วไปฝรั่งเศส-ลาว (Franco-Lao General Convention, 1949) ซึ่งกำหนดให้ลาวปกครองตนเองภายใต้สหภาพฝรั่งเศส และในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1953 ประมุขทั้งสองชาติพบกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อลงนามในความตกลงฝรั่งเศส-ลาว (Franco-Lao Agreement, 1953) อันเป็นการมอบเอกราชสมบูรณ์ให้แก่ลาว

ใน ค.ศ.1949 รัฐบาลลาวได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้คณะลาวอิสระซึ่งกำลังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับข้อเสนอของเจ้าสุภานุวงศ์ที่ต้องการให้ลาวอิสระหันไปรับความช่วยเหลือจากเวียดมินห์ สมาชิกลาวอิสระส่วนมากยอมรับนิรโทษกรรม

ส่วนกลุ่มของเจ้าสุภานุวงศ์หันไปเข้าร่วมกับเวียดมินห์ ต่อมาใน ค.ศ.1950 พวกเขาได้จัดตั้งเป็น “แนวลาวอิสระ” (Neo Lao Issara; Free Lao Front) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “แนวลาวรักชาติ” (Neo Lao Hak Xat; Lao Patriotic Front) โดยเป็นที่รู้จักในนาม “คณะปะเทดลาว” (Pathet Lao Movement) พวกเขาร่วมมือกับเวียดมินห์เข้ายึดแขวงหัวพันและพงสาลีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาวติดกับเวียดนามเหนือ จนสามารถจัดตั้งเป็นเขตปกครองตนเองได้

ส่วนเจ้าเพชรราชยังคงลี้ภัยอยู่ในไทยต่อไป เนื่องจากเจ้าเพชรราชไม่พอใจต่อทั้งสองวิธี และเกรงว่าพระเจ้าศรีสว่างวงศ์จะไม่พอใจตนเองด้วย[7]

แต่ใน ค.ศ.1954 ชัยชนะของเวียดมินห์ในยุทธการเดียนเบียนฟู (Battle of Dien Bien Phu) ส่งผลให้ฝรั่งเศสต้องถอนตัวจากอินโดจีนอย่างสิ้นเชิง สหรัฐอเมริกาจึงได้เข้ามามีบทบาทในอินโดจีนแทนเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การที่ลาวตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ด้านตะวันตกของเวียดนามส่งผลให้ลาวกลายเป็นพื้นที่แย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายโลกเสรีกับฝ่ายโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าวดำเนินไปเป็นเวลายาวนานเกือบสองทศวรรษ 

สถาบันกษัตริย์ในยุคราชอาณาจักรลาว

นับแต่การสถาปนาราชอาณาจักรลาวอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ.1947 สถาบันกษัตริย์ลาวถือว่ายังเป็นสถาบันที่เปี่ยมไปด้วยอำนาจบารมีอย่างยิ่ง เนื่องจากพระเจ้าศรีสว่างวงศ์เป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์มายาวนาน อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ลาวได้รับเอกราชอย่างสันติ สถาบันกษัตริย์ลาวจึงค่อนข้างมีอิทธิพลทางการเมืองมากและพระเจ้าศรีสว่างวงศ์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งเอกราชของชาติลาว[8]

รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกลุ่มกษัตริย์นิยมได้ให้อำนาจกษัตริย์ในการแต่งตั้งรัชทายาทและสมาชิกสภาราชมนตรี[9] จำนวน 6 คนจากทั้งหมด 9 คน (ต่อมาเพิ่มเป็น 12 คน) ตามอัธยาศัย กษัตริย์ยังมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก่อนให้สภาแห่งชาติรับรอง[10] และกษัตริย์เป็นประธานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย นอกจากนี้แล้ว รัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้กษัตริย์มีสิทธิ์ใช้สอยทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ที่เป็นของรัฐเรียกว่า “พระราชสมบัติ” อันประกอบด้วยพระราชวัง อุทยาน ป่าไม้ ที่ฝังศพ เครื่องประดับ และของตกแต่งในพระราชวัง[11]

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเมืองของลาวในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าศรีสว่างวงศ์นั้นเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายปะเทดลาว ในช่วงเดียวกันนั้นแนวคิดไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของการประชุมบันดุง ค.ศ.1955 (Bandung Conference, 1955) กำลังแผ่อิทธิพลในบรรดาประเทศเกิดใหม่ เจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรีจึงต้องการให้ลาวเป็นกลางระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตเพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาของลาวอย่างสันติ

เจ้าสุวรรณภูมาจึงขอให้พระเจ้าศรีสว่างวงศ์อภัยโทษแก่เจ้าเพชรราชที่ลี้ภัยในไทยให้เดินทางกลับลาวเพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลไปเจรจากับเจ้าสุภานุวงศ์ ผู้นำฝ่ายปะเทดลาว ในฐานที่มั่นแขวงหัวพันจนสามารถตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมกับฝ่ายปะเทดลาวครั้งแรกในช่วงกลาง ค.ศ.1957 และฝ่ายปะเทดลาวตั้งพรรคแนวลาวรักชาติลงเลือกตั้งเพิ่มเติมในสภาฯ

การที่ฝ่ายปะเทดลาวเข้าร่วมรัฐบาลได้สร้างความกังวลใจต่อสหรัฐฯ นักการเมืองและนายทหารลาวฝ่ายขวา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1958 รัฐบาลผสมนี้ก็ถูกกลุ่มฝ่ายขวาที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ ใช้กลไกสภาแห่งชาติลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลผสมของเจ้าสุวรรณภูมาและจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายขวาที่มีผุย ชนะนิกร (ค.ศ.1903-1983) เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลผุยพยายามปลดอาวุธทหารฝ่ายปะเทดลาวสองกองพันที่เตรียมเข้าร่วมกับกองทัพแห่งชาติตามข้อตกลง รัฐบาลผุยสามารถจับกุมผู้นำฝ่ายปะเทดลาวที่อยู่นครเวียงจันทน์ในข้อหากระทำการเป็นคอมมิวนิสต์ แต่กองพันที่สองฝ่าวงล้อมทหารฝ่ายรัฐบาลหนีไปยังเวียดนามเหนือ

ส่วนพระเจ้าศรีสว่างวงศ์กำลังป่วยหนักและสิ้นชีวิตลงเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1959 มกุฎราชกุมารเจ้าสว่างวัฒนาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ใหม่สืบแทน มีนามว่า พระเจ้าศรีสว่างวัฒนา

ภาพที่ 3 พระเจ้าศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์องค์สุดท้ายของลาว (ที่มา: https://2img.net/h/4.bp.blogspot.com/-usmhJtotC5g/UuC29KjTKWI/AAAAAAAAcOE/1bG0Y785HG4/s1600/thirdforce_savangvatthana.png)

รัชกาลใหม่ขึ้นเริ่มขึ้นท่ามกลางความแตกแยกภายในรัฐบาลฝ่ายขวา ก่อนวันสิ้นปี ค.ศ.1959 พระเจ้าศรีสว่างวัฒนายอมรับการรัฐประหารของ พล.ต.ภูมี หน่อสวรรค์ (ค.ศ.1920-1985)[12] ซึ่งถือเป็นการรัฐประหารโดยกองทัพครั้งแรกนับแต่ลาวได้เอกราช นำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลขวาจัดที่มีนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ด้วยความรุนแรง

พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาแต่งตั้งกุ อภัย (ค.ศ.1892-1964) ประธานสภาราชมนตรีเป็นนายกฯ ชั่วคราว และ พล.ต.ภูมีเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีป้องกันประเทศ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน ค.ศ.1960[13] กลุ่มฝ่ายขวาสาย พล.ต. ภูมีชนะเลือกตั้ง เจ้าสมสนิท  วงกตรัตนะ (ค.ศ.1913-1975)[14] ขี้นเป็นนายกฯ โดยที่ภูมียังอยู่ในตำแหน่งเดิม

แต่รัฐบาลนี้ก็ต้องเผชิญปัญหาใหญ่เมื่อผู้นำฝ่ายปะเทดลาวแหกคุกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1960[15] และในเดือนสิงหาคม รัฐบาลเจ้าสมสนิทก็ถูกรัฐประหารซ้อนโดย ร.อ.กองแล (ค.ศ.1934-2014) ที่ต้องการให้ลาวเป็นกลาง ในตอนแรก พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาไม่ยอมแต่งตั้งเจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกฯ ตามที่กองแลเสนอ เจ้าสุวรรณภูมาจึงเสนอชื่อ พล.ต.ภูมีเป็นรองนายกฯ ด้วย พระองค์จึงยอมแต่งตั้งรัฐบาลใหม่พร้อมทั้งเลื่อนยศ ร.อ.กองแลเป็นพลตรี[16]

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ภูมีหันไปร่วมมือกับเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ตั้งคณะต่อต้านรัฐประหารที่สะหวันนะเขตโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และไทย คณะต่อต้านฯ ขับไล่รัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาได้สำเร็จในเดือนธันวาคม ค.ศ.1960 กำลังฝ่าย พล.ต.กองแลถอยร่นไปยังเขตทุ่งไหหินเชียงขวางซึ่งเป็นเขตปลดปล่อยฝ่ายปะเทดลาวและจัดตั้งขึ้นเป็น “กองกำลังฝ่ายเป็นกลาง” (Neutralist Armed Forces) จากนั้น พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาแต่งตั้งให้เจ้าบุญอุ้มเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลขวาจัดชุดใหม่

ใน ค.ศ.1961 รัฐบาลสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy, ค.ศ.1917-1963) ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายหันมาสนับสนุนให้ลาวเป็นกลางเพื่อจำกัดพื้นที่ของสงครามเวียดนามและห้ามเวียดนามเหนือใช้ลาวเป็นทางผ่านสู่เวียดนามใต้ เคนเนดีเห็นพ้องกับนิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev, ค.ศ.1894-1971) ผู้นำสหภาพโซเวียตให้ลาวจัดการเจรจาสามฝ่าย หรือที่เรียกว่า “การประชุมสามเจ้าลาว” ประกอบด้วยเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ (ขวา) เจ้าสุวรรณภูมา (กลาง) และเจ้าสุภานุวงศ์ (ซ้าย) นำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมสามฝ่ายในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1962 โดยมีเจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกฯ และมีเจ้าสุภานุวงศ์กับ พล.ต.ภูมี หน่อสวรรค์เป็นรองนายกฯ

ตามมาด้วยการลงนามในความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยความเป็นกลางของลาว (International Agreement on the Neutrality of Laos, 1962) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมปีเดียวกัน สถาบันกษัตริย์ลาวได้แสดงบทบาทเป็นผู้สนับสนุนความเป็นกลาง พระเจ้าศรีสว่างวัฒนานำคณะรัฐบาลผสมเดินทางไปเยือนบรรดาประเทศโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ เพื่อแสดงความเป็นมิตรและขอการสนับสนุนจากทั้งสองขั้วอำนาจในการพิทักษ์ความเป็นกลางของลาว ส่วนเจ้าบุญอุ้มหันไปสนับสนุนเบื้องหลังพรรคการเมืองฝ่ายใต้ที่แข่งขันกับพรรคฝ่ายเวียงจันทน์ที่อยู่ใต้อิทธิพลของตระกูลชนะนิกรและดำเนินธุรกิจในเขตภาคใต้ลาวจนถึง ค.ศ.1975

อย่างไรก็ตาม ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายต่างพยายามช่วงชิงฝ่ายที่เป็นกลางให้มาเป็นพวก จนเกิดความขัดแย้งภายในฝ่ายเป็นกลางและมีการลอบสังหารผู้นำฝ่ายเป็นกลางเอียงขวาและเอียงซ้ายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ค.ศ.1963

เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้กองกำลังฝ่ายเป็นกลางเอียงซ้ายเข้าร่วมกับฝ่ายปะเทดลาวจัดตั้งเป็น “กำลังเป็นกลางรักชาติ” (Patriotic Neutralist Forces)  และขับไล่กองทหารของ พล.ต.กองแลไปจากทุ่งไหหิน รัฐมนตรีฝ่ายปะเทดลาวและฝ่ายเป็นกลางเอียงซ้ายตัดสินใจหนีกลับฐานที่มั่นฝ่ายปะเทดลาว

พล.ต.ภูมี หน่อสวรรค์พยายามทำรัฐประหารถึงสามครั้งในระหว่าง ค.ศ.1964-1965 แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากสหรัฐฯ และเจ้ามหาชีวิตยังคงสนับสนุนเจ้าสุวรรณภูมา พล.ต.ภูมีจึงต้องลี้ภัยมายังไทย และต่อมาใน ค.ศ.1966 พล.ต.กองแลก็ถูกผู้นำทหารฝ่ายขวาในกองทัพบีบให้ต้องลี้ภัยเช่นเดียวกัน

สหรัฐฯ ได้ใช้เงื่อนไขนี้ประกอบกับการเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลลาวในการโน้มน้าวเจ้าสุวรรณภูมาให้สนับสนุนสหรัฐฯ และร่วมมือกับกลุ่มฝ่ายขวาที่เชื่อมโยงกับเจ้าบุญอุ้มและตระกูลชนะนิกรในการปราบปรามฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยในช่วงระหว่าง ค.ศ.1965-1973 ลาวกลับเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้งโดยการแทรกแซงจากทั้งสหรัฐฯ และเวียดนามเหนือในทางลับ (แต่ทั้งสหรัฐฯ และเวียดนามต่างรู้กันดี) สหรัฐฯ ได้ช่วยปรับปรุงกองทัพลาว จัดตั้งทหารกองโจรม้งและทหารรับจ้างไทย พร้อมทั้งส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดในลาวเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของเวียดนามเหนือที่เรียกชื่อว่า “เส้นทางโฮจิมินห์” (Ho Chi Minh Trail) ในขณะที่เวียดนามเหนือก็ช่วยฝ่ายปะเทดลาวสร้างฐานที่มั่นในถ้ำเมืองเวียงไชย แขวงหัวพัน ใกล้กับชายแดนเวียดนามพร้อมทั้งส่งกองทหารและที่ปรึกษามาช่วยฝ่ายปะเทดลาว

ปี ค.ศ.1965 รัฐบาลลาวได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจพิเศษทางการเมืองให้สถาบันกษัตริย์ในกรณีที่ราชอาณาจักรลาวประสบกับภัยคุกคามร้ายแรง รัฐบาลสามารถเสนอให้สภาราชมนตรีและสภาแห่งชาติร่วมกันประชุมเพื่อให้กษัตริย์จัดตั้งรัฐบาลเองหรือแต่งตั้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามอัธยาศัย โดยมีวาระตามที่ทั้งสองสภากำหนดและสามารถขยายเวลาได้เมื่อสภาแห่งชาติให้การรับรอง[17] ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจของกษัตริย์ให้สูงขึ้นและขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าศรีสว่างวัฒนาได้ใช้อำนาจพิเศษนี้หรือไม่ จากบันทึกของทูตสหรัฐฯ ประจำเวียงจันทน์สองฉบับระบุว่า พระเจ้าศรีสว่างวัฒนามีแนวคิดฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมและต่อต้านคอมมิวนิสต์ พระองค์มีอำนาจอยู่เบื้องหลังการเมืองและพยายามแทรกแซงการเมืองอย่างอ้อม ๆ เช่น การตักเตือนรัฐมนตรีและประธานสภาฯ หรือการแสดงความเห็นส่วนตัวต่อนักการทูตเป็นบางครั้งคราว พระองค์พยายามหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ฝ่ายปะเทดลาวโดยตรงเพื่อแสดงความเป็นกลางและภาวะอยู่เหนือการเมืองของตน[18]

รัฐบาลผสมชุดสุดท้ายและการล่มสลายของสถาบันกษัตริย์ลาว

สหรัฐฯ กับเวียดนามสามฝ่าย[19] ตกลงทำสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Accord 1973) ในเดือนมกราคม ค.ศ.1973 ส่งผลให้รัฐบาลเวียงจันทน์กับฝ่ายปะเทดลาวเจรจากันและมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเวียงจันทน์ (Vientiane Peace Treaty 1973) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ปีเดียวกันเพื่อยุติสภาวะสงครามกลางเมืองและตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวแห่งชาติชุดใหม่

แต่คราวนี้ฝ่ายปะเทดลาวมีอำนาจต่อรองมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังลดบทบาทของตนในอินโดจีน ฝ่ายปะเทดลาวเสนอให้ตั้งคณะมนตรีประสมการเมืองแห่งชาติเพื่อเป็นที่ปรึกษารัฐบาลในการปรองดองชาติ อีกทั้งยังมีการกำหนดให้นครเวียงจันทน์และหลวงพระบางเป็นนครเป็นกลางที่มีกองทหารตำรวจฝ่ายเวียงจันทน์กับฝ่ายปะเทดลาวตรวจการณ์ร่วมกัน

ในที่สุด พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาก็ได้แต่งตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวแห่งชาติและคณะมนตรีประสมการเมืองชาติในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.1974 โดยที่เจ้าสุวรรณภูมายังคงเป็นนายกฯ และเจ้าสุภานุวงศ์เป็นประธานคณะมนตรีฯ มีฐานะเสมอกับนายกฯ คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยฝ่ายเวียงจันทน์กับฝ่ายปะเทดลาวฝ่ายละเท่า ๆ กัน โดยแต่ละกระทรวง หากฝ่ายใดเป็นรัฐมนตรีว่าการ อีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ 

เป็นที่น่าสนใจว่า ในช่วงเวลานี้ ฝ่ายปะเทดลาวได้แสดงออกถึงการสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ลาว ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ฝ่ายปะเทดลาวต้องการสร้างความนิยมจากนักการเมืองฝ่ายกลางขวาและประชาชนลาว ด้วยเหตุที่สถาบันกษัตริย์ลาวยังเป็นแกนกลางสำคัญของระบบการเมืองราชอาณาจักรและมีอำนาจบารมีสูงสุด

นอกจากนี้แล้ว เจ้าสุวรรณภูมาก็กำลังล้มป่วยจนต้องไปรักษาตัวที่ฝรั่งเศสในช่วงกลาง ค.ศ.1974 จึงเป็นโอกาสให้ภูมี วงศ์วิจิตร[20] (ค.ศ.1909-1994) รองนายกฯ ที่เป็นฝ่ายปะเทดลาวต้องรักษาการแทน อันเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ฝ่ายปะเทดลาวเริ่มขยายอำนาจทางการเมืองมากขึ้นและเข้าไปมีส่วนในการจัดตั้งขบวนการนักศึกษา 21 องค์กร

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1974 เจ้าสุภานุวงศ์กับเจ้าสุวรรณภูมาร่วมกันออกแถลงการณ์โครงการการเมือง 18 ข้อ เพื่อสร้างความปรองดองชาติและการสร้างประเทศสู่ความรุ่งเรือง โดยแถลงการณ์นี้ยังคงเน้นย้ำถึงความจงรักภักดีของรัฐบาลและคณะมนตรีฯ ต่อสถาบันกษัตริย์ 

สถานการณ์การเมืองในอินโดจีนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงต้น ค.ศ.1975 เขมรแดงโค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรในวันที่ 17 เมษายน จากนั้นเวียดนามเหนือเร่งรุกคืบจนเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ได้สำเร็จในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งอยู่ในช่วงที่ฝ่ายปะเทดลาวเชิญพระเจ้าศรีสว่างวัฒนาและพระมเหสีคำผุยไปเยี่ยมเยียนฐานที่มั่นเวียงไชย

ชัยชนะของเวียดนามเหนือทำให้ฝ่ายปะเทดลาวตัดสินใจยึดอำนาจการปกครองโดยการจัดตั้งขบวนประท้วงของนักศึกษาและข้าราชการชั้นผู้น้อยเพื่อขับไล่นักการเมืองผู้มีอิทธิพลและนายทหารฝ่ายขวาผู้คุมกำลังทหารฝ่ายเวียงจันทน์ในวันที่ 9 พฤษภาคม สมทบกับการใช้กำลังทหารบีบบังคับ ส่งผลให้กลุ่มฝ่ายขวาในรัฐบาลเวียงจันทน์รวมถึงเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์และตระกูลชนะนิกรต้องเดินทางออกนอกประเทศและสูญสิ้นอำนาจไปอย่างสิ้นเชิง

ฝ่ายปะเทดลาวทยอยส่งทหารและรถถังเข้ายึดหัวเมืองต่าง ๆ โดยปราศจากการต่อต้าน เนื่องจากรักษาการรัฐมนตรีป้องกันประเทศซึ่งเป็นฝ่ายปะเทดลาวสั่งให้กองทัพแห่งชาติห้ามเคลื่อนย้ายกำลังและให้ร่วมมือกับฝ่ายปะเทดลาว จากนั้นพวกเขาได้ส่งนายทหารตำรวจฝ่ายเวียงจันทน์จำนวนมากไปเข้าร่วม “การสัมมนา” เพื่อตัดทอนกำลังต่อต้าน ฝ่ายปะเทดลาวใช้เวลายึดอำนาจสำเร็จทุกแขวงภายในหนึ่งเดือน 

ภาพที่ 4 ข่าวในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม 2518 (ที่มา: หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

เมื่ออำนาจรัฐตกเป็นของฝ่ายปะเทดลาวในทางปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของสถาบันกษัตริย์ลาวภายใต้การปกครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์

ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ.1975 พระเจ้าศรีสว่างวัฒนายังคงเป็นประมุขของประเทศและปฏิบัติกิจตามปกติ มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่อาจจะให้พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาเป็นกษัตริย์ต่อไป ซึ่งตรงกับคำยืนยันของเจ้าสุภานุวงศ์ที่มีต่อเจ้าสุวรรณภูมาและรัฐมนตรีฝ่ายเวียงจันทน์ และทางราชสำนักวางแผนที่จะจัดพิธีบรมราชาภิเษกในช่วงต้น ค.ศ.1976 ซึ่งยังไม่ได้จัดตั้งแต่ที่พระองค์ครองราชย์นับแต่ ค.ศ.1959[21]

แต่สัญญาณของการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1975 เจ้าสุภานุวงศ์เชิญรัฐบาลและคณะมนตรีฯ ไปประชุมพิเศษที่เมืองเวียงไชย จากนั้น ขบวนการนักศึกษา 21 องค์กรจัดชุมนุมในเวียงจันทน์เพื่อเรียกร้องให้ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์

ในที่สุด วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1975 เจ้าสุวรรณภูมาพร้อมกับเจ้าสุภานุวงศ์ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าศรีสว่างวัฒนาเป็นการด่วนเพื่อขอลาออกจากตำแหน่งและขอให้พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาสละราชสมบัติ พระเจ้าศรีสว่างวัฒนายอมสละราชบัลลังก์ตามคำขอ แต่จากบันทึกของเจ้ามังคลา สุวรรณภูมา ลูกชายของเจ้าสุวรรณภูมาระบุว่า พระเจ้าศรีสว่างวัฒนากับเจ้าสุพันธรังสีน้องชายและราชเลขาขอร่างสาส์นสละราชบัลลังก์เองแทนที่จะลงนามในร่างที่เจ้าสุภานุวงศ์เสนอ อีกทั้งปฏิเสธคำเชิญของเจ้าสุภานุวงศ์ที่จะให้พระองค์ไปอ่านคำประกาศสละราชย์ที่เวียงจันทน์ แต่ให้มกุฎราชกุมารเจ้าวงศ์สว่างเป็นตัวแทนพระองค์[22]

การที่พระเจ้าศรีสว่างวัฒนายอมสละราชสมบัติได้โดยง่ายก็เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันแล้วว่าฝ่ายปะเทดลาวควบคุมอำนาจในการปกครองได้เรียบร้อยแล้ว และบรรดาผู้นำฝ่ายขวาคนสำคัญหลบหนีไปหมด เหลือเพียงเจ้าสุวรรณภูมาที่เป็นผู้มีอำนาจที่ให้การสนับสนุนพระองค์คนสุดท้าย ก็ตัดสินใจเห็นชอบกับข้อเสนอของเจ้าสุภานุวงศ์

ภาพที่ 5 สำเนาสาส์นสละราชสมบัติของพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา พร้อมคำแปลภาษาฝรั่งเศส (ที่มา: https://3.bp.blogspot.com/-OCgljsCyS9Q/Vr3sNryWzeI/AAAAAAAAA9I/ovYAaGqWaWI/s1600/image007.jpg?fbclid=IwAR1WGXu63w2499AwL92x_nrsTlJ6Fpr5gDvrUrDJh51_xeXn6K9JUQgNdC8)

เนื้อความในสาส์นระบุว่า

“ตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองในประเทศลาว การอยู่ร่วมกันระหว่างตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ ในรูประบอบราชาธิปไตยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและอำนาจอธิปไตยประชาชนดำเนินไปมิได้และสามารถขัดขวางการดำเนินทางของประเทศไปสู่ความก้าวหน้า

เพื่อทำให้การดำเนินทางของประเทศชาติไปสู่ความก้าวหน้าได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อทำให้เอกภาพของชาติเข้มแข็งขึ้น ในวันนี้ ด้วยความรู้สึกตัวอย่างลึกซึ้งและด้วยความสง่าผ่าเผย ข้าพเจ้ายอมสละบัลลังก์ กล่าวไปแล้วก็คือ ข้าพเจ้าสละราชสมบัติอย่างบริสุทธิ์ใจและอย่างสิ้นเชิง ปราศจากความนึกคิดปิดบังไว้ในใจ และด้วยความเลื่อมใสทุกประการ

ข้าพเจ้ามอบให้ประชาชนพลเมืองลาว โชคชะตาของประเทศชาติบ้านเมืองลาว อีกครั้งหนึ่ง อันนี้ได้ยืนยันอธิปไตยประชาชนทั่วเขตแดนของประเทศบ้านเมืองลาว

ในเมื่อกลับกลายมาเป็นพลเมืองสามัญลาวแล้ว ข้าพเจ้าประสิทธิ์ประสาทสิทธิพรอันเต็มอกเต็มใจ เพื่อเอกภาพ เอกราช ความอยู่ดีกินดีและความมั่งคั่งสมบูรณ์ของปวงประชาชนลาวทั้งชาติที่แสนรักยิ่ง

ทำที่ หลวงพระบาง วันที่ 29 พฤศจิกายน 1975
มื้อแรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีเถาะ พ.ศ. 2518
(ลงนาม) ศรีสว่างวัฒนา

วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1975 ฝ่ายปะเทดลาวเปิดประชุมสภาผู้แทนประชาชนทั่วประเทศที่โรงยิมเก่าอเมริกันในเวียงจันทน์[23] เจ้าวงศ์สว่างขึ้นอ่านสาส์นสละราชสมบัติของบิดาตามด้วยเจ้าสุวรรณภูมาและเจ้าสุภานุวงศ์ก็ได้อ่านสาส์นลาออกจากตำแหน่ง จากนั้น ไกรสร พรหมวิหาร (ค.ศ.1920-1992) รองหัวหน้าฝ่ายปะเทดลาวและเลขาธิการใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ขึ้นอ่านรายงานการเมืองเรียกร้องให้ที่ประชุมล้มล้างระบอบราชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิงและสถาปนาสาธารณรัฐ

ในวันถัดมา (2 ธันวาคม ค.ศ.1975) เจ้าสุภานุวงศ์อ่านคำประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อมารัฐบาล สปป.ลาว กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันชาติ

ที่ประชุมได้แต่งตั้งเจ้าสุภานุวงศ์เป็นประธานประเทศและประธานสภาประชาชนสูงสุด ไกรสร พรหมวิหารเป็นนายกรัฐมนตรี เจ้าสว่างวัฒนาเป็นที่ปรึกษาสูงสุดของประธานสุภานุวงศ์ เจ้าสุวรรณภูมาเป็นที่ปรึกษารัฐบาล และเจ้าวงศ์สว่างเป็นสมาชิกสภาประชาชนสูงสุด ที่ประชุมยังมีมติเปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ และยกเลิกการใช้ราชาศัพท์เว้นแต่ในวรรณคดี สถาบันกษัตริย์ลาวจึงสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์

ภายหลังเปลี่ยนระบอบการปกครอง ครอบครัวของเจ้าสว่างวัฒนาที่ยังเหลือย้ายออกจากพระราชวังมาอาศัยอยู่บ้านหลังเล็ก ๆ อย่างสันโดษ แต่ระบอบการปกครองใหม่ยังต้องเผชิญการเคลื่อนไหวของกองกำลังม้งและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่มีแนวคิดกษัตริย์นิยม ครอบครัวของอดีตกษัตริย์จึงเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1977 รัฐบาล สปป.ลาว จึงได้คุมตัวเจ้าสว่างวัฒนา มเหสีคำผุย และเจ้าวงศ์สว่าง ไปคุมขังในค่ายสัมมนาในแขวงหัวพันโดยไม่ได้กลับออกมาอีกเลย ไกรสร พรหมวิหาร นายกฯ สปป.ลาว ให้สัมภาษณ์สั้น ๆ เมื่อ ค.ศ.1989 ว่า เจ้าสว่างวัฒนาเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียเมื่อ ค.ศ.1984[24] แต่จากบันทึกของคำพัน ธรรมขันตี อดีตนักโทษค่ายสัมมนาระบุว่า ทั้งสามถูกผู้คุมทรมานโดยการใช้แรงงานหนัก กลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยาม และให้อาหารไม่เพียงพอ จนในที่สุด เจ้าวงศ์สว่างก็สิ้นชีวิตในระหว่าง ค.ศ.1978-1979 ตามด้วยเจ้าศรีสว่างวัฒนาในช่วง ค.ศ.1978-1980 ส่วนมเหสีคำผุยสิ้นชีวิตประมาณ ค.ศ.1982 รายงานเกี่ยวกับวันเสียชีวิตของทั้งสามคนนั้นไม่แน่นอน และไม่มีใครรู้อย่างแท้จริงว่าผู้คุมมีการจัดการศพของพวกเขาอย่างไร

ภาพที่ 6 เจ้าสว่างวัฒนาและมเหสีคำผุยในค่ายสัมมนาของรัฐบาล สปป.ลาว (ที่มา: http://farm3.staticflickr.com/2589/3691192950_2af49c311c.jpg)

สรุป

การเปลี่ยนผ่านจากระบอบกษัตริย์สู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของลาวเป็นการเปลี่ยนผ่านที่รุนแรงน้อยกว่าในกัมพูชาและเวียดนาม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวพยายามใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมเพื่อให้การยึดอำนาจเป็นไปโดยไม่มีการนองเลือด จนนำมาสู่การโค่นล้มตัวสถาบันเองจากความยินยอมของกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ของครอบครัวกษัตริย์กลับกลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ลดน้อยลง พระราชวงศ์คนสำคัญโดยเฉพาะเจ้ามหาชีวิต พระชายา และมกุฎราชกุมารจึงถูกรัฐบาล สปป.ลาวส่งไปใช้แรงงานและถูกทำให้สูญหาย

จุดจบของทั้งสามนั้นเป็นเรื่องที่โหดร้ายและน่าหดหู่ แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางการเมืองลาวที่ทำให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมลาวไม่สามารถฟื้นคืนชีพได้อีกเลย แม้ว่าเจ้าสุริวงศ์สว่าง ลูกชายของเจ้าวงศ์สว่างจะหลบหนีออกมาได้ภายหลังและตั้งตนเป็นรัชทายาทผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ลาว แต่ก็ทำได้เพียงเป็นผู้นำในกิจกรรมทางสังคมของชาวลาวภายนอกประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้แล้ว ผลจากการเปลี่ยนผ่านในลาวก็อาจเป็นบทเรียนอันเจ็บปวดที่กระทบต่อความรู้สึกของสถาบันกษัตริย์ไทยในขณะนั้นอย่างยิ่ง สะท้อนจากดำรัสของในหลวงภูมิพลในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1975 ที่แสดงให้เห็นถึงความตระหนกตกใจของสถาบันกษัตริย์ไทยที่เห็นว่าภัยคอมมิวนิสต์คุกคามเข้าหาตนมากขึ้นทุกวัน นำมาสู่การจัดตั้งกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์พร้อมกับการเผยแพร่ดำรัสดังกล่าวและเพลง “เราสู้” จนเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ขบวนการนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1976

ตารางเวลาเหตุการณ์สำคัญ


[1] ราชวงศ์พวนและเมืองสิงห์ยังคงอยู่และมีบทบาททางการเมืองในยุคราชอาณาจักรลาว แต่ก็มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าหลวงพระบางและจำปาศักดิ์

[2] Protectorate คือสถานการณ์เป็นรัฐกึ่งเอกราชที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของประเทศอื่นที่มีกำลังมากกว่า การปกครองของฝรั่งเศสในลาวคล้ายคลึงกับในอันนามและกัมพูชาตรงที่ยังให้อำนาจกษัตริย์ปกครองในขอบเขตอาณาจักรเดิม แต่กษัตริย์ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของฝรั่งเศส ในทางกลับกัน ฝรั่งเศสมีอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการอาณานิคมได้โดยไม่ต้องปรึกษากษัตริย์

[3] Grant Evans, The Last Century of Lao Royalty: A Documentary History, (Chiang Mai: Silkworm Books), 21.

[4] ibid., 248.

[5] เนื่องจากรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสได้ตั้งเมืองเวียงจันทน์เป็นศูนย์กลางการปกครองในลาว รัฐบาลเอกราชจึงเลือกเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงต่อไป

[6] รัฐบาลราชอาณาจักรลาวถือเอาวันที่ 19 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันชาติ

[7] เจ้าเพชรราชแต่งงานใหม่กับหม่อมอภิณพร ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นอาของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย

[8] อู่คำ พมวงสา, ความเป็นมาของลาว, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: แสงศิลป์, 2509), 221.

[9] สภาราชมนตรีทำหน้าที่เป็นสภาสูงและคณะที่ปรึกษากษัตริย์ ดูใน เรื่องเดียวกัน, 388-390.

[10] สภาแห่งชาติ คือสภาล่างที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และสมาชิกสภาจะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ มีหน้าที่ออกและแก้ไขกฎหมายสำคัญของประเทศ รับรองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล

[11] เรื่องเดียวกัน, 366-371.

[12] พล.ต.ภูมี หน่อสวรรค์มีศักดิ์เป็นหลานน้าของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทยระหว่าง ค.ศ.1959-1963

[13] พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาไม่ได้พอใจที่จะแต่งตั้งกุ อภัยเป็นนายกฯ แต่กุเป็นนักการเมืองผู้มากบารมีและมีความใกล้ชิดกับเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์และ พล.ต.ภูมี หน่อสวรรค์ นอกจากนี้แล้ว การเลือกตั้งนี้เป็นไปตามวาระปกติ ไม่เกี่ยวกับการรัฐประหาร

[14] เป็นหลานของเจ้าเพชรราช เจ้าสุวรรณภูมา และเจ้าสุภานุวงศ์ แต่อยู่ในกลุ่มสนับสนุน พล.ต.ภูมี

[15] สุพะไซ สุพานุวง และ สีซะนะ สีสาน, “ชีวิตส่วนตัวเจ้าสุภานุวงศ์ ผู้นำปฏิวัติแห่งลาว และความทรงจำ 300 วันในคุกโพนเค็งสู่การหลบหนี,” ศิลปวัฒนธรรม, 17 กันยายน 2563, สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2564, https://www.silpa-mag.com/history/article_44092.

[16] ว่างเยอ, ปวัตสาตสงคามสไมปี 1945-1975 และซีวิดกายเป็นอพยพของคนลาว, (Mt. Gilead: ม.ป.พ., 2012), 219 สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564, http://www.unforgettable-laos.com/wp-content/uploads/2015/06/VangGeu_Lao_%C3%A0-jour-13_06_2015_BD.pdf.

[17] อู่คำ พมวงสา, ความเป็นมาของลาว, 373-374.

[18] Evans, The Last Century of Lao Royalty, 207-211; 217-221.         

[19] ประกอบด้วย เวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ และขบวนการเวียดกง (Viet Cong)

[20] เคยเป็นข้าราชการอาณานิคม ได้รับตำแหน่งสูงสุดที่เจ้าแขวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) หัวพัน ก่อนที่จะเข้าร่วมกับลาวอิสระและฝ่ายปะเทดลาวตามลำดับ ได้เป็นกรมการเมืองพรรคประชาชนปฏิวัติลาวระหว่าง ค.ศ.1972-1991 และเป็นรักษาการแทนประธานประเทศระหว่าง ค.ศ.1986-1991

[21] พระเจ้าศรีสว่างวัฒนามีความประสงค์ที่จะจัดพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อลาวสามารถยุติสงครามภายในเรียบร้อยแล้ว

[22]เจ้ามังคลา สุวรรณภูมา, เบื้องหลังเหตุการณ์ล้มล้างราชวงศ์ลาว: จากความทรงจำของเจ้ามังคลา สุวรรณภูมา, แปลโดย อิสรา [นามแฝง], (กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์, 2562), 220.

[23]  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว

[24] Evans, The Last Century of Lao Royalty, 416.

One thought on “สถาบันกษัตริย์ลาวในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์”

Leave a comment